ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า นักลงทุนติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 1-5 กุมภาพันธ์ 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (1/2) ที่ระดับ 29.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/1) ที่ระดับ 29.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในกรอบจำกัด โดยเป็นผลมาจากธุรกิจในช่วงสิ้นเดือนของผู้ส่งออกที่มีการขายเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจจีนเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต ประจำเดือนมกราคมลดลงสู่ระดับ 51.5 จากระดับ 53.0 ในเดือนธันวาคม โดยดัชนีอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากยอดสั่งซื้อเพื่อการส่งออกชะลอตัวลงท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะทยอยแข็งค่าจากความกังวลกับการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า รวมถึงความไม่แน่นอนในเรื่องของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทำเนียบขาว โดยรายงานล่าสุดระบุว่า วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน 10 คนได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ปรับลดวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงจากระดับ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้สามารถผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐ ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตเตรียมเสนอมาตรการดังกล่าวต่อสภาคองเกรส แม้ว่ายังคงไม่มีความชัดเจนว่าข้อเสนอของวุฒิสมาชิกทั้ง 10 คนของรีพับลิกันจะสามารถทำให้ฝั่งเดโมแครตเปลี่ยนแผนการออกมาตรการดังกล่าวหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ส่วนช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักวิเคราะห์หลายฝั่งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นเร็วกว่ายุโรป ประกอบกับมีรายงานช่วงกลางสัปดาห์ว่าตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 174,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ADP ยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนธันวาคม 2563 เป็นลดลง 78,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานลดลง 123,000 ตำแหน่ง นอกจากนั้น สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการบริการของสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 58.7 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากระดับ 57.7 ในเดือนธันวาคม และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 56.8 และไอเอชเอส มาร์กิต ได้เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.3 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในรอบเกือบ 6 ปี จากระดับ 54.8 ในเดือนธันวาคม ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ก็แนวโน้มดีขึ้น โดยยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3

สำหรับปัจจัยภายในประเทศคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคณะกรรมการประเมินว่า แม้ว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ แต่แรงกระตุ้นของมาตรการภาครัฐและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ไม่่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรก ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 47.8 ในเดือนมกราคม จากเดิมที่ 50.1 ในเดือนธันวาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ในไทยในขณะที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 64 อยู่ที่ 99.79 ลดลง -0.34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.09% จากเดิมธันวาคม 63 ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนมกราคม อยู่ที่ 100.47 เพิ่มขึ้น 0.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน “เงินเฟ้อเดือนมกราคม ที่ลด -0.34% มาจากปัจจัยหลักเรื่องราคาน้ำมันที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่า FT ที่รัฐมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิดที่ลดค่า FT ลง 15.32 สตางค์/หน่วย ซึ่งค่อนข้างส่งผลพอสมควร รวมทั้งกลุ่มข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียวที่ราคาลดลง” นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวพร้อมระบุว่าอัตราเงินเฟ้อได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะส่งผลให้ภาคการใช้จ่ายและการผลิตในเดือนนี้ชะลอตัว ซึ่งสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนมกราคม 64 ที่ต่างปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี แม้รายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการสนับสนุนและเยียวยาจากภาครัฐ ได้ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการช่วยหนุนการใช้จ่ายในระดับภูมิภาค แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปจากภาคการท่องเที่ยวได้ ซึ่งมีผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศค่อนข้างมาก ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29.90-30.12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/2) ที่ระดับ 30.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (1/2) ที่ระดับ 1.2133/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/1) ที่ระดับ 1.2111/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตลาดคลายความกังวลได้บ้างภายหลังจากที่นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยว่าบริษัทแอสตร้า เซนเนก้าได้ให้คำมั่นที่จะส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มเติมแก่ยุโรปอีก 9 ล้านโดส ในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่งผลให้ยอดรวมเป็น 40 ล้านโดสในไตรมาสแรก ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้แจ้งไว้ว่าจะส่งมอบเพียง 31 ล้านโดส เนื่องจากติดปัญหาด้านการผลิต ก่อนที่จะอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์สู่จุดต่ำสุดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 หลังมีการเปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ของสหภาพยุโรป ออกมาที่ร้อยละ -0.7 (เทียบไตรมาสต่อไตรมาส) แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 12.7 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลง ต่างจากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการขยายตัวมากขึ้น ถึงแม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของสหภาพยุโรป ออกมาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ในเดือนมกราคม ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของสหภาพยุโรป ออกมาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในเดือนมกราคม ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 นอกจากนั้น สถาบัน ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของสหภาพยุโรป ที่ระดับ 47.8 ในเดือนมกราคม ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

สำหรับอีกประเด็นที่น่าสนใจช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางอังกฤษจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน โดยมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.10% ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังประกาศคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 8.95 แสนล้านปอนด์ (1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1955-1.2134 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/2) ที่ระดับ 1.1978/80 ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (1/2) ที่ระดับ 104/64/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/1) ที่ระดับ 104.89/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนเข้าซื้อเงินสกุลเยนซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการที่นักลงทุนรายย่อยร่วมกันเอาชนะนักลงทุนรายใหญ่อย่างกองทุน Hedge Fund ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐผันผวนอย่างมาก นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังวางแผนตัดสินใจขยายระยะเวลาการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก จากดิมซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ โดยแม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเริ่มลดลง แต่โรงพยาบาลหลายแห่งกำลังเผชิญกับความกดดันเนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ซึ่งรวมถึง จังหวัดไอจิ โอซากา และฟูกโอกะ โดยมีจังหวัดโทจิงิเพียงแห่งเดียวที่เตรียมยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ หลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลงแล้ว ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.65-105.65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/2) ที่ระดับ 105.41/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ