โควิดฉุดยอดรูดปรื๊ด Q1 ร่วง 15% “เซ็นทรัล เดอะวัน” หันจับลูกค้าพรีเมี่ยม

วิกฤตโควิดฉุดยอดรูดปรื๊ด Q1 ร่วง 15% “เซ็นทรัล เดอะวัน” หันจับลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยม

บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน กางแผนธุรกิจบัตรเครดิตปี 64 มองธุรกิจเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจ-โควิด กระทบยอดใช้จ่ายไตรมาส 1 หดตัว -5-15% คาดทั้งปีทั้งระบบพลิกเป็นบวก 5-20% หากไม่มีล็อกดาวน์ พร้อมตั้งเป้าเติบโตยอดบัตรใหม่ 8.2 หมื่นใบ หรือเติบโต 5% ยอดใช้จ่าย 7.75 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 9% เล็งขยายกลุ่มพรีเมียมเป็น 10% จาก 7%ปักกลยุทธ์ 3 เสาหลัก เน้นขยายช่องทางผ่านดิจิทัล-ทำโปรโมชั่นแบบ New Normal-บริหารโปรดักต์ตอบโจทย์ลูกค้า เผย ผลงานปี 63 ยอดลดลงแต่ดีกว่าตลาดทั้งระบบ

นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน และประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต-สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2564 ยังมีความท้าทายจากผลกระทบโควิด-19 ภายใต้เศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) ไม่ได้เติบโตมาก โดยเฉพาะเซ็กเมนต์ลูกค้าทั่วไป (Mass) ที่เห็นการชะลอตัวชัดเจน โดยสะท้อนผ่านการใช้จ่ายในไตรมาสที่ 1 ที่มีอัตราการเติบโตหดตัว -5-15% และคาดว่าทั้งปีหากไม่มีการประกาศล็อกดาวน์เพิ่มเติมสถาบันการเงินจะมีการเติบโตเป็นบวกได้ คาดว่ายอดใช้จ่ายจะเติบโต 5-20% และยอดบัตรใหม่เติบโต 5-10%

ขณะที่เป้าหมายธุรกิจของบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน ในปี 2564 ยังคงอยู่ในหมวดการฟื้นฟู และคงไม่ได้อยู่ในหมวดการเติบโตเต็มที่ เนื่องจากต้องระมัดระวังหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าจากผลกระทบโควิด-19 โดยตั้งเป้าการเติบโตฐานลูกค้าบัตรใหม่อยู่ที่ 8.2 หมื่นใบ หรือเติบโต 5% และยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 7.75 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 9% และยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.15 หมื่นล้านบาท และยอดสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนลูกค้าพรีเมียมจาก 7% เป็น 10%

อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสที่ 1 คาดว่าการเติบโตคงหดตัวติดลบ เพราะมีการล็อกดาวน์ช่วงระบาดระลอกใหม่ แต่ในช่วงเดือนมีนาคมเริ่มเห็นสัญญการใช้จ่ายที่ดีขึ้น โดยไตรมาสที่ 2 น่าจะกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ ขณะที่ แนวโน้มหนี้เอ็นพีแอล ยอมรับว่ามีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้มีมาตรการช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้การไหลของเอ็นพีแอลถูกยืดออกไป แต่หลังหมดมาตรการคาดว่าจะเริ่มเห็นลูกค้าที่ยังชำระไม่ไหวมากขึ้น

สำหรับกลยุทธ์ในปีนี้ บริษัทเตรียมผนึกกำลังกับพันธมิตร และเครือกรุงศรี กับเครือเซ็นทรัลในทุกมิติ เพื่อปรับกลยุทธ์การบริหารพอร์ต ผลิตภัณฑ์ การขาย และการตลาดให้ตอบโจทย์พฤติกรรม New Normal ของผู้บริโภคยุคใหม่ให้ดียิ่งขึ้น โดยผ่านกลยุทธ์หลัก 3 เสาหลัก ได้แก่ 1.เสริมสร้างช่องทางขายและประสบการณ์ดิจิทัล โดยการทำ Digital Lending ผ่านแอป เช่น KMA, UCHOOSE, การหาบัตรใหม่ผ่าน Referral Model ผ่านแอป The 1, การใช้ AI มาทำโปรโมชั่นแบบ Personalized ให้ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น

และ 2. การทำการตลาดและโปรโมชั่นแบบ New Normal โดยเร่งยอดใช้จ่ายผ่านบัตรแบบ Omni Channel มีโปรโมชั่นครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์, การทำการตลาดรูปแบบใหม่ ด้วยการทำกิจกรรมเล่นเกมผ่านแอปและ Street Art เพื่อขยายการใช้บัตรไปทั้งเครือ Central, เจาะเข้ากลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในเครือเซ็นทรัล และ 3. การบริหารผลิตภัณฑ์และสิทธิประโยชน์บัตรให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น เช่น การปรับกลยุทธ์ในการดูแลลูกค้ากลุ่มพรีเมียม, เร่งเพิ่มจำนวนบัตรและการใช้บัตรไร้สัมผัส, ร่วมพัฒนาระบบชำระเงินผ่านบัตรรูปแบบใหม่ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัลและคิวอาร์เพย์เมนต์ กับ Dolfin, The 1 และ UCHOOSE เป็นต้น

“ปีนี้ยังเป็นปีที่ท้าทายภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทุกคนคาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัว 3% ซึ่งเราเห็นแนวโน้มที่ลูกค้ากลุ่มแมส เริ่มชะลอการใช้จ่ายลง ขณะที่ลูกค้ากลุ่มพรีเมียม ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการบริหารพอร์ต บริหารผลิตภัณฑ์ การขาย และการตลาดแบบใหม่ เพื่อให้ก้าวทันสถานการณ์และตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าธุรกิจน่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง”

สำหรับผลการดำเนินการปี 2563 พบว่า มีอัตราการเติบโตเป็นที่น่าพอใจ แม้ธุรกิจจะได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์ แต่ก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และแม้มีการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปี แต่ก็ยังรักษาอัตราเติบโตได้ดี โดยยอดใช้จ่ายในเดือนธันวาคม 2563 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานนับว่าดีกว่าตลาด

โดยจำนวนบัตรใหม่อยู่ที่ 7.65 หมื่นใบ ลดลง -44% เมื่อเทียบปีก่อน แต่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรไม่ได้รับผลกระทบมากนักอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท ลดลง -4% เทียบปีก่อน และยอดสินเชื่อคงค้าง 2.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 3% ซึ่งหมวดที่มีการใช้จ่ายสูงจะสอดคล้องกับภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิต ได้แก่ บริการส่งอาหารเติบโต 250% ร้านค้าออนไลน์ 66% ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ต 26% และประกันภัย 15% ส่วนหมวดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวันที่เติบโตสูง แยกตามหน่วยธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ Central App เติบโต 255% JD.com 101% ไทวัสดุ 23% และท็อปส์ 12%


“ในปีที่ผ่านมาธุรกิจบัตรเครดิตไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจชะลอตัวลง โดยข้อมูลจากธปท. ชี้ให้เห็นว่า ในปี 63 จำนวนบัตรเครดิตทั้งธุรกิจ เติบโตเพียง 2% ในขณะที่ยอดหนี้คงค้างลดลง -2% ส่วนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรลดลงถึง -19% ถือว่าเป็นการติดลบในรอบ 21 ปีตั้งแต่ทำธุรกิจบัตรเครดิตมา เนื่องจากทุกปีจะขยายตัว”