ลงทุนจีนฮอต! 2 บลจ. เปิดขายกองทุนใหม่อิง “ตราสารหนี้-หุ้นเทค” แดนมังกร

ตลาดหุ้น
ภาพ Pixabay

2 ค่าย บลจ. เปิดขายกองทุนใหม่อิงจีน “MFC” คลอดกองทุนเปิด “MCBOND” ลงทุนตราสารหนี้จีน ผ่าน BGF China Bond Fund เน้นกลยุทธ์เด่น-ผลตอบแทนดี-ผันผวนต่ำ ขายไอพีโอ 17-25 พ.ค.นี้ ฟาก “บลจ. พรินซิเพิล” เปิดตัว ‘กองทุนเปิดพรินซิเพิล ไชน่า เทคโนโลยี’ เสนอขายวันที่ 19 – 25 พ.ค.

วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายกงานว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เดินหน้าลุยแดนมังกรอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ประกาศจัดตั้งกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ไชน่า บอนด์ (MFC China Bond Fund) หรือ MCBOND ลงทุนในตราสารหนี้จีนผ่านกองทุนรวม BGF China Bond Fund บริหารโดย BlackRock (IPO) ระหว่างวันที่ 17-25 พฤษภาคม 2564

สำหรับ MCBOND มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) คือ BGF China Bond Fund (กองทุนหลัก) ในชนิดหน่วยลงทุน (share class) “I2” Hedged USD (Accumulating) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

ซึ่งกองทุนหลักเป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้ BlackRock Global Funds บริหารจัดการโดย BlackRock (Luxembourg) S.A. มีความโดดเด่นและสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารหนี้ดำเนินกิจการหลักในประเทศจีนในทุกตลาด (Go-Anywhere China bond fund) มีความยืดหยุ่นในการลงทุนทั้งตลาดในประเทศจีน (onshore) และ ตลาดนอกประเทศจีน (offshore)

นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า จากที่ MFC ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนหุ้นจีน MCHINA ที่ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3,333 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 12 พ.ค. 64) ในปีนี้ MFC จึงจัดตั้งอีกกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้จีนอย่าง MCBOND ขึ้นมา ด้วยตราสารหนี้จีนมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย (Yield) สูงกว่า Yield ของตราสารหนี้ของประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ และตราสารหนี้จีนเป็นตลาดหลักของนักลงทุนทั่วโลกที่ต้องการ Yield มากกว่า 2.5% ต่อปี

“การลงทุนตราสารหนี้จีนจะช่วยกระจายความเสี่ยงเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับตราสารหนี้อื่นต่ำ อีกทั้งการลงทุนตราสารหนี้จีนในสกุลเงินหยวน มีเสถียรภาพ และไม่ถูกกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น ความตึงเครียดทางการเมืองและการค้าระหว่างสหรัฐและจีน นอกจากนี้ ตราสารหนี้จีนมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้ในระดับต่ำ จากการที่ผู้ออกตราสารหนี้จำนวนมากอยู่ในกลุ่มภาครัฐ และการคาดการณ์อัตราผิดนัดชำระหนี้เฉลี่ยของตราสารหนี้จีน High-Yield ในสกุลเงินหยวนอยู่ที่ 1.8% ต่ำกว่าตราสารหนี้ High-Yield ในภูมิภาคอื่น ๆ”

ทั้งนี้กองทุนเปิด MCBOND เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนตราสารหนี้จีน คาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก และต้องการสภาพคล่องในการซื้อขายหน่วยลงทุน ผู้ลงทุนสามารถลงทุนขั้นต่ำครั้งแรก 1,000 บาทได้ทุกวันทำการ โดยจะได้รับเงินคืนภายในวันที่ T+5 (5 วันทำการนับแต่วันรับซื้อคืนหน่วยลงทุน) มีความเสี่ยงของกองทุนรวมที่ระดับ 5 และไม่มีนโยบายการจ่ายปันผล

ขณะที่ นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า ทีมบริหารจัดการได้วิเคราะห์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีในประเทศจีน มีแนวโน้มเติบโตอย่างโดดเด่นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจีน โดยในปี 2025 (พ.ศ. 2568) IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะมีสัดส่วนถึง 27% ของการเติบโตของ GDP โลก ซึ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก (ที่มา: Bloomberg analysis of IMF data)

โดยหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนคืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เนื่องจากรัฐบาลจีนได้วางยุทธศาสตร์มุ่งเน้นเพิ่มความแข็งแกร่งด้านกลยุทธ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เช่น การวางเครือข่าย 5G ครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2025, การสร้างพื้นที่ทดลองสำหรับนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) 20 แห่งภายในปี 2023 (พ.ศ. 2566), การพัฒนาศูนย์เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Centers) ภายในปี 2025 เป็นต้น เพื่อให้จีนไม่ต้องพึ่งพาสินค้าไฮเทคโนโลยีจากต่างชาติและก้าวเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของโลกภายในปี 2035 (พ.ศ. 2578) (ที่มา: China Briefing August 7, 2020)

ขณะที่ในแวดวงตลาดทุน ในปี 2019 รัฐบาลจีนได้จัดตั้งกระดาน SSE science and technology innovation board (ตลาด STAR Market) เพื่อสนับสนุนการระดมทุนของผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพการเติบโต ผ่านการผ่อนปรนข้อกำหนดกฏเกณฑ์ต่างๆ ส่วนในปี 2020 ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้จัดตั้งดัชนี Hang Seng Tech Index เพื่อรวบรวมหุ้นในกลุ่มเทคโนลยีและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่สุด 30 บริษัทแรก ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศสามารถเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าวได้ง่ายขึ้น

นายจุมพล กล่าวต่อว่า จากความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม ล่าสุดจึงเปิดตัวกองทุนเปิดพรินซิเพิล ไชน่า เทคโนโลยี หรือ Principal China Technology Fund (PRINCIPAL CHTECH) มีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท (Greenshoe 15%) เตรียมเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 19 – 25 พฤษภาคม 2564 สั่งซื้อขั้นต่ำครั้งละ 1,000 บาท โดยมีนโยบายการลงทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ซึ่ง PRINCIPAL CHTECH เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนประเภท Fund of Funds ที่จะลงทุนอย่างน้อย 2 กองทุน ในสัดส่วนกองทุนละไม่เกินกว่าร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในจีนและฮ่องกง ในดัชนี Hang Seng Tech Index และ SSE STAR 50 Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยหุ้นขนาดใหญ่ที่สุด 50 บริษัทแรกในตลาด STAR Market ผ่านการลงทุนในกองทุน iShares Hang Seng TECH ETF ที่บริหารจัดการโดย BlackRock Asset Management Ireland Limited ในสัดส่วนประมาณ 70%

และลงทุนในกองทุน KraneShares SSE STAR Market 50 Index ETF ที่บริหารจัดการโดย Krane Funds Advisors, LLC ในสัดส่วนประมาณ 30% เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีและเติบโตไปพร้อมกับสังคมดิจิทัลในประเทศจีน ทั้งนี้พอร์ตลงทุนสามารถปรับสัดส่วนได้ตามสภาพการลงทุนและโอกาสการลงทุนที่เหมาะสม

จุดเด่นของกองทุนเปิด PRINCIPAL CHTECH เน้นการผสมผสานพอร์ตโฟลิโอการลงทุนผ่าน 2 กองทุนดังกล่าวในธุรกิจ Hard Tech หรือเป็นเทคโนโลยีที่สามารถจับต้องได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุปกรณ์ขั้นสูง, เทคโนโลยียุคใหม่, พลังงานยุคใหม่, เทคโนโลยีการแพทย์รูปแบบใหม่ เป็นต้น

และการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีขนาดเล็กถึงใหญ่ที่ผลิตสินค้าในรูปแบบ Soft Tech ที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจฟินเทค, ธุรกิจคลาวด์ คอมพิวติ้ง เป็นต้น ที่พร้อมเติบโตไปกับเศรษฐกิจยุคใหม่ของจีน

โดยมีตัวอย่างหุ้นในพอร์ตลงทุน อาทิ Xiaomi ผู้ผลิตและลงทุนในสินค้าอุปกรณ์อัจฉริยะคุณภาพดีในราคาจับต้องได้, Tencent ผู้นำการให้บริการซูเปอร์แอป ซึ่งเป็นเจ้าของโซเชียลเน็ตเวิร์คยอดนิยมในจีนอย่าง WeChat QQ แอปพลิเคชันเพื่อความเทิง, KUASHOU TECHNOLOGY ผู้สร้างแอปพลิเคชั่นวิดีโอแชร์ริ่งแบบสั้นที่ได้รับความนิยมในจีน ฯลฯ