เปิดโผหุ้นเด่นราคาพุ่งสูงสุด 5 อันดับแรก “SET100” ฝ่าวิกฤตโควิด

หุ้นให้ผลตอบแมนสูง-ต่ำ

เปิดโผ 5 หุ้น SET100 ผลตอบแทนสูงฝ่ามรสุมโควิด-19 “บล.เมย์แบงก์ฯ”เผย “ศรีตรังแอโกรฯ” เด่นสุดราคาพุ่ง 172.5% หลังส่งบริษัทลูกเข้าเทรด ขณะที่หุ้นแบงก์ “KBANK-TMB-KTB-SCB” เจอพิษไวรัสติดลบระนาว “บล.ยูโอบีฯ” เตือนระวังหุ้นขนาด “กลาง-เล็ก” ทนวิกฤตไม่ได้นานเท่าหุ้นใหญ่แม้ช่วงนี้ผลตอบแทนดีกว่า

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึง ณ 3 ก.ย. 2563 พบว่าผลตอบแทนของหุ้นในกลุ่มดัชนี SET100 ที่นักลงทุนนิยมซื้อขาย มีหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกสูงสุด 5 อันดับแรก เป็นกลุ่มที่ธุรกิจมีการเติบโต รวมถึงได้รับประโยชน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ดูตาราง) ได้แก่ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ที่ราคาหุ้นปรับขึ้น 172.5% จากการนำบริษัทลูก บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) ซึ่ง เป็นผู้ประกอบธุรกิจถุงมือยางที่ได้ประโยชน์จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 เข้าระดมทุน

ถัดมา บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย(RBF) ปรับขึ้น 129.5% จากธุรกิจที่เติบโตตามความต้องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น โดย RBF มีลูกค้ารายใหญ่ที่บริษัทรับผลิตสารปรุงแต่งอาหาร เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) และ บมจ.โอสถสภา (OSP)

ขณะที่ บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) ปรับขึ้น 87.9% เนื่องจากกำไรเติบโตได้ดีจากการที่บริษัทรุกให้บริการนายหน้าขายประกันผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น

ต่อมา บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ปรับขึ้น 67.5% จากกำไรสุทธิที่ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดต่อเนื่อง รวมถึงแนวโน้มกำไรช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือมีโอกาสได้อานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สดใสนัก ส่งผลให้หนี้ในระบบปรับตัวสูงขึ้น ส่วน บมจ.ดูโฮม (DOHOME) ราคาหุ้นปรับขึ้น 63.9% จากภาพรวมกำไรที่ยังสามารถเติบโตได้ดี รวมถึงยอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG) ปรับขึ้นจากความต้องการซื้อของตกแต่งบ้านที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19

อย่างไรก็ดี ในทางกลับกันพบว่าหุ้นที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุด 5 อันดับ เป็นกลุ่มที่กำไรสุทธิค่อนข้างแย่ ได้แก่ บมจ.บ้านปู (BANPU) ราคาปรับลดลง 51.7% จากแรงกดดันราคาถ่านหินโลกที่ลดลงอย่างรุนแรง รวมถึงกำไรไตรมาส 2 ออกมาไม่ดีนัก

ถัดมาเป็นหุ้นในกลุ่มธนาคารและกลุ่มการเงิน ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) และธนาคารทหารไทย (TMB) ราคาหุ้นปรับลดลง 45.5%, 44.8% และ 44.6% ตามลำดับ โดย KBANK และ TMB มีพอร์ตสินเชื่อที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งทั้งสองเซ็กเตอร์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและโควิด-19 ขณะที่ AEONTS กำไรสุทธิออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงภาพรวมของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังคงปรับขึ้น

ส่วนที่ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ปรับลดลง 44% เนื่องจากกำไรสุทธิค่อนข้างแย่ รวมถึงภาพรวมธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (broadband business) เผชิญการแข่งขันที่สูง ส่งผลให้โอกาสเห็นการเติบโตเกิดขึ้นยาก

ส่วนหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม SET50 พบว่าราคาหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวกเพียง 4 รายเท่านั้น ได้แก่ CBG ปรับขึ้น 47.6% บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) 30% CPF 15.5% และ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) 4.4%

ส่วนหุ้นที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุด 5 อันดับสุดท้ายส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธนาคาร ได้แก่ KBANK ปรับลดลง 45.5% TMB 44.6% ธนาคารกรุงไทย (KTB) 41.8% และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) 41.4% นอกจากนี้ ก็มี บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ที่ปรับลดลง 43.7%

“จากภาพรวมผลตอบแทนที่เห็นสะท้อนว่านักลงทุนในตลาดเล่นหุ้นขนาดกลางมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ หากเราพิจารณาผลตอบแทนของหุ้น SET50 ที่เป็นหุ้นใหญ่พบว่า CBG, GLOBAL และ CPF มีปัจจัยบวกที่หนุนธุรกิจจริง ๆ แต่ในส่วนของ TU ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นเป็นผลจากฐานปีที่แล้วที่ค่อนข้างต่ำ”

ส่วนการลงทุนในระยะถัดไป นายวิจิตรกล่าวว่า หุ้นที่อยู่ในกลุ่ม SET100 มีความน่าสนใจมากกว่าหุ้นในกลุ่ม SET50 จากแนวโน้มธุรกิจที่ยังเติบโตต่อได้ในระยะข้างหน้า แต่เนื่องจากราคาหุ้นปรับขึ้นค่อนข้างสูงจึงแนะนำ “ย่อซื้อสะสม” เมื่อราคาหุ้นปรับลดลง

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้ว่าราคาหุ้นขนาดกลางถึงเล็กจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ แต่ต้องยอมรับว่าความทนทานต่อวิกฤตที่ยาวนานอาจไม่สามารถเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ผลดีที่ได้จากช่วงโควิด-19 อาจไม่ได้ยั่งยืนในทุกธุรกิจ

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. กล่าวว่า เดือน ส.ค. ตลาดหุ้นไทยเผชิญสารพัดปัจจัยเสี่ยง ทั้งสงครามการค้าที่ปะทุ ความกังวลไวรัสโควิด-19 ในประเทศ รวมถึงการชุมนุมประท้วง อย่างไรก็ดี ผลตอบแทน SET Index ปรับลดลงเพียง 1.3% และ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันปรับลดลงราว 17% ถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญ รวมถึงเป็นการปรับลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ลดลงราว 19.9%