โบรกฯ เชียร์ซื้อ CK เก็งคว้างานรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป้าหมาย 26.70 บาท

ภาพประกอบข่าว ช.การช่าง

โบรกฯ เชียร์ซื้อหุ้น ‘ช.การช่าง’ ราคาเป้าหมายสูงสุด 26.70 บาท ลุ้นคว้างานใหญ่ รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม-สายสีม่วงใต้’ หนุน Backlog ปีหน้า เผยความคืบหน้าโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลวงพระบาง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บมจ.ช.การช่าง (CK) ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา (ณ วันที่ 20 พ.ย.63) ปรับขึ้น 19.61% มาอยู่ที่ 18.30 บาท อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาราคาหุ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) พบว่าลดลง 3.68% โดยความเห็นของนักวิเคราะห์ตาม IAA Consensus ยังแนะนำซื้อที่ราคาเป้าหมายระหว่าง 20.50-26.70 บาท

  • ประเด็นการลงทุน

ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า ฝ่ายวิจัย แนะนำการลงทุนในหุ้น CK แบบ “ซื้อขายเก็งกำไร” (Trading) ที่ราคาเป้าหมาย 24.00 บาท เนื่องจากปัจจุบันโครงการในมือ (Backlog) อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แต่ยังคาดหวังโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก 1.27 แสนล้านบาท สายสีม่วงใต้ 1 แสนล้านบาท และโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง 1.35 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้จะหนุน Backlog ให้เข้าสู่การเติบโตใหม่ (New S-Curve)

อย่างไรก็ดี ราคาหุ้น CK ปัจจุบันซื้อขายบนมูลค่า (Valuation) ที่ค่อนข้างถูก คือ ราคาต่อมูลค่าบัญชี (P/BV) 1.1 เท่า ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีตามค่าสถิติ P/BV ตามสถิติ 10 ปี ที่ 1.13 เท่า อย่างไรก็ดี CK มีเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานชั้นนำ คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) และ บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) มีมูลค่าถึง 6.5 หมื่นล้านบาท หรือ คิดเป็น 38 บาท/หุ้น ประเมินราคาเป้าหมาย โดยวิธีการรวมมูลค่าของแต่ละธุรกิจ (Sum of the parts) ได้เท่ากับเท่ากับ 24.00 บาท

  • Backlog ปัจจุบันต่ำ กดดันผลประกอบการไม่เด่น

ขณะที่ในการจัดประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเหลือ Backlog ที่ค่อนข้างต่ำที่ 31,490 ล้านบาท ผู้บริหารประเมินรายได้ก่อสร้างไตรมาส 4/63 จะใกล้เคียงกับไตรมาส 3/63 รวมปี 2563 คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 17,000-18,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้ 23,010 ล้านบาท

ในส่วนของแนวโน้มปี 2564 ภายใต้ Backlog ปัจจุบันที่ต่ำ ผู้บริหารประเมินว่าจะรับรู้รายได้เท่าปีนี้ ซึ่งยังไม่รวมโครงการใหม่ที่คาดหมายจะได้ในปีหน้า ในขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจาก BEM และ CKP ปี 2564 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ปีนี้ BEM ประสบปัญหาโควิด-19 ในไตรมาส 2/63 ส่วน CKP ประสบปัญหาภัยแล้งในครึ่งแรกปี 2563

ทั้งนี้ สำหรับประมาณการของ CK ปี 2563 ฝ่ายวิจัยประเมินรายได้เท่ากับ 16,926 ล้านบาท ลดลง 26% และมีกำไรเท่ากับ 917 ล้านบาท ลดลง 48% ส่วนปี 2564 คาดว่าจะเริ่มมีโครงการใหม่เข้ามาทำให้รับรู้รายได้มากขึ้นที่ 25,050 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรที่ดีขึ้นเช่นกันที่ 1,712 ล้านบาท เติบโต 87%

  • คาดหวังโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล

โครงการรถไฟฟ้าที่ทางกลุ่ม BEM และ CK คาดหวัง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่าโครงการ 1.27 แสนล้านบาท ซึ่งทาง BEM ได้ยื่นซองไปแล้ว โดยเป็นการแข่งขันกับกลุ่ม BTS และ STEC ปัจจุบันกำลังรอศาลปกรองสูงสุดตัดสินประเด็นการคิดคะแนนว่าจะใช้เกณฑ์ราคา 100% หรือใช้เกณฑ์ราคา 70% และเทคนิก 30% ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปีหน้าต่อจากสายสีส้มตะวันตก

  • โครงการโครงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลวงพระบางมีความคืบหน้า

CK ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ว่าบริษัทฯ ได้เข้าถือหุ้น บริษัทหลวงพระบางพาวเวอร์ 10% และ CKP เข้าถือหุ้น 40% ซึ่งจะพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำบนแม่น้ำโขง มีกำลังการผลิตประมาณ 1,460 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสัมปทาน 32 ปี ปัจจุบันมีความคืบหน้า ได้แก่ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งด้านเทคนิค การเงิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ปัจจุบันกำลังเจรจาในสัญญาหลักของโครงการ หากได้โครงการดังกล่าวจะมีงานก่อสร้างประมาณ 9 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยคงคำ แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 26.70 บาท แม้ว่าระยะสั้น CK อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยกดดัน ได้แก่ 1. กรอบเวลาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนต่อขยายที่ยังต้องรอผลคำตัดสินของศาล ทำให้ยังไม่มีความชัดเจน แต่เชื่อว่าจะเห็ฯความชัดเจนในอีกประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้า และ 2. ผลประกบอการไตรมาส 4/63 ที่อาจไม่สดใส

อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยมองว่าในระยะยาว CK ยังมีโอกาสดีจากความคืบหน้าของงานประมูล ความชัดเจนของงานที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน เช่น เขื่อนหลวงพระบาง และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมถึงงานอื่นๆ