แบงก์ชี้ “รวมหนี้รายย่อย” ไม่ปัง! เหตุมีทางเลือกอื่น-คนกังวลถูกปิดบัตร

บัตรเครดิต

แบงก์เผยมาตรการ “รวมหนี้รายย่อย” ไม่เปรี้ยง ! ลูกค้าเข้าร่วมโครงการแค่หลักร้อยล้านบาท เหตุมีหลายมาตรการช่วยไปแล้ว “ทีเอ็มบี” นำเสนอ “รถแลกเงินเคลียร์หนี้” ใช้รถเป็นหลักประกันแทนบ้าน เชื่อเอื้อให้ลูกหนี้ที่มีรถรวมหนี้ง่ายขึ้น “กสิกรไทย” ชี้คนกังวลต้อง “ปิด/ถูกลดวงเงิน” บัตร ด้าน ธปท.เผย Q3 สัดส่วนหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือลดลง 7.7 แสนล้านบาท เหตุลูกหนี้เริ่มกลับมาชำระหนี้ได้

นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) เพื่อช่วยลูกหนี้ที่เป็นหนี้หลายประเภท ล่าสุดธนาคารสำรวจพบว่าลูกค้าสนใจพอสมควร มูลหนี้ราว 500 ล้านบาท

ซึ่งส่วนใหญ่จะสนใจรวมหนี้สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) และสินเชื่อรถยนต์ อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ธนาคารมีโครงการช่วยเหลือลูกค้าหลากหลายมาตรการ เช่น เลื่อนพักการชำระหนี้ (skip payment)เป็นต้น ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกในการแก้ปัญหาหนี้หลายทาง

“ลูกค้าที่เป็นหนี้กับทีเอ็มบีและธนชาตสามารถรวมหนี้กันได้ ซึ่งแม้วงเงินต่อรายจะไม่สูง แต่ถือว่าลูกค้าให้ความสนใจดี เนื่องจากช่วยลดภาระดอกเบี้ยเดิมที่ลูกค้าจะต้องจ่ายราว 18-22% ลดลงมาอยู่ในอัตราต่ำเท่ากับดอกเบี้ยบ้าน”

นายป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทหารไทย (TMB) และรองกรรมการผู้จัดการธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ธนาคารได้จัดทำโปรดักต์ “รถแลกเงินเคลียร์หนี้” ให้ลูกค้าใช้รถยนต์เป็นหลักประกันในการรวมหนี้ได้ โดยรวมหนี้กับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงิน เพื่อลดภาระผ่อนการชำระหนี้ในดอกเบี้ยลดลงเหลือเฉลี่ย 4% ต่อปี จากปกติดอกเบี้ยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเฉลี่ย 18-25%

“การเพิ่มฟีเจอร์นี้จะทำให้ตลาดเรากว้างมากขึ้น เพราะทำง่ายกว่าการรวมหนี้กับสินเชื่อบ้าน เนื่องจากการประเมินราคารถจะง่ายกว่าและไม่ซับซ้อน โดยลูกค้าเองก็ได้ดอกเบี้ยถูกลง และสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ของลูกค้าก็ลดลงด้วย เพราะหนี้บัตรต่าง ๆ ถูกรวมไว้ในก้อนเดียว”

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารไม่ได้ทำมาตรการรวมหนี้แบบปูพรม แต่จะสำรวจลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่เริ่มมีสัญญาณผิดปกติ เช่น เริ่มผ่อนชำระล่าช้าและค้างชำระ

โดยธนาคารจะเสนอโปรแกรมรวมหนี้ให้ลูกค้า หรือลูกค้าจะเดินเข้ามาติดต่อ (walk in) สาขาธนาคารได้ด้วยตัวเองก็ได้ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเข้าโครงการรวมหนี้แล้วประมาณ 188 รายถือว่าค่อนข้างน้อย โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่แบงก์ออกมาก่อนหน้านี้ ทำให้ลูกค้าได้รับความช่วยเหลือไปค่อนข้างมากแล้ว

“เราก็สำรวจลูกค้าต่อเนื่อง หากเริ่มมีวันค้างชำระเราก็จะเข้าไปนำเสนอเลยว่ามีโครงการนี้ ลูกค้าสนใจหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ประเด็นลูกค้ากังวลเรื่องปิดบัตรเครดิต หรือลดวงเงินในบัตร ทำให้คนสนใจเข้ามาน้อยแค่ 188 ราย จากฐานบัตรเป็นล้านราย และมูลหนี้ต่อรายเฉลี่ยไม่สูงมากเพราะเป็นลูกค้ารายย่อย”

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า มีลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ให้ความสนใจติดต่อสอบถามข้อมูลของโครงการดังกล่าวเข้ามา คิดเป็นมูลหนี้ราว 100 ล้านบาท อย่างไรก็ดี พบว่าส่วนใหญ่ไม่เข้าเกณฑ์ เนื่องจากลูกค้าไม่มีสินเชื่อที่มีหลักประกัน หรือบางรายเป็นลูกค้าที่มีสถานะปกติ ไม่ได้มียอดค้างชำระ

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า มีลูกค้ากรุงศรีให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการรวมหนี้รายย่อยประมาณ 14 รายคิดเป็นมูลหนี้รวม 1.4 ล้านบาท วงเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 1 แสนบาทต่อบัญชี ถือว่าค่อนข้างน้อย

เนื่องจากก่อนหน้านี้มีหลายมาตรการออกมาช่วยแล้ว เช่น การลดอัตราการชำระขั้นต่ำ บัตรเครดิตจาก 10% เหลือ 5% และสินเชื่อส่วนบุคคลลงมาอยู่ที่ 3% จาก 5% หรือมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ TDR ที่ลดดอกเบี้ยและยืดอายุการชำระหนี้ให้นานที่สุดในระบบถึง 96 เดือน ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเข้าโครงการแล้วกว่า 3.2 หมื่นรายวงเงิน 2,500 ล้านบาท เป็นต้น

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ปี 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 3.14% ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.09% ถือว่าเพิ่มขึ้นไม่สูง เนื่องจากผลของมาตรการ ธปท. และมาตรการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน

“ในไตรมาส 3 สัดส่วนหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือปรับลดลง เนื่องจากลูกหนี้บางส่วนกลับมาชำระหนี้ได้หลังมาตรการทยอยสิ้นสุดลง โดยการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ณ 30 ก.ย. 2563 อยู่ที่ 3.78 ล้านล้านบาท คิดเป็น 26% ของสินเชื่อรวม ลดลงจาก 4.55 ล้านล้านบาท หรือ 31% ณ มิ.ย. 63 ซึ่งลดลงจากพอร์ตสินเชื่อรายย่อย” นางสาวสุวรรณีกล่าว