คลัง เผยผลดำเนินโครงการ “ชิมช้อปใช้” ยอดใช้จ่าย 2.8 หมื่นล้าน กระตุ้นจีดีพี 0.3%

คลัง เผย ครม. รับทราบผลการดำเนินมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ชี้มีผู้ใช้สิทธิ 11 ล้านคน ยอดใช้จ่าย 2.8 หมื่นล้าน หนุนเศรษฐกิจขยายตัว 0.1-0.3%

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 รับทราบผลการดำเนินมาตรการชิมช้อปใช้ ซึ่งดำเนินการในระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2562 – 31 มกราคม 2563

โดยมาตรการดังกล่าว เป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน รวมจำนวนไม่เกิน 15 ล้านคน โดยผู้ลงทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ และติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีผู้ได้รับสิทธิจำนวน 14,354,159 คน มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 11,802,073 คน และมีร้านค้าที่มีผู้ไปใช้สิทธิจำนวน 103,053 ร้าน

มียอดใช้จ่าย ผ่าน g-Wallet รวม 28,819.9 ล้านบาท แบ่งเป็น การใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่องที่ 1 (เงินสนับสนุนจากภาครัฐ 1,000 บาท) จำนวน 11,671.8 ล้านบาท และการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่องที่ 2 (ประชาชนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายและได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐร้อยละ 15 หรือ 20 ของยอดใช้จ่ายจริง) จำนวน 17,148.1 ล้านบาท

ในการประเมินความคุ้มค่าของมาตรการชิมช้อปใช้พบว่า มีการใช้สิทธิทั่วภูมิภาคและทุกจังหวัด โดยมาตรการชิมช้อปใช้มีผลบวกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ผ่านตัวทวีคูณ (Multiplier) 3.3 เท่า ซึ่งประเมินว่าได้ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 0.1 – 0.3 และมีผลบวกต่อเศรษฐกิจ

รายจังหวัดซึ่งสะท้อนได้จากการบริโภค การท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) ในช่วงของการดำเนินมาตรการ นอกจากนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รายงาน GDP ไตรมาส 4 ปี 2562 ไว้อย่างชัดเจนว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการขยายตัวสาขาการขายส่งขายปลีก โรงแรมที่พัก และร้านอาหารในด้านอุปทานเป็นผลมาจากมาตรการชิมช้อปใช้ และยอดการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการมีมาตรการชิมช้อปใช้ ส่งผลให้มูลค่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดประโยชน์ทางอ้อม คือ ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) สร้างทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) แก่ประชาชน สร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้วิเคราะห์เชิงลึก และเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) มาช่วยในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

รองโฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการสำรวจข้อมูลความพึงพอใจต่อมาตรการชิมช้อปใช้ ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ ระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 17 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ตอบแบบสอบถามแบ่งเป็นประชาชนจำนวน 76,382 คน และผู้ประกอบการหรือร้านค้า “ถุงเงิน” จำนวน 458 ร้านค้า สรุปได้ว่า ประชาชนมีความพึงพอใจ 3 ลำดับแรก ได้แก่ เงินสนับสนุน 1,000 บาท ร้อยละ 74.6 ความปลอดภัยในการใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ร้อยละ 74.2 และความสะดวกในการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ร้อยละ 73.9 ส่วนผู้ประกอบการ/ร้านค้า “ถุงเงิน”

มีความพึงพอใจ 3 ลำดับแรก ได้แก่ ความปลอดภัยในการใช้งานแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้อยละ 86.6 ความสะดวกในการรับเงินผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้อยละ 84.9 และขั้นตอนและรูปแบบการลงทะเบียน ร้อยละ 70.5