สภาพัฒน์ชี้ เศรษฐกิจไทยปี’63 ติดลบ 6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี

เงินบาท-เศรษฐกิจไทย

สภาพัฒน์ ชี้เศรษฐกิจไทยปี’63 ติดลบ 6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี คาดปี’64 โต 3% แต่ก็ยังไม่กลับสู่ศักยภาพอย่างเต็มที่ ชี้ยังมีปัญหาความเสี่ยงอีกมาก รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบใหม่ในไตรมาส 1/64 นี้ด้วย

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2563 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 ว่า จีดีพีไตรมาส 4/2563 ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนแต่หดตัวลง 4.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

โดยเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวจากในเรื่องของการอุปโภคและบริโภคภาครัฐ และเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่งผลให้จีดีพีปี 2563 หดตัว ลบ 6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้กระทบกับภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจภายในประเทศ การเมืองภายในประเทศยังไม่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ สศช.ได้คาดการณ์จีดีพีปี 2564 คาดว่าขยายตัวอยู่ที่ 2.5% – 3.5% มีค่ากลางที่ 3%  ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในช่วง 3.5% – 4.5% เนื่องจากยังมีผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบใหม่ ในไตรมาส 1 ของปีนี้อยู่

และคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเพียง 3.2 ล้านคน ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 ลดลงจากประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าจะกลับมา 5 ล้านคน

ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณ 2564 คาดว่าอยู่ที่ระดับ 93.5% ลดลงจากประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 94.4% โดยเป็นผลจากไตรมาส 4 ของปี 2563 มีการเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย พร้อมกันนี้ คาดว่าการเบิกจ่ายพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะสามารถเบิกจ่ายได้เพียง 80% ซึ่งล่าสุดเบิกจ่ายไปแล้ว 55%

“เศรษฐกิจปี 2564 ที่คาดว่าโต 3% ยังถือว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่กลับเข้าสู่ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่ ยังมีปัญหาความเสี่ยงอีกมาก รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1 ของปีนี้ด้วย” นายดนุชากล่าว