เศรษฐกิจ ปี’64 ผันผวนหนัก วิกฤตเลิกจ้างลามไม่หยุด

Lillian SUWANRUMPHA / AFP

เศรษฐกิจ ปี”64 เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน “ประธานสมาคมธนาคารไทย” ประเมินครึ่งปีแรกเจอศึกหนัก โควิดรอบใหม่ฉุดทุกอย่างลากยาว ลุ้นตัวช่วยวัคซีน “ทีเอ็มบี” ประเมินรัฐไม่ล็อกดาวน์สนิท จีดีพีโต 3.7% “ส่งออก-บริโภค” ตัวหลักขับเคลื่อน ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น การลงทุนต้องพึ่ง “รายใหญ่-ต่างชาติ” “กรุงศรีฯ” จับตามาตรการรัฐ หวั่น “แรงงาน” เจอผลกระทบเลิกจ้างระลอกใหม่

ปี”64 ความไม่แน่นอนสูงขึ้น

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพเศรษฐกิจไทยปี 2564 นี้ ยังมีความไม่แน่นอนและความผันผวนสูง โดยปัจจัยที่สำคัญยังต้องติดตามนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ตามมาด้วยปัจจัยเรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่าจะมาเมื่อไร และกระจายได้ทั่วถึงแค่ไหน นอกจากนี้ก็พิจารณาเรื่องการเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสามารถทำได้เร็วเพียงใด

“เศรษฐกิจปีหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 1-2 ครึ่งปีหลังน่าจะชัดเจนขึ้น ถ้ามีวัคซีนมาก็จะเสถียร ไม่ได้กลัวว่าโควิดจะมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ถ้ายังไม่มีวัคซีนก็ยังกังวลเรื่องล็อกดาวน์ เพราะประเทศเป็นแบบนี้ ต่อให้เปิดประเทศการเดินทางเข้ามาของต่างชาติก็ไม่มีอยู่แล้ว เพราะขนาดจะเดินทางข้ามจังหวัดยังเปลี่ยนใจ”

นายผยงกล่าวด้วยว่า ถ้าวัคซีนมีความชัดเจน หลังจากนี้ประเทศไทยต้องมาเร่งเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ จะสามารถทำได้เร็วแค่ไหนเป็นความท้าทาย เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยกระจุกอยู่กับภาคส่งออdและการท่องเที่ยว ซึ่งซัพพลายเชนการส่งออกหลาย ๆ อุตสาหกรรมก็เปลี่ยนไป เช่น รถยนต์อีวีที่ทำให้ซัพพลายเชนทั้งหมดเปลี่ยนไป เป็น “ความไม่แน่นอน” บน “ความไม่แน่นอน” ที่ต้องติดตาม

“ก่อนเกิดการระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่เริ่มจาก จ.สมุทรสาคร ปี”64รัฐบาลก็ตั้งใจที่จะเร่งเชิงรุกในเรื่องการลงทุน ซึ่งก็ต้องรอดูว่าอาจจะต้องขยับออกไปอย่างน้อย 1-2 ไตรมาส คือ เดิมเราคิดว่าถนนจะเรียบ แต่ตกหลุมอีก การระบาดรอบใหม่ในประเทศทำให้ทุกอย่างชะลอ เศรษฐกิจตกท้องช้างลากยาวออกไป” นายผยงกล่าว

ไม่ล็อกดาวน์จีดีพีโต 3.7%

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ไม่รุนแรงจนต้องล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกครั้ง ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ 3.7% จากปี 2563 ที่คาดว่าจะหดตัว -6.7% ซึ่งถือว่าฟื้นกลับมาได้แค่ครึ่งเดียว

สำหรับตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปี 2564 จะเป็นการส่งออกที่คาดว่าทยอยฟื้นตัวกลับมา โดยคาดว่าส่งออกจะโตได้ 4.3% จากที่ติดลบในปี 2563 ซึ่งเซ็กเตอร์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังเติบโตได้ดี รวมถึงสินค้าเกษตรและอาหาร อย่างไรก็ดี ต้องจับตาว่าต่างประเทศมีมุมมองต่อสินค้าอาหารทะเลของไทยอย่างไร หลังเกิดการระบาดล่าสุด

ขณะเดียวกันการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นอีกตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยช่วงปลายปี 2563 ยอดซื้อรถยนต์ภายในประเทศฟื้นขึ้นมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว โดยในเดือน พ.ย.มียอดขายถึง 7.9 หมื่นคันต่อเดือน จากที่บางเดือนลดลงไปเหลือระดับ 3 หมื่นคันต่อเดือน

“ปี 2564 ถ้าไม่มีล็อกดาวน์ การบริโภคน่าจะกลับมาค่อนข้างดีที่ 3.2% จากปี 2563 ติดลบ 1.4% ซึ่งตัวนี้เป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจไทยก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ เพราะเศรษฐกิจไทยตอนนี้ต้องพึ่งพาในประเทศมากขึ้น แต่หากมีการระบาดหนักขึ้นจนต้องล็อกดาวน์ก็คงต้องปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจลง แต่เชื่อว่าภาครัฐจะบริหารจัดการโดยพยายามจะไม่ล็อกดาวน์”

นายนริศกล่าวว่า สำหรับภาคการท่องเที่ยวในปีนี้ก็คงยังไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนัก เนื่องจากการเดินทางจะยังไม่กลับไปเหมือนเดิม ประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติคงกลับเข้ามาไม่ถึง 8 ล้านคน อย่างที่ทางการประเมิน ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวก็จะยังได้รับผลกระทบ จากที่เคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.9 ล้านล้านบาทต่อปี และนักท่องเที่ยวในประเทศ 1.1 ล้านล้านบาทต่อปี

“เอสเอ็มอี” ยังสาละวนแก้หนี้

ส่วนการลงทุนเอกชนน่าจะกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อย จากปี 2563 ที่ติดลบ 10% โดยเริ่มเห็นกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) กลับเข้ามา และบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยเริ่มกลับมาลงทุน ส่วนกลุ่มประกอบการเอสเอ็มอียังไม่เห็นสัญญาณการลงทุน เนื่องจากคงยังต้องสาละวนกับการปรับโครงสร้างหนี้

“การลงทุนก็คงต้องฝากไว้กับเอกชนรายใหญ่ กับการลงทุนจากต่างชาติ ส่วนเอสเอ็มอียังเหนื่อย ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้รอดก่อน ใครจะได้ไปต่อ ใครจะหยุดพัก ทางการจะช่วยใคร เพราะทรัพยากรมีจำกัด ซึ่งหมายความว่าจะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้เท่ากันทุกคน ก็คงจะถึงจุดที่ต้องเลือก ขณะที่เอสเอ็มอีก็ต้องปรับตัว อะไรไม่จำเป็นก็ต้องตัดขาย ตัดทิ้ง ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อเก็บสภาพคล่องไว้ให้เพียงพอ” นายนริศกล่าว

ศก.ปี”64 ขึ้นอยู่กับโควิดรอบใหม่

ขณะที่ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ระบุว่า ทิศทางเศรษฐกิจในปี 2564 จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ หากคุมกิจกรรมถูกต้อง เชื่อว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไปได้ แต่ถ้าล็อกดาวน์แบบกดสนิทแบบรอบที่แล้ว จะได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งไม่ได้สนับสนุนให้ทำแบบนั้น

อย่างไรก็ดี หากสามารถบริหารจัดการและรักษาการติดเชื้อให้อยู่ในระดับทรงตัวได้ โดยเลือกกิจกรรมที่ทำได้และทำไม่ได้ เช่น กิจกรรมการค้าขาย กินข้าวนอกบ้าน ถือเป็นกิจกรรมที่ไม่ควรหยุด เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ขณะที่กิจกรรมคอนเสิร์ต มหกรรมต่าง ๆ การสัมมนาที่มีการรวมตัวคนจำนวนมากอาจจะต้องงด แม้ว่าการหยุดกิจกรรมบางประเภทจะกระทบบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจโรงแรม ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างเหนื่อยอยู่แล้วให้เหนื่อยหนักมากขึ้น แต่เป็นการตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

ผวากระทบแรงงานระลอกใหม่

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แรงขับเคลื่อนหลักสำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2564 ยังมาจาก “ภาคส่งออก” เป็นสำคัญ ขณะที่ปัจจัยในประเทศสิ่งที่ต้องจับตา คือ “การบริโภค” แม้ว่าจะขยายตัวได้ แต่เป็นการขยายตัวแบบเปราะบาง เพราะไม่ได้ขยายตัวจากทุกกลุ่มรายได้ โดยคนที่มีรายได้สูงจะเติบโตเร็วกว่า และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการส่งออก แต่ภาคบริการยังคงหนักและมีความเปราะบางสูง

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์การระบาดรอบใหม่ หากมีการล็อกดาวน์รุนแรงและมีการหยุดกิจกรรมเศรษฐกิจจะกระทบผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะทำให้รายได้ถูกกระทบและมีความเสี่ยงที่ผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้ลดลงและสูญเสียการจ้างงาน ตลาดแรงงานยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อเนื่องในปี 2564 รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์จะขยายวงกว้างขนาดไหน

“การทำนโยบายเศรษฐกิจ เราต้องตามดูว่าจะตอบสนองสถานการณ์ได้มากแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เห็นนโยบายที่ออกมารองรับเรื่องการประคองกำลังซื้อของคนผ่านเรื่องของเงินโอน หรือ “คนละครึ่ง” ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอดูนโยบายเรื่องการชะลอเลิกจ้างงาน ประคองการจ้างงาน เพราะเป็นนโยบายที่ควรจะต้องทำเพิ่มเติม หากมีการล็อกดาวน์กิจกรรม” นายสมประวิณกล่าวและว่า


ปีนี้ภาคธุรกิจยังต้องการสภาพคล่องเพื่อรักษาและประคองธุรกิจในช่วงที่มีการปิดชั่วคราว หรือประคองตัวในช่วงที่รายได้ไม่เหมือนเดิม โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่ทำให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงสภาพคล่องได้ตรงจุด จะสำคัญมากกว่าการลดดอกเบี้ย (หน้า 1, 4)