“อาคม” หวั่นเศรษฐกิจซึมยาว 4 ปี เร่งอุ้ม “ท่องเที่ยว-ธุรกิจพื้นที่สีแดง”

ขุนคลัง “อาคม” ชี้ปี’64 เครื่องยนต์รัฐพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งลงทุน-กระตุ้นบริโภค “โควิด-19” ระลอกใหม่ทุบซ้ำ คาดใช้เวลา 4 ปี เศรษฐกิจจะฟื้นกลับ เท่าก่อนเกิดโควิด เร่งปูพรมมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง เดินหน้าจ่ายเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือนกว่า 30 ล้านคน โยกเงินกู้หมวดฟื้นฟู 5 หมื่นล้านมาจ่าย “เราชนะ” เร่งหารือ ธปท. แก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ปลดล็อกแบงก์ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี-รายใหญ่ เร่งแผนช่วยธุรกิจพื้นที่สีแดง และกลุ่มท่องเที่ยวทั้งโรงแรม-ร้านอาหาร-สายการบิน หลังซมพิษโควิดข้ามปี

ชู “ลงทุนรัฐ” ตัวช่วยปี’64

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การดูแลเศรษฐกิจไทยปี 2564 หลังจากที่มีการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ภาครัฐจะเป็นตัวหลักขับเคลื่อน ทั้งการลงทุนและการกระตุ้นการบริโภค เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นได้รับผลกระทบหมด ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่แน่ใจว่าจะถึง 5 ล้านคน ตามประมาณการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือไม่ ขณะที่ส่งออกปีนี้ ล่าสุดทางสภาผู้ส่งออกก็ประเมินว่าจะโต 3.6% ก็ต้องดูว่ายังมีดีมานด์อยู่หรือไม่

ขณะที่รัฐบาลประเมินว่า ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งหากการระบาดจบลงใน 2 เดือน ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีโอกาสขยายตัว 3.5% ต่อปี จากที่กระทรวงการคลังประเมินการขยายตัวปีนี้ไว้ที่ 3.5-4.5% ต่อปี ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอาจจะขยายตัวเพียง 3.2% ซึ่งรวมผลกระทบการระบาดระลอกใหม่ไว้แล้ว โดยคลังจะมีการปรับประมาณการใหม่ในวันที่ 28 ม.ค.นี้

“ปีนี้จีดีพีต้องมาจากภาครัฐแน่นอน คือการลงทุนภาครัฐที่ต้องทำต่อเนื่อง หยุดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านพลังงาน คมนาคม เป็นต้น ยังเป็นตัวที่ขับเคลื่อนจีดีพี และการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศก็ยังต้องทำอยู่ ถ้าไม่ยืดเยื้อ การระบาดจบได้ใน 2 เดือน การบินภายในประเทศก็จะเริ่มเพิ่มขึ้น โครงการเราเที่ยวด้วยกันก็จะกลับมาได้ แต่ตอนนี้คนไม่เชื่อมั่น เพราะว่าจะไปเที่ยวจังหวัดนี้ก็อาจถูกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ก็ต้องขอความร่วมมือ ซึ่งหากโควิดจบภายใน 2 เดือน จีดีพีโตขั้นต่ำ 3.5% ก็น่าจะยังได้อยู่ แต่ก็ต้องดูปัจจัยจากข้างนอกด้วยว่าดีขึ้นแค่ไหน” นายอาคมกล่าว

“วัคซีน” ความหวังฟื้นเศรษฐกิจ

นายอาคมกล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่มีความแตกต่างกับระลอกแรกที่ยังไม่รู้แนวทางป้องกัน ยังไม่รู้อนาคตเรื่องวัคซีน แต่รอบนี้ ได้เห็นความสำเร็จจากการพัฒนาวัคซีนแล้ว และประเทศไทยก็ได้จองวัคซีนไว้แล้ว แถมยังมีโรงงานผลิตวัคซีนที่ร่วมมือกับแอสตร้าเซเนก้า ทำให้มีความมั่นใจ เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้เห็นว่า การปิดประเทศเหมือนการระบาดครั้งแรกคงไม่จำเป็น เพราะช่วงระยะเวลาที่วัคซีนจะมาคือช่วงเดือน ก.พ. 64

“สถานการณ์ 2 ปีนี้ต่างกัน ปีนี้เรามีความหวังว่าวัคซีนกำลังจะมา ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นในการปิดประเทศ เพราะการปิดประเทศทั้งประเทศ ต้นทุนทางเศรษฐกิจสูง หรือแม้ไม่ปิดก็มีต้นทุน คือรัฐบาลต้องเอาเงินมาช่วยเหลือประชาชน ช่วยเหลือธุรกิจ ของไทยก็เหมือนกัน”

ปี’64 อัดมาตรการต่อเนื่อง

นายอาคมกล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ต้องต่อเนื่องมาจากปี 2563 เพราะปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถคุมสถานการณ์โควิดได้ ก็จะเห็นว่าเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ดีมานด์จากข้างนอกยังไม่มา รัฐบาลก็มาเน้นเรื่องการทำอย่างไรให้เศรษฐกิจภายในประเทศเดินได้

เครื่องยนต์จากต่างประเทศคือ “การส่งออก” ก็ติดลบน้อยลงเรื่อย ๆ การใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ขยับขึ้นมา ที่เหลือคือภาคท่องเที่ยว ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มต่างชาติทำงานในเมืองไทย นักการทูต นักธุรกิจ

อย่างไรก็ดี เครื่องยนต์ตัวใหญ่ที่สุดคือ “การใช้จ่ายของประชาชน” หรือการบริโภคประมาณ 50% ของจีดีพี ฉะนั้นแพ็กเกจก็ดีไซน์ออกมาเป็นเยียวยา และกระตุ้นการใช้จ่ายต่อเนื่อง หลังจากเยียวยาผ่าน “เราไม่ทิ้งกัน” ก็เริ่มกระตุ้นผ่าน “ชิม ช้อป ใช้” “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “คนละครึ่ง” ที่่ประชาชนฐานรากได้ประโยชน์มาก ซึ่งจะกระตุ้นต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกปีนี้

มาตรการเยียวยาก็ต้องทำ มาตรการช่วยเศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาก็ต้องทำ จึงเห็นรัฐออกมาตรการเศรษฐกิจหลายเรื่อง ทั้งช่วยผู้ประกอบการ และประชาชน

“คนละครึ่ง ความจริงใช้เงินไม่มาก ประมาณเฟสละ 30,000 ล้านบาท คือรัฐบาลจ่าย 30,000 ล้านบาท ประชาชนก็จ่ายอีก 30,000 ล้านบาท แล้วประชาชนไม่ได้ใช้แค่ครึ่งหนึ่ง แต่เขาใช้จ่ายมากกว่านั้น ส่วนนี้ทำให้การใช้จ่ายคึกคักมากขึ้น ร้านค้าไหนไม่มีป้ายคนละครึ่งเรียกว่าเชย ซึ่งเราขยายมาถึงต้นปีนี้ เพราะดูแล้วว่าปี 2564 ยังต้องการแรงกระตุ้น”

ห่วงเศรษฐกิจฟุบยาว 3-4 ปี

รมว.คลังยอมรับว่า หลังโควิดระลอกใหม่เกิดขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้กลับไปเท่ากับก่อนเกิดโควิดก็ต้องใช้เวลายาวขึ้น คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีก 3-4 ปี แต่การดำเนินชีวิตภายในประเทศจะต้องเริ่มภายในปีนี้ หากยุติการแพร่กระจายเชื้อได้เร็ว ชีวิตปกติของคนไทยก็จะกลับมาได้เร็วขึ้น ขณะที่มาตรการภาครัฐก็ต้องให้ความสำคัญกับการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยมีมาตรการ “เราชนะ” ที่ให้เงินเยียวยาวประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศกว่า 30 ล้านคน คนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน

“มาตรการที่ออกมา เราดูตามความจำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งวันนี้คนที่อยู่จังหวัดสีขาว ก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้รับผลกระทบ เขาก็เดือดร้อน การเดินทางลดลง การส่งสินค้าระหว่างจังหวัดก็มีอุปสรรค รัฐบาลจึงให้ทั้งหมดทั่วประเทศ”

นายอาคมกล่าวว่า ในการจ่ายเงิน 3,500 บาท 2 เดือน จะใช้เงิน พ.ร.ก.เงินกู้ หมวดเยียวยาที่เหลืออยู่ส่วนหนึ่ง และมีการโยกวงเงินจากหมวดฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท อีกก้อนหนึ่ง ก้อนแรก 50,000 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วเพียงพอสำหรับการจ่ายบรรเทาความเดือดร้อน

โฟกัสช่วยท่องเที่ยว-พื้นที่สีแดง

นอกจากนี้ นโยบายการเงินก็มีมาตรการด้านสินเชื่อ ทั้งการพักชำระหนี้ และการเติมสภาพคล่อง รวมถึงได้เสนอขยายเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% อีก 1 ปี เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ถือครองทรัพย์สิน ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอ ครม. รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 0.01% สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายเวลามาตรการเดิมอีก 1 ปี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ กระตุ้นให้คนที่มีกำลังซื้อที่อยากจะซื้อบ้าน

ส่วนมาตรการซอฟต์โลน (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศขยายเวลาให้ยื่นคำขอพักชำระหนี้ และขอสินเชื่อซอฟต์โลนออกไปถึงเดือน มิ.ย. 2564 เนื่องจากมีความเดือดร้อนจากพื้นที่ที่เป็นต้นตอการระบาด และพื้นที่สีแดงคุมเข้ม ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่าย หรือสภาพคล่อง หรือบางรายอาจจะปิดกิจการไป รวมถึงการดูแลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

“นโยบายการช่วยเหลือครั้งนี้โฟกัสไป 2 กลุ่ม คือ ภาคการท่องเที่ยวที่ค้างมา 1 ปีแล้ว และกลุ่มพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด ซึ่งให้แบงก์รัฐโฟกัสไปที่พื้นที่นี้ก่อน ส่วนกลุ่มท่องเที่ยว วันที่ 15 ม.ค. 64 ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯก็มาพบ หารือถึงข้อเสนอจากสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งในหลายข้อเสนอเป็นสิ่งที่เราทำอยู่ เช่น ข้อเสนอแก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน”

ยันอุ้ม “โรงแรม-สายการบิน”

นายอาคมกล่าวว่า การช่วยเหลือเรื่องซอฟต์โลนจะครอบคลุมไปถึงกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และสายการบินด้วย สำหรับสายการบินต้องบอกว่าคงไม่สามารถให้เงินกู้ เพื่อไปลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ แต่จะพิจารณาที่มีความจำเป็นจริง ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน เพื่อรักษาการจ้างงาน และค่าใช้จ่ายประจำวันที่จำเป็นต้องใช้ในการบิน โดยจะให้ทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ช่วยดูให้ ก็น่าจะมีทางทำได้

“กรณีสายการบินอาจจะไม่ใช่ซอฟต์โลน อาจจะออกเป็นแบงก์การันตี เพราะพวกนี้มีหลักประกันที่วางอยู่กับแบงก์ ในเรื่องการเช่าเครื่องบิน หรือซื้อเครื่องบิน ก็ใช้เป็นแบงก์การันตี ให้สามารถนำเงินออกมาใช้ในการจ่ายเงินเดือนพนักงาน หรืออาจออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) เพื่อค่าใช้จ่ายประจำวัน แต่ก็ต้องไปดูต้นทุนว่าเท่าไหร่”

ส่วนกรณีที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวขอให้รัฐร่วมจ่ายเงินเดือนพนักงาน (copay) เพื่อประคองการจ้างงานนั้น นายอาคมกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้องไปดูว่าทางสำนักงานประกันสังคมจะช่วยได้หรือไม่ ซึ่งทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯต้องไปคุยกับกระทรวงแรงงาน

ถก ธปท.เร่งแก้ กม.ซอฟต์โลน

นายอาคมกล่าวว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมาซอฟต์โลนยังติดเงื่อนไขที่ทำให้แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ เพราะมีเงื่อนไขการตั้งสำรองที่ยังเข้มอยู่ ทำให้แบงก์กลัวว่าถ้าปล่อยกู้ไปแล้วเป็นหนี้เสียขึ้นมา ก็ต้องกันสำรอง 100% แบงก์ก็จะแย่ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างผลักดันแก้กฎหมายซอฟต์โลน เพื่อผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งจะผ่อนปรนให้ทั้ง 2 ข้าง ทั้งฝั่งแบงก์พาณิชย์ และลูกหนี้ รวมถึงให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมได้ด้วย

“แก้กฎหมายก็ต้องใช้เวลา ตอนนี้กำลังคุยกันระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท. และได้ย้ำทาง ธปท.ไปแล้วว่า หากไม่แก้ เงินไม่ออกแน่ ซึ่งตอนนี้ปล่อยกู้ไปได้แค่ 120,000 ล้านบาท อย่าลืมว่าพวกเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาก็ช่วยตัวเองมามากแล้ว หากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปอีกก็จะมีผลกระทบ จึงหารือกับ ธปท.ว่า แค่การขยายเวลาพักชำระหนี้ไปถึงเดือน มิ.ย. 2564 คงไม่พอ ต้องผ่อนคลายกฎเกณฑ์ เพื่อให้สามารถปล่อยเงินออกไปสู่ธุรกิจได้”

เตรียม “ปรับโครงสร้างภาษี”

นายอาคมกล่าวว่า เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลมีแนวโน้มถดถอยลง โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้รายได้หายไปมาก ซึ่งผลกระทบจากระบาดระลอกใหม่ ก็จะกระทบผลประกอบการเอกชนปี 2564 ซึ่งจะมีผลกับภาษีในปี 2565 ด้วย ดังนั้น ในปีนี้จะเป็นปีแห่งการเตรียมความพร้อมที่จะปฏิรูประบบภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้เกิดความยั่งยืน แต่การนำมาใช้อาจจะเป็นปี 2565 หรือปี 2566 เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่เหมาะสม

“วันนี้เราเห็นตัวเลขจัดเก็บรายได้ถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจโต แต่รายได้เก็บได้น้อยลง หมายความว่าประสิทธิภาพ หรือฐานภาษี ดังนั้น ต้องมาดูว่ามีการยกเว้น ลดหย่อนมากน้อยแค่ไหน โครงสร้างภาษีควรจะเป็นอย่างไร จะใช้เวลาปีนี้ทั้งปี คิดเรื่องโครงสร้างภาษี โครงสร้างรายได้เตรียมการไว้”

พร้อมกันนี้จะพยายามผลักดันให้การจัดเก็บภาษีเข้าสู่ระบบดิจิทัลให้มากที่สุด ขณะที่แผนการเก็บภาษีจากผู้ให้บริการดิจิทัล ต่างประเทศที่มีรายได้เกิดขึ้นในประเทศไทย เรื่องนี้อยู่ในแผนอยู่แล้ว รอกฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังจากนั้นจะมีเวลาอีก 6 เดือนในการเตรียมการ ซึ่งคาดว่าจะได้เม็ดเงินเข้ามาราว 5,000 ล้านบาท


ขณะที่โครงสร้างภาษีรถยนต์ก็ต้องออกแบบให้เอื้อกับการเกิดอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งจะต้องคำนึงถึงซัพพลายเชนในประเทศ เพื่อไม่ให้การผลิตเกิดการสะดุด ทั้งนี้ นโยบายเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไปสู่พลังงานสะอาด และการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องธุรกิจด้านสุขภาพ ที่ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนตามนโยบายดังกล่าว