แบงก์รัฐ พักหนี้ช่วยลูกค้าต่อ นานสูงสุด 2 ปี

รมว.คลัง ชี้แบงก์รัฐออกมาตรการพักหนี้อุ้มลูกค้าต่อหลจบมาตรการพักหนี้ ธปท. ยันแบงก์แข็งแกร่ง โชว์ 3 แบงก์ ตั้งสำรองหนี้สูงกว่าเกณฑ์ ด้านออมสิน ชี้ช่วยลูกค้าต่ออีก 1.7 ล้านล้านบาท คาดลูกค้ามีความเสี่ยงผิดชำระหนี้ 10% ของพอร์ต ฝั่งธอส. ยืดเวลาพักหนี้สูงสุดถึงมี.ค.64 เล็งปรับโครงสร้างหนี้-ลดดอกเบี้ย ช่วยลูกค้าเปราะบาง ขณะที่ธ.ก.ส. พร้อมขยายเวลาจ่ายหนี้ออกไปอีก 1 ปี ส่วนธพว. พักหนี้เงินต้นออกไปอีก 6 เดือน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ลูกหนี้ในระบบที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ตามพ.ร.ก.ซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งสิ้นสุดมาตรการในวันนี้ (22 ต.ค.63) มีกว่า 12.12 ล้านราย มูลหนี้ทั้งสิ้น 6.9 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นลูกหนี้จากสถาบันการเงินของรัฐ 6.57 ล้านราย มูลหนี้ทั้งสิ้น 2.89 ล้านล้านบาท ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว เป็นลูกหนี้ที่อยู่ในสถาบันการเงินของรัฐ 4 แห่งมากที่สุด ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดังนั้น จึงได้มีมาตรการพักชำระหนี้ออกมาช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง

สำหรับธนาคารออมสิน ได้ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอีกถึงสิ้นเดือนธ.ค.63 สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท จำนวน 3 ล้านราย ขณะที่ธ.ก.ส. มีการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้เพิ่มอีก 1 ปี หลังสิ้นสุดมาตรการ ด้านธอส. ให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยถึงม.ค.64 ส่วนธพว. ขยายเวลาพักชำระเงินต้นออกไปอีก 6 เดือน สิ้นสุดมี.ค.64

พร้อมกันนี้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ก็ได้ขยายเวลาการพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี ตามประเภทธุรกิจที่มีความเสี่ยง และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ก็ได้มีการผ่อนปรนช่วยเหลือลูกหนี้รายบุคคล ตั้งแต่ต.ค.63-มิ.ย.64 นอกจากนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็ได้มีการพักชำระค่างวด 6 เดือน เอสเอ็มอีสามารถยื่นคำร้องได้ถึงเดือน ธ.ค.63

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าทุกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีความแข็งแกร่ง เห็นได้จากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่นธนาคารออมสิน มีการตั้งรองประมาณ 1.2 เท่าของหนี้เสีย ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ตั้งสำรองไว้ที่ 1.6 เท่า และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) 5.6 เท่า ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาในการช่วยเหลือลูกหนี้แน่นอน ซึ่งได้สั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐดูแลไม่ให้ลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้บ้าง แม้จะไม่สม่ำเสมอ ไม่ให้ตกชั้นกลายเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารขยายเวลาพักชำระหนี้ต่อถึง 31 ธ.ค.63 ทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และรายย่อย รวม 3 ล้านบัญชี โดย 4 หมื่นบัญชี เป็นลูกค้าเอสเอ็มอี วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท  และส่วนที่เหลือเป็นรายย่อย มูลค่า 1 ล้านล้านบาท รวมเป็นลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ทั้งสิ้น 1.7 ล้านล้านบาท ส่วนในระยะต่อไปจะมีการเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม และก่อนครบกำหนดพักชำระหนี้ในเดือนธ.ค.นี้ จะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย รวมทั้งขยายการพักชำระหนี้เงินต้น ให้กับลูกค้าที่มีความเปราะบาง ซึ่งลูกค้าที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้มีอยู่ 10% ของพอร์ตธนาคาร

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า  ที่ผ่านมาธอส. ออก 10 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยมีลูกค้าเข้าร่วมกว่า 6.8 แสนราย วงเงิน 5.7 แสนล้านบาท โดยมาตรการที่สิ้นสุดแล้ว ธนาคารก็ขยายมาตรการพักหนี้ออกไปอีกถึงมี.ค.64 พร้อมกันนี้ ธนาคารได้เตรียมเข้าไปปรับโครงสร้างลูกค้า กรณีที่ไม่มีความสามารถในการพักชำระหนี้หลังสิ้นสุดมาตรการ โดยจะลดดอกเบี้ย เหลือ 1.99-3.99% อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ต่อแล้ว 6 หมื่นล้านบาท เหลืออีก 2.4 แสนล้านบาท ที่ยังไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการ ธนาคารก็จะเข้าไปติดต่อลูกค้ากลุ่มนี้ต่อไป ซึ่งหากแบ่งกลุ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าออกเป็น เขียว เหลือง และแดง จากจำนวนพอร์ตทั้งหมด 1.27 ล้านล้านบาท เป็นเขียว 67% เหลือง 27% และแดง 4.9%

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) กล่าวว่า ธนาคารพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยช่วย เพื่อช่วยเหลือลูกค้าแล้ว 3.25 ล้านราย วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยจะมีการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ออกไปอีก 1 ปี หลังสิ้นสุดมาตรการ โดยจะมีการออกไปสำรวจลูกค้ารายบุคคล เพื่อตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าต่อไป หากไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ธนาคารก็จะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมเติมเม็ดเงินให้กับลูกค้า พิจารณาอัตราดอกเบี้ย เพื่อดูแลต่อไป

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า มีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ 4.5 หมื่นราย วงเงินทั้งสิ้น 1.6 หมื่นล้านบาท โดยหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ของธปท. มีลูกค้ากลับมาชำระหนี้ปกติได้เพียง 2 หมื่นราย ส่วนที่เหลือแบงก์จะมีมาตรการช่วยเหลือด้วยการขยายเวลาพักชำระหนี้เงินต้นออกไปอีก 6 เดือน อย่างไรก็ดี พบว่ามีลูกค้าที่ไม่มีความสามารถในการชำระ 2-3 พันล้านบาท ในส่วนนี้ ก็จะเข้าไปเร่งปรับโครงสร้างเช่นกัน เพื่อรักษาเครดิตของลูกค้าด้วย ซึ่งลูกหนี้ที่จับตาดูเป็นพิเศษคาดการณ์ว่าจะมีประมาณ 15% ซึ่งในจำนวนนี้มี 2% ที่ไม่สามารถติดต่อได้เลย