จ่อตั้ง “Ware Housing” ช่วยแบงก์บริหารหนี้ ธปท.แก้เกณฑ์ซอฟต์โลนอุ้มลูกหนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธปท.เตรียมออกแพคเกจช่วยลูกหนี้-แบงก์ หลังพักหนี้จบ ชูแนวคิด “Ware Housing” เครื่องมือบริหารหนี้-สร้างแรงจูงใจปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมแก้เกณฑ์ซอฟต์โลนให้เข้าถึงง่าย-ตรงจุด เปิดข้อมูลธนาคารพบลูกหนี้ 60% กลับมาชำระหนี้ได้ ลั่นเงินกองทุนธนาคารยังแกร่ง แม้ลดลงหลังมีโควิด-19

วันที่ 14 ตุลาคม 2563 นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้จัดการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในเร็วๆ ธปท.จะมีแนวทางมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะข้างหน้าภายหลังจากมาตรการพักชำระหนี้ครบกำหนดในปลายเดือนตุลาคมนี้

ซึ่งแนวทางมาตรการจะออกมาในลักษณะแพคเกจที่จะดำเนินต่อไป ทั้งในเรื่องของการพักชำระหนี้ และการแก้ไขหลักเกณฑ์ของวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อให้สมารถส่งต่อสภาพคล่องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้มีประสิทธิผลและตรงจุดมากขึ้น

อย่างไรก็ดี จากการสอบถามสถาบันการเงิน พบว่า ลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วยเหลือส่วนใหญ่ประมาณเกินครึ่งหรือเกือบ 60% สามารถกลับมาชำระได้ตามปกติ ส่วนที่เหลืออีก 40% ยังจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในการยยืดหนี้หรือรับการปรับโครงสร้างหนี้ต่อ ซึ่งลูกหนี้ในจำนวนดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากลูกหนี้รายย่อยมีมาตรการให้ความช่วยเหลือออกมาค่อนข้างเยอะแล้ว

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือในภาคสถาบันการเงินที่จะดำเนินการต่อนั้น ธปท.มีแนวคิดเรื่องของการบริหารสินทรัพย์ (AMC) โดยจะแนวคิดจะใช้ “Ware Housing” ที่จะออกมา แต่อาจจะต้องขอรายละเอียดและความชัดเจนอีกครั้งภายในเร็วๆ นี้ แต่จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยประคองเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน โดยการแก้ปัญหาให้ภาคสถาบันการเงิน และการใช้แรงจูงใจ (Incentive) ในการเร่งปรับโครงสร้างหนี้

“ตอนนี้ AMC ของแบงก์เองก็มีอยู่ แต่เรากำลังดูอยู่ว่าจะปรับอะไรตรงไหน และรอดูมาตรการช่วยเหลือที่จะปรับเป็นแพคเกจนั้นจะมีผลมากน้อยแค่ไหน เพราะเราจะต้องบาลานซ์ระหว่างลูกหนี้และแบงก์ให้ดี และดีไซส์โปรแกรมให้เหมาะสม โดย Ware Housing เป็นแนวคิด ซึ่งจะมีแถลงอีกครั้งเร็วๆ นี้”

ขณะที่แนวทางการรักษาเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) นั้น จะเห็นว่าเงินกองทุนของสถาบันการเงินก่อนจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในระดับสูง และหลังมีโควิด-19 เงินกองทุนลดลงมา แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวล ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งตอนนี้สถาบันการเงินต่างๆ ก็ได้เตรียมเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เพียงพอ

ซึ่งธปท.ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องอยู่ในระดับสูงเทียบเท่าก่อนที่จะมีโควิด-19 ดังนั้น เรื่องการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลนั้น อาจจะต้องรอดูรายงานการักษาระดับเงินกองทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องของเงินปันผลจะเป็นประเด็นที่ตามมา