“ฐากร” แม่ทัพ “เครือไทยฯ” ชู DATA ทางรอดธุรกิจหลังโควิด

โลกธุรกิจยุคใหม่ ข้อมูล (ดาต้า) เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าหรือผู้บริโภคได้ดีขึ้นสามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ออกมาตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างตรงจุดมากขึ้นอย่างที่ “ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH ได้กล่าวไว้ในหัวข้อ “Data-Driven” ในงานสัมมนาก้าวสู่ปีที่ 45 ประชาชาติธุรกิจ “Thailand Survivor … ต้องรอด” เมื่อเร็ว ๆ นี้

ดาต้าผุดขึ้นมหาศาลทุกวัน

โดย “ฐากร” เริ่มต้นว่า โลกปัจจุบันนี้มีดาต้าเกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งมีความสำคัญ มีตัวอย่างในหลาย ๆ ประเทศที่ใช้ข้อมูลมาช่วยทำให้ประเทศดีขึ้น และช่วยให้ธุรกิจรอดจากวิกฤตไปได้

โดยว่ากันว่าปริมาณข้อมูลที่เกิดขึ้นในโลกอย่างมหึมา เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง และจะยิ่งมากขึ้นเมื่อเข้าสู่สังคม 5G ซึ่งมีคำกล่าวของ นายมาซาโยชิ ซัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซอฟต์แบงก์ บัดดี้ของนายแจ็ก หม่า แห่งอาลีบาบา ที่ได้กล่าวไว้ว่า

“ใครก็แล้วแต่ที่ควบคุมดาต้าได้ คนคนนั้นหรือธุรกิจนั้น ๆ จะครองโลกได้” หรือเรามักได้ยินว่า “Data is a new oil” ซึ่งต้องเอาไปกลั่นก่อนเพื่อทำให้สะอาด หรือเพื่อให้ได้ “อินไซต์ของข้อมูล”

ทั้งนี้ “ดาต้า” จะเป็นจุดหนึ่งทำให้ “เอาชนะคู่แข่ง” ได้ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสร้างนวัตกรรมได้ นอกเหนือไปจากนั้นต้องพูดถึงการสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่ดีด้วยการทำ digitalization(การปรับเปลี่ยนดาต้าที่มีจากแบบแอนะล็อก (analog) ไปเป็นดิจิทัล) เพื่อทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และท้ายที่สุดสิ่งที่ต้องปรับตัวคือการมีความสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมต่อเนื่อง

ตัวอย่างความสำเร็จ

“วิธีคิดต้องมาพร้อมการใช้ข้อมูลเราถึงจะไปเจอสิ่งที่เรียกว่า ‘คิดใหม่ ทำใหม่เกิดนวัตกรรมใหม่’ โดยเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าปัญหาคืออะไร และให้ตกผลึกเพื่อเกิดเป็นไอเดีย

เช่น ผมซื้อกล้วยไม่เคยกินหมด บางทีซื้อมาผ่านไป 3 วัน อีกครึ่งหวีทานไม่ได้แล้ว และถ้าซื้อกล้วยดิบก็รอนาน ปัญหาเหล่านี้ลองคิดดูว่าจะช่วยผู้บริโภคให้สามารถซื้อกล้วย 1 หวี และทานจนกล้วยสุกไปทุก ๆ วันเป็นไปได้หรือไม่

ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศเกาหลีใต้ ดังนั้น อาจไม่ต้องมีเทคโนโลยีอะไรเลยก็ได้ แต่เข้าใจปัญหาผู้บริโภคและลองคิดดูว่ามีไอเดียอะไรที่สามารถตอบสนองปัญหาของผู้บริโภคได้”

หรือแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ในประเทศจีนอย่างอาลีบาบา, JD.com ก็เก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ซื้อและใช้แพลตฟอร์มแนะนำเพิ่มเติม เช่น คนคนนี้ชอบเพลงอะไรชอบดูหนังอะไร ใช้ชีวิตแบบนี้ควรจะไปท่องเที่ยวที่ไหน

หรือควรจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินอะไรบ้าง เป็นต้น ขณะเดียวกันประเทศจีนพัฒนาจนถึงขั้นสร้างระบบโลจิสติกส์ใหม่ เพื่อให้การขนส่งมีต้นทุนที่ถูกที่สุด โดยจีนนำข้อมูลอีคอมเมิร์ซที่มีอยู่มหาศาลมาใช้ประโยชน์

ซึ่งดาต้าสำคัญตรงที่ช่วยให้เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น และช่วยบอกว่าควรจะพัฒนาอะไร ปัญหานี้ต้องแก้ด้วยอะไร และจะหาลูกค้าใหม่อย่างไรได้บ้าง สำคัญไปกว่านั้นคือ ช่วยให้ตัดสินใจได้ถูกต้อง ไม่ใช่ตัดสินใจจากความรู้สึก

“แนะนำรัฐบาลไทยเราก็สามารถใช้ข้อมูลมาวางนโยบายเศรษฐกิจได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาธุรกิจและประเทศได้เหมือนที่ประเทศจีนทำ”

ขับเคลื่อนธุรกิจ “เจ้าสัวเจริญ”

“ฐากร” กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองมาจากธุรกิจประกัน กลุ่มการเงินในเครือของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ก็หนีไม่พ้น จำเป็นต้องนำดาต้าและดิจิทัลมาเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ โดยตัวอย่างที่มีการใช้ประโยชน์ข้อมูลกับธุรกิจประกัน เช่น เดวิด เบ็กแฮม ตำนานนักเตะชาวอังกฤษ สมัยค้าแข้งก็ได้ซื้อประกันบาดเจ็บที่ขาด้วยมูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วน เจนนิเฟอร์ โลเปซ นักร้องระดับโลกก็จ่ายเบี้ยประกัน 27 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อประกันก้น หรือร้าน Costa Coffee ในอังกฤษ ยอมจ่าย 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อประกันปุ่มรับรสให้กับคนชิมกาแฟประจำร้าน และถ้ากลัว UFO มาฉกตัวไป ก็สามารถซื้อประกันป้องกันการถูกเอเลี่ยนจับตัวไปได้ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา

“ต่อไปดาต้าจะช่วยให้เรารู้ว่าจะขายประกันได้มากขึ้นต้องทำอย่างไร ต้นทุนตรงไหนที่ลดได้ บอกพฤติกรรมผิดปกติหรือการทุจริตได้ ช่วยบริหารความเสี่ยงด้านการเคลม ส่งผลให้บริษัทสามารถทำกำไรได้มากขึ้น

โดยปัจจุบันในอุตสาหกรรมมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 7 แสนล้านบาทต่อปี โต 13% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่เบี้ยประกันสุขภาพและอุบัติเหตุเติบโตสูงถึง 38% และอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้นกว่า 20% นั่นหมายความว่าเทรนด์ต่อไปคนจะรักษาสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจ”

นอกจากนี้ มีข้อมูลพบว่าคนส่วนใหญ่เจ็บป่วยด้วยโรคกระเพาะอักเสบ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม ซึ่งมีข้อมูลที่ควรให้แก่ผู้บริโภค เช่น ช่วงอากาศร้อนอย่ารับประทานของดิบเพื่อไม่ให้ป่วย

ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าไม่ทานอาหารผิดสำแดงจะได้ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลและไม่เคลมประกัน แต่ถ้าป่วยแล้วก็สามารถแนะนำได้ว่าโรงพยาบาลไหนค่ารักษาถูกที่สุดได้ ขณะที่ประกันรถยนต์ก็ดูข้อมูลได้ว่าจังหวัดไหนเมืองใด อำเภอไหน เกิดอุบัติเหตุบ่อยสุด

เพื่อจะได้ป้องกันและแนะนำผู้บริโภคได้โดยจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าช่วง 24 ชั่วโมงอุบัติเหตุเกิดบ่อยที่สุด คือ ช่วง 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม (ช่วงเลิกงาน) และ เกิดน้อยสุด ช่วงเที่ยงคืนถึงตี 4 แต่มูลค่าความเสียหายจะสูงมาก เพราะทัศนวิสัยไม่ดี หรืออาจจะเพิ่งออกจากผับหรือดื่มแอลกอฮอล์มาเต็มที่

ขณะที่ผู้เอาประกันแต่ละช่วงอายุก็มีความเสี่ยงแตกต่างกัน อาทิ คนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี มีพฤติกรรมการขับรถและมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าโดยค่าเฉลี่ยทั่วไป และคนอายุตั้งแต่ 70 ปี (ผู้สูงอายุ) ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงจากสายตาไม่ดีและการตัดสินใจช้า เพราะฉะนั้น จะเห็นกลุ่มคนมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ซึ่งจะถ่ายโอนค่าเบี้ยประกันที่ต่างกันด้วยเช่นกัน

“ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ปรับเปลี่ยนการวิเคราะห์และกำหนดราคาเบี้ยประกันได้ ซึ่งอุตสาหกรรมประกันมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) สามารถเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ได้เยอะมาก สามารถนำมาดีไซน์และช่วยให้เราลดต้นทุนในการเคลมประกัน และช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการทุจริตเคลมได้ด้วย”

ปรับธุรกิจทางรอดหลังวิกฤต

ทั้งนี้ ธุรกิจที่จะอยู่รอดหลังโควิดจะต้องทรานส์ฟอร์มโมเดลธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยอาจจะต้องหา new business ซึ่งต้องเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยหลังจากนี้ไปทุกธุรกิจจะเข้าสู่ยุคของการเป็น “data business” ดังนั้น ไม่ว่าจะธุรกิจเล็กหรือใหญ่ต้องกลับไปดูว่าตัวเองมีข้อมูลอะไรอยู่บ้าง

“ทุกวันนี้เราไม่จำเป็นต้องมีสาขา เครื่องจักร หรือสินทรัพย์เยอะ ๆ เพราะต่อไปนี้เราต้องแข่งกันบนสปีดและต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น เราต้องไม่แบกอะไรไว้เยอะ

และแน่นอนว่าใครที่ไม่ทำธุรกิจบนโลกออนไลน์จำเป็นอย่างมากที่ต้องปรับโมเดลให้สามารถมีกลยุทธ์ทางด้านออนไลน์มากขึ้น เพราะต้องสเกลให้ได้เร็วและสร้างประสบการณ์ที่้ดีให้กับลูกค้าได้”

สุดท้าย ซีอีโอเครือไทยฯฝากทิ้งท้ายว่า “ถ้าการเดินเรือต้องใช้เข็มทิศ เพื่อให้ไปถึงจุดหมาย ข้อมูลหรือดาต้า ก็คือเข็มทิศในการดำเนินธุรกิจตอนนี้”