ประยุทธ์ วัดใจเจ้าหนี้การบินไทย-ยื่นดาบปลดผู้บริหารแผน

ประยุทธ์ การบินไทย

นายกรัฐมนตรีสกัดเกมต่อรองฟื้นฟู “การบินไทย” ส่งสัญญาณให้เจ้าหนี้โหวต “แผนฟื้นฟู” เดินหน้าก่อน ย้ำไม่ต้องการให้ล้มละลาย วงในเผยประชุมเจ้าหนี้ 19 พ.ค.นี้แค่จุดเริ่มต้น การบินไทยจะรอดหรือไม่ ต้องผ่านอีกหลายด่าน ผู้ทำแผนยอมเพิ่มอำนาจเจ้าหนี้ แต่งตั้ง “บอร์ดกำกับดูแลสินเชื่อใหม่” ให้อำนาจ “ปลดผู้บริหารแผน”

นายกฯโยนลูกรอ “แผนผ่าน”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ท่ามกลางข่าวว่า กระทรวงการคลังนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 ว่า “ขอยืนยันว่าแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาแผน จัดทำแผน ช่วงนี้รัฐบาลยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของผู้จัดทำแผนเพื่อให้แผนผ่านการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 19 พ.ค.นี้”

“ผมยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า รัฐบาลยังไม่สนับสนุนเงินใด ๆ ทั้งสิ้น ผมจำเป็นต้องพูดอย่างนี้ ไม่งั้นวุ่นกันไปหมด จนกว่าจะมีการเดินหน้าแผนและบริหารแผน อย่าเอาตรงนี้เป็นตัวชี้ออกไป ผมคิดว่าทุกคนคงไม่อยากให้การบินไทยล้มละลายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ช่วยกันทุกอย่างก็เป็นไปไม่ได้อีก”

พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า “เมื่อการบริหารแผนเกิดขึ้นและทำได้ตามแผน ค่อยว่ากันอีกครั้ง ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ตอนนี้รัฐบาลถือว่าเป็นการทำงานของผู้บริหารแผน”

การเมืองรุมทึ้งต่อรอง

แหล่งข่าวจากเจ้าหนี้การบินไทยรายหนึ่งกล่าวว่า เนื่องจากในขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทยนั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องจำนวนมากภายใต้มูลหนี้รวมกว่า 4 แสนล้านบาท ทำให้มีบุคคลทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องต้องการเข้ามามีบทบาทในแผนฟื้นฟู จึงทำให้มีกระบวนการเจรจาต่อรองต่าง ๆ เกิดขึ้น ทำให้การเจรจาเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยมีความขัดแย้งและความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ในส่วนเจ้าหนี้หุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์มองว่าตนเองมีเสียงค่อนข้างมาก จึงต้องการมีส่วนร่วมในการบริหารแผนฟื้นฟู รวมถึงต้องการแก้ไขแผนบางส่วนเพื่อให้กลุ่มสหกรณ์ได้ประโยชน์มากขึ้น ทำให้เมื่อ 12 พ.ค.ที่ผ่านมากลุ่มสหกรณ์จึงรวมตัวยื่นขอเลื่อนการโหวตแผน อย่างไรก็ดีล่าสุดได้ยินว่าธนาคารกรุงเทพได้เข้าไปคุยกับเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์และได้ข้อตกลงกันไปแล้ว

“จุดยืนของแต่ละฝ่ายที่แสดงออกมาในการฟื้นฟูการบินไทย ก็เพื่อต่อรองเรื่องอื่น ๆ กันด้วย ต้องลองไปไล่ดู เจ้าหนี้รายใหญ่เป็นตัวแทนใคร หรือกระทรวงคมนาคมเป็นตัวแทนใคร สุดท้ายมาตกที่การบินไทย เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลกับผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มในอนาคตด้วย ก็ต้องมาต่อรองกัน คือตอนนี้ยังไม่มีอะไร แต่ถ้าไม่ส่งคนไปคุมเอง ก็จะกระทบในอนาคตได้ ส่วนนายกรัฐมนตรีอยู่ตรงกลาง ก็เลยถอย ไม่ยุ่งดีกว่า”

บินไทยไปต่อแบบไหน

แหล่งข่าวจากกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงินกล่าวว่า จากที่นายกรัฐมนตรีจะมีท่าทีชัดเจนที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองต่าง ๆ ก่อนที่แผนฟื้นฟูการบินไทยจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ ก็เชื่อว่าที่สุดในการประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแผนฟื้นฟูวันที่ 19 พ.ค.นี้ เจ้าหนี้จะโหวตรับแผน เพื่อให้การบินไทยได้ไปต่อ เพราะในส่วนของการ “ใส่เงินทุน/สินเชื่อใหม่” เป็นอีกขั้นตอน เพียงแต่เดิมเจ้าหนี้ต้องการสร้างความมั่นใจว่าภาครัฐจะเข้ามาให้การสนับสนุน จึงต้องการให้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน ขณะที่ล่าสุดผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย (ลูกหนี้) ก็ได้มีการยื่นคำร้องปรับแผนฟื้นฟูในหลายประเด็น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเจ้าหนี้

“ปัญหาหลังจากนี้อยู่ที่ว่า ใครจะเป็นคนใส่เงินก้อนแรกเข้าไปในแผนฟื้นฟู ซึ่งดูท่าทางรัฐบาลจะปล่อยให้เจ้าหนี้ดำเนินการกันไป ส่วนรัฐบาลก็คงสนับสนุนสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเงิน ขณะเดียวกันการบินไทยคงต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ให้เงิน ไม่ค้ำประกัน ก็มี 2 ทาง ทางหนึ่งคือเอาหลักประกันที่มีอยู่ไปจดจำนอง กับนำธุรกิจที่ดี ๆ ออกไปขายเพื่อให้ได้เงินมา เช่น โรงซ่อมเครื่องบิน คาร์โก้ เป็นต้น แต่ก็ไม่รู้ว่า กระทรวงการคลังกับกระทรวงคมนาคมจะตกลงกันได้หรือเปล่า”

เดิมพันแผนฟื้นฟู

อย่างไรก็ตามแม้ว่าแผนฟื้นฟูการบินไทยจะผ่านการเห็นชอบจากเจ้าหนี้ แต่ก็ยังมีคำถามสำคัญอีกว่า กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้แผนฟื้นฟูจะสำเร็จตามเป้าหมายภายใน 5 ปี (+2 ปี) หรือไม่ เพราะนอกจากการปรับโครงสร้างหนี้ และในส่วนของการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อที่จะสามารถกลับมาสร้างรายได้ เพื่อที่จะหาเงินมาชำระหนี้ตามแผนนั้น ยังเป็นเรื่องยากอยู่ และต้องยอมรับว่ายังมองไม่เห็นว่าแผนธุรกิจจะกลับมาสร้างรายได้ตามแผนหรือไม่ โดยเฉพาะยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนของธุรกิจการเดินทางท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

“สิ่งสำคัญต้องทำให้ธุรกิจมีความเป็นไปได้ เพราะถ้าเดินได้ก็ไม่มีปัญหาที่จะหาใครมาสนับสนุน นี่เป็นเหตุผลที่เจ้าหนี้ต้องขอเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนด้วย และขอแก้ไขแผน เพราะผู้ทำแผนทำมาแบบหวังพึ่งรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งพอโหวตไปแล้ว ค่อยไปแก้ระหว่างบริหารแผนได้ โดยต้องแก้ business model ด้วย เพราะไม่อย่างนั้นไม่มีกระแสเงินสดเข้ามา”

ตั้งบอร์ดสินเชื่อใหม่คุม

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากที่ผู้ทำแผนของ บมจ.การบินไทยได้ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟู (ฉบับ 7 พ.ค. 2564) มีการปรับแก้ในหลายประเด็นที่เจ้าหนี้เรียกร้อง นอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มอำนาจในฝั่งเจ้าหนี้เพิ่มเติม โดยให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่” จำนวนไม่เกิน 5 คน ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ หรือเข้าค้ำประกันสินเชื่อ 2 ราย ตัวแทนเจ้าหนี้สินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน 2 ราย และกรรมการที่ภาครัฐเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ และเจ้าหนี้สินเชื่อใหม่ภาคเอกชนเห็นชอบให้มาเป็นกรรมการ 1 ราย

โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนธุรกิจ งบประมาณ แผนกำลังคน และแผนใช้จ่ายฝ่ายทุน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดหาและการซ่อมบำรุงเครื่องบินและเครื่องยนต์ รวมทั้งติดตามและดูแลการปฏิบัติตามแผนของผู้บริหารแผน และให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการกระทำการใด ๆ ของผู้บริหารแผน และพิจารณาเพื่อมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้สิทธิเพิ่มทุน

เพิ่มอำนาจ “ปลด” ผู้บริหารแผน

นอกจากนี้คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ยังมีอำนาจในการลงมติ “ถอดถอน” ผู้บริหารแผน และยื่นคำร้องต่อศาลให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่ง หากผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.ไม่ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้ดำเนินการตามเงื่อนไขก่อนเบิกใช้สินเชื่อใหม่จนกระทบการดำเนินธุรกิจของการบินไทย 2.ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ให้เช่าเครื่องบิน/เจ้าหนี้ซ่อมเครื่องยนต์ ที่การบินไทยมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องบินภายใน 6 เดือน หลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผน

3.ไม่สามารถปรับโครงสร้างองค์กรหรือลดค่าใช้จ่ายในแนวทางที่กำหนดไว้ 4.ไม่สามารถเพิ่มทุนได้ตามเงื่อนไข และ 5.ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามงบประมาณจนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำหนี้ตามแผน

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากคำร้องแก้ไขแผนฟื้นฟูดังกล่าวน่าจะเป็นการปรับแก้ตามข้อเสนอของ “เจ้าหนี้” สถาบันการเงินอย่างเต็มที่ เพราะมีการเพิ่มอำนาจของเจ้าหนี้สินเชื่อใหม่เข้ามากำกับดูแลผู้บริหารแผนอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าในการประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแผนฟื้นฟูที่เลื่อนมาเป็นวันที่ 19 พ.ค. 2564 เจ้าหนี้ส่วนใหญ่จะโหวตรับแผนฟื้นฟู เพื่อให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู แม้ว่าในวันที่18 พ.ค.นี้จะไม่มีการนำเรื่องการให้ บมจ.การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 เข้า ครม.ก็ตาม เพราะท่าทีของนายกรัฐมนตรีชัดเจนแล้ว ในการที่จะไม่เจรจาต่อรองใด ๆ เพิ่มเติมก่อนที่แผนฟื้นฟูกิจการจะผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้

ทั้งนี้ในส่วนของ “ผู้บริหารแผน” ที่จะมารับช่วงต่อหลังศาลเห็นชอบแผนฟื้นฟูนั้น ฝั่งการบินไทยหรือ “ลูกหนี้” ได้เสนอชื่อนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (เข้ามาแทนนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล) นอกจากนี้ในฝั่งเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ทางธนาคารกรุงเทพได้ยื่นคำร้องเสนอชื่อผู้บริหารแผนเพิ่ม 2 ราย คือนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพ และนายไกรสร บารมีอวยชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการประนอมหนี้และกฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ และเป็นอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี เข้าร่วมเป็นผู้บริหารแผน

9 ปัจจัยเสี่ยงสกัดฟื้นฟู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในแผนฟื้นฟูของการบินไทยได้มีการระบุถึงปัจจัยความเสี่ยงสำคัญที่มีโอกาสทำให้แผนฟื้นฟูกิจการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบด้วย 1.สถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 และกฎระเบียบเกี่ยวกับข้อจำกัดการเดินทางทั้งในและต่างประเทศที่จะกระทบต่อธุรกิจของการบินไทย

2.อัตราการท่องเที่ยวและการเดินทางไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ 3.ความล้มเหลวในการดำเนินการตามเงื่อนไขข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่ง ก่อนที่จะดำเนินการตามแผน 4.ภาวะเศรษฐกิจไม่เติบโตตามที่ผู้ทำแผนคาดการณ์ไว้ 5.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง 6.ผลประกอบการในอนาคตของการบินไทยไม่เป็นไปตามประมาณการทางการเงินที่ได้จัดทำ

7.การติดตามหนี้และการชำระหนี้จากลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระ 8.การลงทุนและโอนขายทรัพย์สินจากการบินไทยไปบริษัทย่อยหรือบริษัทตั้งใหม่ไม่เป็นไปตามแผน และ 9.ความเสี่ยงในการจัดหาวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมและเงินกู้ยืมใหม่ไม่สำเร็จ


ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงในทางลบที่เป็นสาระสำคัญ ผู้บริหารแผนต้องแจ้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และขอให้เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อเสนอแก้ไขแผน รวมถึงการขอขยายเวลาการดำเนินการตามแผนออกไปตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.ล้มละลาย