เดอะมอลล์ แนะรัฐจัดเก็บภาษีรีเทลอีคอมเมิร์ซ-หั่นแวตลงเหลือ 5% 2 ปี

เดอะมอลล์ แนะรัฐจัดเก็บภาษีรีเทลอีคอมเมิร์ซ พร้อมหั่นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จาก 7% เหลือ 5% ลง 2 ปี เพื่อสร้างวัคซีนฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด หวังปั้นไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งระดับโลก (World Class Shopping Paradise)

วันที่ 17 มีนาคม 2564 นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป เปิดเผยในงานสัมมนา “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวทางการสร้างวัคซีนเศรษฐกิจเพื่อป้องกันประเทศให้เดินหน้าต่อไปหลังจากนี้ ในหัวข้อ “พลิกเกม พลิกอนาคต” ว่า

การระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้เปรียบเสมือนสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจโลกให้มีความไม่แน่นอนไปอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ในส่วนของกลุ่มธุรกิจรีเทลได้รับผลกระทบไปทั่วโลก และปิดตัวลงกว่า 1.4 หมื่นสาขาในปีที่ผ่านมา

“ธุรกิจรีเทลทั่วโลกโดนดิสรัปต์จากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเข้ามาของโควิดทำให้ภาพของรีเทลทั่วโลกถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก”

ด้านภาพรวมประเทศไทยมองว่าปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบหนักจาก 4 วิกฤตใหญ่ ได้แก่ การดิสรัปต์ของเทคโนโลยี, การระบาดของโควิด-19, ผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาทางการเมือง ซึ่งนับจากนี้จะทำอย่างไรเพื่อฟื้นประเทศจากวิกฤตดังกล่าวให้ได้

โดยประเมินว่าในช่วง 6 เดือนนับจากนี้ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนไป ทั้งในเรื่องของมาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ จะมีประชาชนตกงานเพิ่มมากขึ้น และจีดีพีของประเทศจะติดลบอีกครั้ง

ADVERTISMENT

สำหรับหนึ่งในข้อเสนอหลักที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งผลักดัน คือ การปั้นไทยเป็นศูนย์กลางด้านต่าง ๆ ทั้ง บันเทิง, วัฒนธรรม, การท่องเที่ยว, สุขภาพ รวมไปถึงเรื่องของการปั้นไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งระดับโลก (World Class Shopping Paradise) พร้อมทั้งปั้นเขตการช้อปปิ้ง (Shopping Districs) ที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างรายได้ผลกำไรควบคู่กับการดึงนักลงทุนใหม่เข้าประเทศ สู่การเป็น Revenue Market ในการผลักดันรายได้ภายในประเทศหลังการระบาดผ่านพ้นไป

นอกจากนี้ยังอยากให้ภาครัฐปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 5% ในช่วง 2 ปี นับจากนี้เพื่อช่วยกระะตุ้นการจับจ่ายหลังโควิด-19 หลังจากที่ผ่านมาการเข้ามาของนักท่องเที่ยวในไทยไม่ได้สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจและประเทศมากนัก เนื่องจากสินค้ามีราคาแพง ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพียงใช้ทรัพยากรในประเทศให้สูญเปล่าโดยที่ไม่มีการช้อปปิ้ง

ADVERTISMENT

“นอกจากเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังมีเรื่องของภาษีสินค้าแฟชั่นที่ปัจจุบันอยู่ราว 37% เหลือ 15% เพื่อช่วยเหลือเรื่องราคา ลดต้นทุน ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อสินค้า หวังสร้างวัคซีนทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ หลังภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวหลังโควิด”

ขณะที่การเข้ามาของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เติบโตอย่างมากในปีที่ผ่านมา ก็ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจรีเทลในประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่วนของแพลตฟอร์มรีเทลอีคอมเมิร์ซยังไม่มีการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นทางการ ทำให้มีข้อได้เปรียบเรื่องราคา จึงอยากให้ภาครัฐเร่งพิจารณาทบทวนการจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการแข่งขัน

นางสาวศุภลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะที่การเข้ามาของวัคซีนและเริ่มทยอยฉีดให้ประชาชน มองว่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นเศรษฐกิจและภาพรวมอารมณ์การจับจ่ายในประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้วัคซีนที่เข้ามามีหลายแบรนด์ เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกให้ประชาชนในการเข้าถึงวัคซีนมากกว่านี้ เพราะหากยิ่งทางเลือกวัคซีนมีมากเท่าไร การระบาดของโควิดในไทยก็จบเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น

“ในต่างประเทศ อาทิ ดูไบ ฯลฯ มีการนำเข้าวัคซีนหลากหลายบริษัทที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ให้ประชาชนได้มีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งหากเปิดโอกาสดังกล่าวแล้วมองว่าการระบาดของโควิดในไทยจะจบได้ในเดือนตุลาคมนี้”