สมาคมนักวิเคราะห์ฯ คาดการณ์กำไร บจ.ปีนี้ -37% กังวลการเมืองในประเทศ

ภาพประกอบข่าวหุ้นร่วง

สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เผยผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ในตลาดทุน พบผู้ตอบแบบสอบถาม 100% กังวลปัจจัยการเมืองในประเทศกดดันตลาดหุ้นไตรมาส 4 มากที่สุด คาดกำไร บจ.ปี’63 เสี่ยงติดลบ 37% ประเมินช่วงที่เหลือของปีดัชนีปรับขึ้นไม่ถึง 1,350 จุด

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุน และคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ในไตรมาส 4 ของปี 2563 โดยครั้งนี้มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 22 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 16 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 5 บริษัท และบริษัทโกลด์ ฟิวส์เจอร์ส 1 บริษัท ซึ่งได้ปรับสมมติฐานหลักเป็นปัจจุบันแล้ว ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

  • สมมติฐานด้าน GDP ในปีนี้ มีค่าเฉลี่ยการขยายตัวที่ -7.81%
  • ส่วนสมมติฐาน GDP ปี 64 นั้นผู้ตอบทุกรายมองว่าเป็นบวกเฉลี่ยอยู่ที่ 3.91%

ทางด้านราคาน้ำมัน ผู้ตอบแบบสอบถามได้ปรับใช้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของปี 2563 ที่ 40.42 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยแยกตามกลุ่ม มีผู้ตอบดังนี้

  • 35 – 39.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 10
  • 40 – 44.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 38
  • 45 – 49.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 52

สำหรับ ปัจจัยที่มีผลบวก ต่อดัชนีราคาหุ้นไทยในครึ่งหลังของปี 2563 ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก ผู้ตอบแบบสำรวจ 68.18% เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลบวก รองลงมาผู้ตอบ 54.55% คาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา (FED)  ส่วนปัจจัยอื่นๆ ไม่มีปัจจัยใดที่มีผู้ตอบถึง 50% ที่ระบุว่าเป็นบวก

ภาพประกอบข่าวผลสำรวจสมาคมนักวิเคราะห์ 1

ส่วนปัจจัยที่จะ ส่งผลในด้านลบ ต่อตลาดทุนไทยในไตรมาส 4 ของปี 2563  ได้แก่ ปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ 100% รองลงมา คือปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ เป็นปัจจัยที่มีเสียงโหวต 70% ขึ้นไป รองลงมาสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจภายในประเทศ และ Fund Flow จากต่างประเทศสู่ตลาดทุนไทย 68.18% ตามลำดับ

ภาพประกอบข่าวผลสำรวจสมาคมนักวิเคราะห์ 2

เป็นที่น่าสังเกตุว่าทิศทางดอกเบี้ยในประเทศนั้นผู้โหวตส่วนใหญ่มองว่าไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนในไตรมาส 4 โดยมีผู้โหวตเพียง 40.91% ที่มองว่าเป็นปัจจัยบวก แต่ไม่มีผู้ตอบที่มองแย้งว่าจะเป็นผลลบ

สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้สอบถามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับ ข้อเสนอแนะว่าภาครัฐควรเร่ง นโยบายเรื่องใดที่มีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เสนอให้ภาครัฐใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนให้มีกำลังซื้อ จำนวนร้อยละ 60 ของผู้ตอบ ได้แก่ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ช่วยเหลือผู้ว่างงาน และกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการช้อปช่วยชาติ ฯลฯ ทั้งนี้มีผู้ตอบร้อยละ 35 ที่เสนอให้เร่งโครงการลงทุนภาครัฐ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน นอกเหนือจากข้อเสนอดังกล่าว ด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ มีผู้ตอบร้อยละ 25 ข้อเสนอได้แก่ มาตรการลดภาษีเร่งการลงทุนภาคเอกชนหรือการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ด้านการปรับ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. นักวิเคราะห์คาดการณ์คงที่ ในไตรมาส 4 ของปี 2563 ร้อยละ 81 ของผู้ตอบ และคาดว่าปรับลด 0.25%  ร้อยละ 19 ตามลำดับ

คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดเฉลี่ยที่ 57.36 บาท ลดจากการสำรวจครั้งก่อน 65.44 โดย แยกตามกลุ่มมีผู้ตอบดังนี้

  • 50 – 54.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 53
  • 55 – 59.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 82
  • 60 – 64.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 76
  • 65 – 69.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 88

EPS Growth ของงบปี 2563 คาดว่า EPS Growth เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -37 เมื่อแยกตามช่วงระดับการเติบโต จะอยู่ระหว่างร้อยละ

  • -20  ถึง  -29.99   มีผู้ตอบร้อยละ 11
  • -30 ถึง -39.99  มีผู้ตอบร้อยละ 67
  • -40 ถึง -49.99  มีผู้ตอบร้อยละ 11
  • -50 ถึง -59.99  มีผู้ตอบร้อยละ 11

สำหรับ จุดสูงสุด ของ SET Index ในช่วง ก.ค. ถึงสิ้นปี 2563 เฉลี่ยที่ระดับ 1,347 จุด ทั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 70.59 ที่คาดว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุด 1,301 – 1,400 จุด  และมีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 23.53 ที่คาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในช่วง 1,201 – 1,300 ตามลำดับ ขณะที่คาดการณ์จุดต่ำสุดของดัชนีราคาหุ้นไทย  (SET Index) ระหว่างปีนับจากนี้มีค่าเฉลี่ยจุดต่ำสุด ที่ 1,198 จุด

ทั้งนี้นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 2563 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,300 จุด ซึ่งน้อยกว่าผลสำรวจของไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 1,383 จุด

ด้านการจัดพอร์ตการลงทุน ความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับ การจัดพอร์ตการลงทุน แนะนำ ให้มีเงินสดร้อยละ20 ของพอร์ต และมีกองทุนตราสารหนี้ ร้อยละ 18 ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนไว้ในหุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย ร้อยละ 21  รองลงมา ลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ ร้อยละ 20  ตามมาด้วย การแบ่งเงินลงทุนไว้ในทองคำ ร้อยละ 10  และ กองทุนอสังหา/REIT ร้อยละ 10 ตามลำดับ

ภาพประกอบข่าวผลสำรวจสมาคมนักวิเคราะห์ 3

รายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำโดยมีจำนวนสำนักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 4 สำนักขึ้นไป มีดังนี้  (เรียงชื่อตามอักษรย่อ)

  1. ADVANC โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการใช้สมาร์ทโฟนมีสูงและต่อเนื่องใน New Normal
  2. BDMS โดยคาดว่าจำนวนรายได้จากผู้ป่วยชาวไทยจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเนื่องจากปัจจัยฤดูกาล ประกอบกับการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ภายในประเทศไทยทำได้ดีจะเพิ่มความเชื่อมั่นในการเข้ารับบริการรักษาในพยาบาลภายเอกชนในประเทศเพิ่มขึ้น หากมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันที่ได้ผลดีและมีการกระจายออกสู่ในวงกว้างได้ครอบคลุม คนไข้ชาวต่างชาติจะเริ่มเดินทางกลับเข้ามารับการรักษาตัวในประเทศไทยได้
  3. CPALL โดยคาดว่าจะกลับไปเติบโตได้หลังโควิด รวมทั้งการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้ง ลาว และ กัมพูชา
  4. HANA  โดยมองว่าปัจจัยหนุน ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน 2.การกลับมาผลิตโรงงานในประเทศจีนของ HANA หลังรัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์  3.ค่าเงินบาทเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า จะส่งผลดียอดคำสั่งซื้อของลูกค้า

สำหรับหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรมและสายการบิน