ธปท. เปิดยอดพร้อมเพย์-เพย์นาวแตะ 11 ล้าน ชี้ Q3 จ่อทบทวนค่าฟีใหม่

ธปท.ชี้ยอดธุรกรรม Promptpay-Paynow ของสิงคโปร์ เปิดบริการ 6 วัน มีธุรกรรม 3,000 รายการ มูลค่ากว่า 11 ล้านบาท เร่งติดตามยอดธุรกรรม-สถาบันการเงินเข้าร่วม เผยความต้องการใช้เยอะพร้อมทบทวนค่าธรรมเนียมไตรมาส 3/64 จากกำหนด 150 บาทต่อรายการ เล็งเจรจาประเทศเชื่อม QR Code เพิ่มคาดเห็นมาเลเซียปีนี้

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 นางสาวสิริธิดา พนวมัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายหลังธปท.ร่วมมือกับธนาคารกลางสิงคโปร์ เปิดให้บริการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในรูปแบบ Real-time Cross-Border Fund Transfer ระหว่างการเชื่อมโยงการชำระเงินรายย่อยของ Promptpay และ Paynow ของสิงคโปร์โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้ที่ลงทะเบียนไว้ก็สามารถส่งเงินไปยังผู้รับเงินปลายทางได้ทันทีเช่นเดียวกับการโอนเงินในประเทศ

ทั้งนี้ ภายหลังการเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 พบว่า ยอดธุรกรรมการเปิดบริการภายใน 6 วัน (29 เม.ย.-4 พ.ค.64) มีธุรกรรมจำนวน 3,000 รายการ มูลค่า 11 ล้านบาท เฉลี่ยรายการละ 3,700 บาท ซึ่งธปท.และสิงคโปร์อยู่ระหว่างการติดตามอย่างใกล้ชิดถึงปีริมาณธุรกรรม และสถาบันการเงินที่ต้องการเข้าร่วมมากน้อยขนาดไหน จากปัจจุบันมีธนาคารไทยร่วมอยู่ 4 แห่ง และธนาคารในสิงคโปร์ 3 แห่ง

อย่างไรก็ดี หากปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะ ธปท.จะมีการทบทวนเรื่องการขยายเพดานวงเงินการโอนเงิน จากเดิมกำหนดไทยโอนไปสิงคโปร์อยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวันต่อธนาคาร และสิงคโปร์มาไทยกำหนดอยู่ที่ 25,000 บาทต่อรายการต่อธนาคาร รวมถึงจะมีการทบทวนเรื่องค่าธรรมเนียมในไตรมาสที่ 3 จากปัจจุบันกำหนดอยู่ที่ 150 บาทต่อรายการ แต่ในช่วงโปรโมชั่นอยู่ที่ 75 บาทต่อรายการ (ถึง 31 ก.ค.64) ถือเป็นราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ และถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับการโอนเงินต่างประเทศที่ปัจจุบันคิดกันเฉลี่ยอยู่ที่ 300-1,000 บาทต่อรายการ

สำหรับการขยายความร่วมมือในประเทศอื่นๆ นั้น ธปท.กำลังดูอยู่ แต่การร่วมมือผ่านการเชื่อมระบบการโอนเงินจะมีความซับซ้อนมากกว่าการร่วมมือการเชื่อมระบบการชำระเงินผ่านรูปแบบ QR Code เนื่องจากประเทศที่จะร่วมมือในการโอนเงินจะต้องมีระบบ Fast Payment ซึ่งปัจจุบันนอกจากสิงคโปร์ จะมีประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

“ตอนนี้เราเน้นเรื่องการโอนเงินระหว่างบุคคลรายย่อยก่อน และสเต็ปถัดไปที่จะไปภาคธุรกิจ เราต้องขอมอนิเตอร์จำนวนทรานแซคชั่นก่อน และสถาบันการเงินที่จะเข้าร่วมของทั้ง 2 ประเทศ แต่เชื่อว่าหากเรามีการขยายกรอบเพดานวงเงินภาคธุรกิจก็สามารถใช้ได้ ขณะเดียวกันค่าธรรมเนียมที่คิดก็อาจจะต่ำลงได้อีก ซึ่งตอนนี้ธปท.พยายามขยายความร่วมมือ แต่ที่น่าจะเห็นในปีนี้จะเป็นความร่วมมือการเชื่อมระบบการชำระเงินผ่าน QR Code ที่กำลังคุยอยู่มีประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งน่าจะได้เห็นมาเลเซียก่อน”

สำหรับภาพรวมการให้บริการพร้อมเพย์หลังจากเปิดบริการมาแล้ว 3 ปี พบว่า มีจำนวนผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์สะสมจำนวน 56.7 ล้านหมายเลข แบ่งเป็น การลงทะเบียนผ่านเลขบัตรประจำตัวประชาชนอยู่ที่ 34.3 ล้านเลขหมาย และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ 21.4 ล้านเลขหมาย และลงทะเบียนอื่นๆ อีก 1 ล้านเลขหมาย

ขณะที่ยอดปริมาณการทำธุรกรรมเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 22.3 ล้านรายการ โดยสถิติสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 27.1 ล้านรายการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงที่เปิดบริการใหม่ๆ เฉี่ยธุรกรรมอยู่ที่ 5-7 ล้านรายการต่อวันเท่านั้น ส่วนมูลค่าธุรกรรมต่อวัน 80.4 พันล้านบาท และมีร้านค้าใช้ถึง 7 ล้านร้านค้า ทั้งนี้ หากดูมูลค่าเฉลี่ยต่อรายการโดยรวม 3,600บาทต่อรายการ และประมาณ 90% ของรายการทั้งหมดวงเงินต่ำกว่า 1,000 บาทต่อรายการ หรือราว 730 บาทต่อรายการ