เปิดเบื้องหลัง “โกดังพักหนี้” สู่แผน “ซ่อมสร้าง-ฟื้นฟู” ธุรกิจ

ปิติ ตัณฑเกษม

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดตั้งแต่ปี 2563 มาถึงปัจจุบันวิกฤตโรคระบาดยังไม่สิ้นสุด ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจต่างได้รับความเดือนร้อนทั่วหน้า ขณะที่การฉีด “วัคซีนโควิด” ในประเทศไทยกำลังเริ่มต้น แต่สำหรับ “วัคซีนเศรษฐกิจ” ยังเป็นโจทย์ท้าทายที่ยังไม่มีคำตอบชัด

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบีทั้งในฐานะกรรมการสมาคมธนาคารไทย และประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ศบศ.

ถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง ในการออกแบบมาตรการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลที่ทยอยออกมาเป็นซีรีส์ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ที่จะมาเล่าถึงแผนการ “ซ่อมสร้าง-ฟื้นฟู-ปฏิรูป” เศรษฐกิจไทยหลังสึนามิโควิด-19

กลุ่มแบงก์ชงแผนแก้วิกฤต

นายปิติเปิดประเด็นว่า ในปีที่ผ่านมาที่มีการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปีที่ท้าทายค่อนข้างมากสำหรับภาคอุตสาหกรรมธนาคาร เช่นเดียวกับปีนี้ ทำให้ภาคธนาคารมีการคุยกันภายใต้สมาคมธนาคารไทย (TBA) ซึ่งนำโดยนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคม ได้จัดทีมร่วมกันเขียนแผนเพื่อเสนอต่อรัฐบาล กึ่ง ๆ โรดแมปว่า ประเทศไทยไม่ควรมองเฉพาะปัญหาโควิด-19 อย่างเดียว

แผนที่เสนอต่อรัฐบาลจะประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ 1.restructure (ปรับปรุง) 2.revive (ฟื้นฟู) และ 3.reform (ปฏิรูป) ภายใต้แผนนี้จะบอกถึงบทบาทแบงก์ที่สามารถเข้าไปเป็นกลไกช่วยเหลืออย่างไร รวมถึงข้อเสนอที่ต้องการเห็นรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาช่วยตรงไหน เป็นเหมือนแผนซ่อมสร้าง-ฟื้นฟูและปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ

โดยแผนที่เสนอเป็นการคุยผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มีรองนายกฯสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ร่วมรับฟัง ต้องถือว่า ศบศ.เป็นกลไกการทำงานในขณะนี้ โดยที่สมาคมธนาคารเป็นคนเขี่ยบอลขณะที่คุณผยงก็อยู่ในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อยู่แล้ว ก็สามารถสื่อสารกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย เพื่อให้เห็นภาพเดียวกัน

“Don’t waste good crisis คือถ้าไม่มีวิกฤต การคุยเรื่องพวกนี้คงไม่มีใครสนใจ แต่สถานการณ์ตอนนี้ผลัดไม่ได้แล้ว สิ้นสุดทางเลื่อน ประเทศต้องเดินต่อไป ดังนั้น ภาคเอกชนต้องนำเสนอ จะหวังให้รัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นคนอยู่หน้างาน ไม่ได้ทำธุรกิจอย่างพวกเราจะมีไอเดียคงไม่ได้ ถ้าภาคธุรกิจคิดไม่ได้ จะหวังให้รัฐบาลคิดให้คงเป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้ต้องเป็นนักธุรกิจที่ฟาดฟันอยู่ในสมรภูมิเป็นผู้นำเสนอ”

ปิติ ตัณฑเกษม

เบื้องหลังโมเดล “แช่แข็งหนี้”

“เรื่องเร่งด่วนคือการ restructure ปรับโครงสร้างหนี้ หรือบริษัทที่มีปัญหา หรือแม้กระทั่งยอมรับความจริงในการฌาปนกิจอย่างเป็นระบบ เพราะถ้าเกิดอุตสาหกรรมไหนไปไม่ได้ เพราะการใช้ทรัพยากรของชาติ การใช้ภาษีลงไปอุ้มเรื่อย ๆ จะแพงกว่าไปช่วยกลุ่ม ซึ่งเป็นบริษัทที่ไปต่อได้ แต่อาจจะลำบากช่วงนี้”

นายปิติขยายความว่า ในการปรับโครงสร้างหนี้ต้องมาดูว่า จะทำให้กลุ่มที่ไม่น่าจะได้ไปต่อ ไม่ต้องถูกฟ้องระเนระนาด แต่ค่อย ๆ ย่อยอย่างเป็นระบบ หรือถ้าไปต่อไม่ได้จริง ๆ ต้องฌาปนกิจ ก็ต้องเอาเข้าห้องแช่แข็งไว้ก่อน เพราะถ้าเอามาเรียงไว้หน้าเมรุคงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเรียงคิวแช่แข็ง หรือว่านอนในไอซียูหวังฟื้น จนกระทั่งขึ้นเมรุเผา เรียงลำดับไล่ไป

กลุ่มธุรกิจโรงแรม ถือเป็นกลุ่มที่กระทบหนักสุด เพราะว่าประเทศไทยส้มหล่นจากการที่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา โรงแรมเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งต้องยอมรับว่าลูกหนี้และผู้ประกอบการจำนวนมากไปต่อไม่ได้ และยังมีซัพพลายเชนของธุรกิจท่องเที่ยวอีกมาก สภาพตอนนี้ตั้งแต่ 5 ดาว ยันดาวเดียวตายหมด ทุกคนต้องการเวลา ดูว่าจะกลับมาได้เท่าไหร่ และใครไปต่อได้ ไปต่อไม่ได้

ดังนั้น จึงเกิดแนวคิด asset warehousing คือ ยกเข้าช่องแช่แข็งทั้งยวงและค่อยละลายออกมาตามสภาวการณ์ เพราะแบงก์ก็ไม่ได้อยากได้โรงแรม และการยึดก็สร้างต้นทุนทั้งระบบ ทั้งแบงก์ ลูกหนี้ และศาล แทนที่จะสู้กัน จึงหาทางร่วมมือกันดีกว่า โดยให้ลูกหนี้ “ตีโอนสินทรัพย์ให้แบงก์” ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องกลับมาซื้อคืนในช่วงเวลาหนึ่ง สมมติ 5 ปี ลูกหนี้มีสิทธิซื้อคืนได้ตลอดเวลา

ต่อชีวิตธุรกิจโรงแรม

นอกจากนี้ มีการเสนอให้ภาครัฐจัดวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) มาให้ด้วย อาจจะต้นทุนต่ำใกล้เคียง 0% ขณะที่ธนาคารมีค่าดำเนินการนิดหน่อย จึงคิดเป็น “ค่าเช่าสินทรัพย์กลับ” เพราะลูกค้าไม่มีดอกเบี้ยสินเชื่อแล้ว

ดังนั้นจากที่โรงแรมต้องจ่ายเงินต้น-ดอกเบี้ยไม่ไหว เมื่อตีโอนทรัพย์ให้แบงก์แล้ว จึงมาคิดค่าเช่าถูก ๆ จากที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย 5% เหลือ 1% ขณะที่ไม่มีภาระเงินต้น หนังคนละม้วนแล้ว จากเดิมที่ต่อให้ยืดหนี้ไปจนเปิดประเทศ โอกาสที่จะจ่ายเงินต้นก็ยังเป็นไปไม่ได้

“นี่คือการ restructure กันยาว ๆ ให้จ่ายค่าเช่าถูก ๆ กี่ปีก็ว่าไป นี่เป็นการสร้างเครื่องมือให้แบงก์คุยกับลูกหนี้ทำแบบนี้แบงก์ก็ไม่ต้องฟ้องยึดทรัพย์ ไม่ต้องตั้งสำรองให้วุ่นวาย ลดความปั่นป่วนของระบบ พอนักท่องเที่ยวเริ่มฟื้นกลับมาก็จะเริ่มเห็นแล้วว่าใครไปได้ ใครไปไม่ได้”

นายปิติย้ำว่า โมเดลนี้สิ่งที่ลูกหนี้ได้คือ “ไม่ต้องจ่ายต้น” เพราะยกสินทรัพย์ให้แบงก์แล้ว แต่คิดเป็นการจ่ายค่าเช่าถูก ๆ และเอาสินทรัพย์มาทำมาหากินได้ สิ่งที่ลูกหนี้เสีย คือสินทรัพย์ ถ้าไม่กลับมาเอาตามเวลาที่กำหนด แบงก์สามารถเอาไปขายได้

ส่วนสิ่งที่แบงก์ได้คือ “ค่าเช่า” ราคาถูกจากลูกหนี้ เพราะแบงก์ไม่อยากได้สินทรัพย์ และไม่อยากได้เอ็นพีแอล แต่อยากให้โอกาสลูกหนี้ และไม่ต้องการให้เกิด moral hazard (วัฒนธรรมจงใจเบี้ยวหนี้) เพราะถ้าแจกเงินฟรี ทุกคนจะแกล้งเป็นเอ็นพีแอล

BAM-SAM “แก้มลิง” หนี้เสีย

นอกจากนี้ ทางสมาคมแบงก์ได้เสนอให้รัฐเพิ่มทุน หรือช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้กับบมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM และ บมจ. บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM เพราะทั้ง 2 บริษัทถือเป็น National AMC ของประเทศในการบริหารจัดการหนี้เสีย ถ้า BAM และ SAM สามารถมาซื้อเอ็นพีแอลจากระบบมากขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นแก้มลิงรอรับหนี้เสีย

เพราะทั้ง 2 บริษัทมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการประมูล จัดมหกรรมขายทรัพย์ และไฟแนนซ์ ซึ่งจะทำให้กลุ่ม restructure ซ่อมสิ่งที่พังไปแล้วไม่ให้ล้มระเนระนาด และความเสียหายจะได้บรรเทาลง

สร้างแต้มต่อ “คนตัวเล็ก”

นายปิติเล่าต่อว่า แกนที่ 2 คือ revive คือ ทำอย่างไรให้ภาคเศรษฐกิจเดินต่อไปได้ ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป และมีการพูดคุยกันว่า ทุกอย่างไม่ควรโยนใส่แบงก์ ใส่รัฐบาล หรือแบงก์ชาติ ภาคธุรกิจก็ต้องคิดใหม่ และมีการฟื้นฟูในหมู่ซัพพลายเชนกันเอง

โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แม้จะไปต่อได้ แต่ก็ยากลำบาก เพราะเป็นคนตัวเล็ก โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้า จึงคุยกันว่าจะต้องมีกติกาใหม่ ในการกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อ (credit term) ชัดเจนว่าห้ามเกินกี่วัน ควรมีหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับข้อตกลงservice level agreement เอาสินค้ามา คุณต้องตรวจเสร็จในกี่วัน จะจ่ายในกี่วัน และเสนอทำเป็นกฎหมายเลย ซึ่งทางสภาหอฯและสภาอุตฯก็เห็นด้วย

“ประเทศพัฒนาแล้วมีเรื่องนี้กันหมด เพื่อคุ้มครองธุรกิจขนาดเล็กไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากทุนนิยม เป็นกฎกติกาการแข่งขันให้เดินไปอย่างมีสมดุล”

คลอดสินเชื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

อีกเรื่องที่ต้องทำช่วยคนตัวเล็ก คือ “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” (ซอฟต์โลน) ภาค 2 เนื่องจากซอฟต์โลนภาค 1 ถูกออกแบบภายใต้สมมติฐานโควิด-19 มาเร็วไปเร็ว แต่ปรากฏว่าโควิด-19 มานานและลากยาว ความต้องการจึงเปลี่ยนไป เงินต้องเยอะขึ้น ความเสี่ยงต้องสูง ซึ่งที่ผ่านมารับประกันความเสียหายแค่ 30% ขณะที่โอกาสเจ๊งสูง ทำให้แบงก์ก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ

ดังนั้น ซอฟต์โลนภาค 2 จะเป็นการช่วยฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเดินได้ แต่อาจจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” เพราะซอฟต์โลนภาค 1 เหมือนยืมเงินฉุกเฉิน เพราะลืมกระเป๋าตังค์จากบ้าน แต่ครั้งนี้เหมือนตกงานแล้วกลับบ้านไปก็ไม่มีตังค์มาคืนอยู่ดี

New S-curve ของคนสูงวัย

นายปิติฉายภาพว่า แกนสุดท้าย คือ การปฏิรูป (reform) จะทำอย่างไรให้มีภาพเศรษฐกิจใหม่ ที่จะทำให้ธุรกิจไปต่อได้ ความท้าทายมากที่สุด คือ new S-curve ที่พูดกัน จะทำยังไงให้จับต้องได้จริงและเกิดขึ้นได้เร็ว

สำหรับ new S-curve ในภาคอุตสาหกรรมอย่างรถยนต์ไฟฟ้า หรืออุตฯเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็ว่ากันไป แต่สิ่งที่เสนอ คือ new S-curve ที่ต้องมาคู่กับ aging economy อาชีพอะไรที่ทำให้คนสูงอายุทำได้ เพราะประเทศไทยเข้าใกล้สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เช่น ภาคบริการ ที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมาก แต่สามารถใช้แรงงานคนไทยที่อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำสิ่งที่เป็นมูลค่าเพิ่ม เป็นเอสเอ็มอีที่มีมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่เอสเอ็มอีภาคการผลิตอย่างเดียว

ภาคบริการที่เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 40 ล้านคน ก็ต้องคิดใหม่ เอาแค่ 10-15 ล้านคน เน้นขายการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ราคาสูง หรือการสร้าง story telling คนไทยมีฝีมือคนไทยเป็นศิลป์มากกว่าเป็นวิทย์ เมืองไทยมีเสน่ห์ ทำไมถึงเอาทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามไปแลกในราคาถูก


สำหรับเรื่องการปฏิรูปคงต้องใช้เวลาชั่วชีวิตคือต้องทำไปเรื่อย ๆ อย่างสิงคโปร์ก็ใช้แนวคิดว่า continuous reform เพราะโลกมันเปลี่ยนตลอด