“สันติ” รมช.คลัง สั่งปรุงบุหรี่บำรุงปอด หาพืชทดแทนช่วยชาวไร่ยาสูบ

สันติ พร้อมพัฒน์
สันติ พร้อมพัฒน์

รมช.คลัง สั่งการยาสูบฯ จับมือ บริษัทบุหรี่นอก ให้งบมหาวิทยาลัย ค้นคว้าวิจัยสมุนไพร เพื่อปรุงบุหรี่บำรุงปอด หวังได้พืชทดแทนช่วยเกษตรชาวไร่ พร้อมสั่งสรรพสามิต ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่อย่างรอบคอบ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ลงพื้นที่ไปดูข้อมูลของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ เพื่อหาพืชทดแทนให้กับชาวไร่ หลังมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ทำให้ชาวไร่ยาสูบมีรายได้ลดลง เช่น กัญชง กัญชา กระท่อม และพืชสมุนไพรอื่นๆ เป็นต้น แล้วให้ไปจับมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการค้นหาและวิจัยพืชสมุนไพรของไทยว่ามีตัวยาส่วนใดบ้างที่รักษาปอดได้ เนื่องจากต้องการลดผลกระทบจากการสูบบุหรี่ที่มีผลทำร้ายปอด ซึ่งจะนำพืชสมุนไพรที่ได้จากการวิจัยมาผสมใส่ในมวนบุหรี่ เพื่อบำรุงปอดให้กับผู้ที่ดูดบุหรี่ด้วย

“นอกจาก ยสท. แล้ว ยังมีบริษัทบุหรี่นอก ที่ได้หารือร่วมกัน เพื่อให้นำเงินมาสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมาบริษัทบุหรี่นอกก็มีการสนับสนุนการวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยทั่วโลกอยู่แล้ว จึงขอให้เอางบประมาณมาใช้วิจัยในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย เพื่อค้นหาตัวยาที่ใส่เข้าไปในบุหรี่แล้วชำละล้างสารต่างๆ ซึ่งตอนนี้บ้านเรายังขาดการวิจัยหลายอย่าง ทั้งที่ในบ้านเรามีทรัพยากรในแหล่งต่างๆ เยอะมาก”

ส่วนจะเห็นความชัดเจนเมื่อไหร่นั้น ยังไม่สามารถระบุได้ ซึ่งเพียงแค่การเริ่มดำเนินการก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นแล้ว โดย ยสท. และบริษัทบุหรี่นอก จะต้องไปหารือร่วมกันต่อไป อย่างไรก็ดี ยสท. ยังมีงบประมาณที่จะเข้าไปสนับสนุนส่วนนี้ได้ และจะไม่กระทบการนำส่งรายได้เข้าคลัง ซึ่งคาดว่าใช้งบในการวิจัยราว 100 ล้านบาท โดยหากมีการวิจัยแล้วได้ผลตอบรับดีจริง จะทำให้บุหรี่ได้รับความสนใจในแง่บวก แล้วจะส่งผลให้ผู้ประกอบการยาสูบมีกำไรเพิ่มขึ้นด้วย

พร้อมกันนี้ อาจจะมีการหารือร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ให้มากันพื้นที่ให้กับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ เช่น เดิมชาวไร่ปลูกยาสูบ 20 ไร่ แต่เมื่อขึ้นภาษีบุหรี่แล้วลดการปลูก เหลือเพียง 5 ไร่ ส่วนที่เหลือก็จะรวมเป็นวิสาหกิจชุมชน แล้วปลูกกัญชาระบบปิด ตามการควบคุมขององค์การเภสัชฯ เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบต่อไป

นายสันติ กล่าวว่า ยังไม่ได้พิจารณาปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่เหลือระดับเดียว  ซึ่งหากมีการปรับให้การจัดเก็บภาษีบุหรี่ลดลง องค์การอนามัยโลก (WHO) อาจจะไม่เห็นด้วย และสาธารณะสุขในประเทศไทย ก็จะไม่เห็นด้วยเหมือนกัน ส่วนสาเหตุที่ผ่านมาขึ้นภาษีบุหรี่นั้น เนื่องจาก WHO มองว่าไทยมีการสนับสนุนให้ประชาชนมีการสูบบุหรี่มากเกินไป แล้วไปส่งเสริมให้เด็กอายุ 12-15 ปี เข้ามาสูบบุหรี่ จึงได้มีการติดรูปภาพผลเสียจากการสูบข้างซองบุหรี่ เพื่อเป็นการเตือนผู้บริโภค แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมการสูบบุหรี่ได้ จึงได้มีการแก้ปัญหาด้วยการขึ้นภาษีบุหรี่ ซึ่งทำให้การสูบบุหรี่ลดลงมา แต่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการยาสูบ อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีบุหรี่ได้เฉลี่ยเพียง 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านงบประมาณ

“ราคาภาษีบุหรี่ ผู้ค้าบุหรี่นอกก็โจมตีทุกวันว่าอยากลด ถ้าเราลด เรื่องสุขอนามัย ใครจะรับผิดชอบ เพราะคนกลุ่มหนึ่งของประเทศไทยก็จะต่อว่าว่าลดทำไม ฉะนั้น การจะปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ต้องคิดดีๆ ซึ่งก็ได้มอบนโยบายให้สรรพสามิตแล้ว ว่าขอให้ทำอย่างรอบคอบ”