ซีอีโอ​ TMB ชี้เศรษฐกิจ​ไทยสิ้นสุดทางเลื่อน​ เร่งฉีดวัคซีนปิดจุดอ่อน 6 ด้าน

ปิติ ตัณฑเกษม

ซีอีโอ​ “ทีเอ็มบี” ชี้เศรษฐกิจ​ไทยสิ้นสุดทางเลื่อน​ แนะเร่งฉีดวัคซีนเศรษฐกิจปิดจุดอ่อน​ 6 ด้าน สร้างภูมิคุ้มกัน

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี)​ ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ”คนละครึ่ง” “เราชนะ”  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอมาตรการบริหารเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ของศบศ.  กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า​  วิกฤตครั้งนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยสุดสิ้นทางเลื่อน เพราะหลังวิกฤตประเทศไทยจะต้องปรับตัว ตื่นตัว เพื่อจะสามารถทำให้สามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ จากที่ผ่านมา​โตต่ำกว่าศักยภาพ แต่พูดสวยหรูว่า​ เรามีศักยภาพสูงกว่านั้น

ฉีดวัคซีน​แก้จุดอ่อนเศรษฐกิจไทย

นายปิติ​ กล่าว​ว่า​ หากย้อนมาดู​ เปรียบเทียบ​กับประเทศที่แข็งแรงกว่า พบว่า​ จุดอ่อนของประเทศไทย​ มี 6 ด้าน​ ซึ่งต้องฉีดวัคซีน​เพื่อ​สร้าง​ภูมิคุ้มกัน​ ได้แก่ 1.โครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการจ้างงานจากภาคธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างเปราะบางเหลือเกิน

2.ไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาเกือบ 20 ปี

3.โครงสร้างรายได้ การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลค่อนข้างกระจุกตัวมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษีนิติบุคคล ภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม

4.เศรษฐกิจไทยกระจุกตัวอยู่ไม่กี่จังหวัด

5.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยยังเป็นการลงทุนแบบเดิมๆในโครงการถนน รถฟฟ้า ไม่ใช่สำหรับธุรกิจในอนาคตของประเทศ

และ 6.ความสะดวกในการทำธุรกิจไทยยังมีปัญหาอยู่มาก ซึ่งทั้งหมดล้วนต้องการวัคซีนป้องกัน

ต้องเพิ่ม​ “รายได้ต่อหัว” มากกว่าปั๊มจีดีพี

นายปิติ​ กล่าวว่า​ ไทยมีมูลค่าเศรษฐกิจต่อประชากร (GDP Per Capita) อยู่อันดับ 70-80 หายใจรดต้นคอประเทศ “กาบอง” นับว่าแปลกมาก​ เพราะในขณะที่​ดัชนี​หลายตัวติดอันดับต้นๆ  แต่รายได้ประชากรต่อหัวกลับน้อยมาก

โดยจากการจ้างงานของประเทศทั้งหมด 38 ล้านคน พบว่าเป็นการจ้างงานของบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 0.2% ของบริษัทในประเทศไทยทั้งหมด โดยมีการจ้างงาน 13%   ขณะที่ผู้ใช้แรงงานในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมีการจ้างงาน 46%   และการจ้างงานในภาคเกษตร 32% ส่วนที่เหลือ 9% อยู่ในภาครัฐ

ส่วนการลงทุนมาจากภาคเอกชนมูลค่า 6 ล้านล้านบาท  พบว่าบริษัทใหญ่ยังเป็นหัวรถจักรเหล็กในการขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศสัดส่วนกว่า 80% อาทิ ปตท., ปูนซิเมนต์ไทย เป็นต้น

ส่วนอีก 20% อยู่ในธุรกิจเอสเอ็มอี  โดยตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ประมาณ 15.7 ล้านล้านบาท จะเห็นว่าสัดส่วนการจ้างงานของบริษัทขนาดใหญ่ 13%  สร้างรายได้ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประมาณ 43% ของจีดีพี ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีการจ้างงาน 46%  สร้างรายได้ใกล้เคียงกันที่ 42.4%

“แต่ผมไม่อยากให้เราสนใจคำว่าจีดีพีมาก จีดีพีเหมือนรายได้ เราอยากมีรายได้เยอะ ๆ แต่มีกำไรน้อย ๆ ไหม ตอนนี้เราส่งออกรถยนต์ ดีใจได้จีดีพี แต่ถามว่ามันตกอยู่ในมือคนไทยเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับธุรกิจโรงแรมที่มีรายได้ตกไปอยู่ในมือคนไทยแทบทั้งหมด

ดังนั้น ถ้าคนจำนวนมากได้เงินจำนวนน้อย เพราะว่าผลิตจีดีพีเท่ากับบริษัทใหญ่ ซึ่งรายได้ถูกส่งไปยังผู้ถือหุ้น ถูกส่งไปยังพนักงานบางส่วน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้จีดีพีต่อประชากร (GDP per Capita) ของคนไทยยังต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่เรามีความอ่อนแอ และต้องการวัคซีน” นายปิติกล่าว