แบงก์จำใจ “ลดดอกเบี้ย” แก้หนี้ เตือนเอฟเฟ็กต์ “ปฏิเสธสินเชื่อ” พุ่ง

คลัง-แบงก์ชาติเตรียมเรียกถกหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้โจทย์ “หนี้ครัวเรือน” วงในเผยปมใหญ่ “หนี้ข้าราชการ” ผูกกับหนี้สหกรณ์ ขณะที่ “แบงก์-น็อนแบงก์” จำใจรับนโยบาย “ลดเพดานดอกเบี้ย” จำนำทะเบียน-สินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิต ชี้รัฐต้องรับสภาพผลกระทบยอด “ปฏิเสธสินเชื่อ” เพิ่มสูงขึ้น ผลักประชาชนไปใช้ “หนี้นอกระบบ” ขณะที่กลุ่มจำนำทะเบียนขานรับ ชี้ปล่อยดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศนโยบายให้เร่งแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน หรือ “หนี้ครัวเรือน” แบบครอบคลุมทั้งระบบ ทั้งหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา 3.6 ล้านคน และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน, หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี, หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี, หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี และปัญหาหนี้สินอื่น ๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี

โดยนายกฯได้ประกาศภายใน 6 เดือน ให้เห็นผลทั้งเรื่องการลดภาระดอกเบี้ยของประชาชนและสินเชื่อรายย่อย รวมถึงการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงหนี้สหกรณ์ พร้อมกันนี้ได้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนด้วย

คลังเรียกถก “หนี้ครัวเรือน”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีแนวทางการดำเนินการของตัวเองอยู่แล้ว แต่ทุกฝ่ายต้องมาบูรณาการเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้ปี 2563 “หนี้ครัวเรือน” เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 89.3% ต่อจีดีพี ด้วยมูลค่ากว่า14 ล้านล้านบาท แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง เข้าไปแก้ไขหนี้ครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นเร็วมาก

อย่างไรก็ดี เป็นสิ่งที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ได้ดำเนินการมาโดยตลอด เช่น ธนาคารออมสินได้เข้ามาทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถ และเป็นผู้นำไปกดดอกเบี้ยในตลาด รวมทั้งการออกสินเชื่อ 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 0.35% ต่อเดือน เพื่อไปสู้กับดอกเบี้ยแพง ๆ ในตลาดอยู่แล้ว

โจทย์ใหญ่ “หนี้ข้าราชการ”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ กลุ่มสำคัญที่ยังไม่มีหน่วยงานเข้าไปดูแลและแก้ไขอย่างจริงจังก็คือ ในส่วนของหนี้ข้าราชการ ซึ่งมีภาระหนี้ทั้งในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ และยังมีภาระหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งในส่วนนี้คลังและแบงก์ชาติไม่มีอำนาจเข้าไปดูแล และไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้า ธปท.จะมีการเรียกประชุมสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันในเรื่องนโยบายของนายกรัฐมนตรี เรื่องของเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน

แบงก์จำใจ “ลดดอกเบี้ย”

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายของนายกรัฐมนตรี ขอให้ ธปท.ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแล “บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน” มองว่านายกฯต้องการลดภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเกือบ 90% และลดการฟ้องร้อง ซึ่งต้องรอให้คลังและ ธปท.รับลูกเพื่อศึกษา

อย่างไรก็ดี หากจะมีการปรับเพดานอัตราดอกเบี้ย ก็มองว่าแบงก์และน็อนแบงก์สามารถทำได้ เพราะจากงบการเงิน ความพอเพียงของสภาพคล่องในระบบยังมีความแข็งแกร่ง สามารถช่วยลูกหนี้ได้ แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยจะลดลง แต่เชื่อว่าสถาบันการเงินสามารถปรับตัวได้ในการบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่าย และการตั้งสำรอง หาก ธปท.มีนโยบายออกมาเชื่อว่าทุกธนาคารก็พร้อมปฏิบัติตาม

เอฟเฟ็กต์ “รีเจ็กต์เรต” พุ่ง

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า การปรับลดเพดานดอกเบี้ย ต้องคิดให้รอบคอบและศึกษาทุกมิติ เพราะกลไกดอกเบี้ยเป็นตัวควบคุมความเสี่ยง ซึ่งจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดอยู่ที่ 15% แต่สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตเพดานดอกเบี้ยสูงกว่าระดับ 15% เช่นเดียวกับเพดานสินเชื่อจำนำทะเบียนอยู่ที่ 22% เพื่อให้สามารถอำนวยสินเชื่อในกลุ่มเสี่ยงได้มากขึ้น ดึงคนอยู่นอกระบบเข้ามาในระบบ

หากมีการปรับลดเพดานจะต้องคำนึงถึงกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มที่ถูกปฏิเสธ (reject) ตามระบบคัดกรองความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้กลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ อาจจะไปสู่นอกระบบ โดย ธปท.และภาครัฐจะต้องคิดให้ครบทุกมิติ

“การลดดอกเบี้ย ลดภาระหนี้ของประชาชนเป็นเพียงส่วนหนึ่ง และไม่ใช่เรื่องใหญ่สุด และที่ผ่านมามาตรการต่าง ๆ พยายามช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายให้ลูกค้า เช่น ซอฟต์โลนที่ ธปท.คิดดอกเบี้ย 0.01% ทำให้แบงก์คิดดอกเบี้ยลูกค้าได้ถูกลง หรือการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จาก 0.46% เหลือ 0.23% ซึ่งก็ทำให้แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงเฉลี่ย 0.40%

ดังนั้น การลดดอกเบี้ยมีกลไกได้เยอะ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐอาจจะต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยด้วย เช่น การลดค่าครองชีพ หรือการสร้างรายได้ให้ประชาชน ซึ่งการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ถือเป็นตัวอย่างที่สร้างรายได้ให้ภาคประชาชน และลูกหนี้อาจต้องลดการใช้สินเชื่อเงินผ่อนลง ส่วนธนาคารก็ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ”

ปัญหาไม่มีเงิน-ไม่ใช่ดอกแพง

สอดคล้องกับ นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากปีที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับเพดานดอกเบี้ยลงมาแล้วรอบหนึ่ง เฉลี่ยลดลง 2-4% ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาอาจไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่หน่วยกำกับต้องการ ซึ่งในมุมมองรัฐบาลอาจมองว่าลดดอกเบี้ยจะช่วยประชาชนลืมตาอ้าปากได้

แต่เอาเข้าจริงดอกเบี้ยที่ลดลงน้อยมาก เช่น ธุรกิจจำนำทะเบียนเพดานดอกเบี้ย 24% ต่อปี ลดลงมาเท่ากับธนาคารออมสิน 18% ค่างวดต่อเดือนลดไปแค่ 50 บาทเท่านั้น แปลว่าช่วยประชาชนคนหนึ่งได้แค่วันละ 2 บาท ซึ่งไม่ได้ช่วยความเป็นอยู่ได้จริง และไม่ตรงจุด เพราะปัญหาประชาชนตอนนี้คือไม่ใช่ดอกเบี้ยแพง แต่ปัญหาคือไม่มีเงิน

“เมื่อปรับลดดอกเบี้ย ผลตามมาคือ สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อทำให้ลูกค้าเกรด C เกรด D ที่เมื่อก่อนปล่อยกู้ดอกเบี้ย 28% แต่ปัจจุบันไม่ปล่อยลูกค้ากลุ่มนี้ ต้องหันไปกู้นอกระบบ ซึ่งเชื่อว่าภาพในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หนี้นอกระบบน่าจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น หลัง ธปท.ลดเพดานดอกเบี้ยปีที่แล้ว ช่วงวิกฤตคนไม่ได้อยากผ่อนดอกเบี้ยถูก แต่อยากได้เงินก้อนเพื่อไปหมุนธุรกิจ หรือใช้จ่ายค่าเทอมลูก พอทำไม่ได้ก็หันไปกู้เงินนอกระบบ”

รูดปรื๊ด-จำนำทะเบียนลดได้อีก

นายกรกชกล่าวว่า เบื้องต้นประเมินว่าสินเชื่อจำนำทะเบียน บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังพอมีรูมลดเพดานดอกเบี้ยได้ ถ้าดูจากอัตราการทำกำไร ธุรกิจจำนำทะเบียนรายใหญ่ ๆ อาทิ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC), บมจ.ศรีสวัสดิ์คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ระดับอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงกว่า 20% และอัตรากำไรสุทธิสูงกว่า 20-30%

“ปัจจุบันเพดานดอกเบี้ยจำนำทะเบียนอยู่ที่ 24% ต่อปี ซึ่งภาครัฐส่งธนาคารออมสินลงมาแข่งดอกเบี้ยอยู่ที่ 18% ต่อปี ทำให้ทุกเจ้าต้องลงมาแข่งดอกเบี้ย โดยปัจจุบัน MTC คิดดอกเบี้ย 15% SAWAD คิดดอกเบี้ย 18% และ TIDLOR คิดดอกเบี้ย 17-18%” นายกรกชกล่าว

สำหรับธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ปัจจุบันเพดานดอกเบี้ยกำหนดไม่เกิน 16% ต่อปี และไม่เกิน 25% ต่อปี (ตามลำดับ) ต้นทุนเงินทุนของผู้ให้บริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ประมาณ 1-2% ดังนั้นยังมีมาร์จิ้นกว่า 10%

ส่วนน็อนแบงก์ที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อาทิ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) และ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS ซึ่งปัจจุบันเก็บดอกเบี้ยตามเพดาน ดังนั้นถ้าปรับลดเพดานดอกเบี้ยจะโดนผลกระทบเต็ม ๆ ซึ่งถ้าลดลงมาทำให้ ROE เหลือแค่ 20% ก็ยังถือว่าเป็นธุรกิจให้ผลตอบแทนที่ดี แต่อาจจะเป็นกลุ่มที่โดนผลกระทบมากที่สุด

MTC ยันไม่กระทบคิดดอกต่ำ

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC กล่าวว่า หากมีนโยบายให้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยลงบริษัทพร้อมปฏิบัติตาม อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาด บริษัทได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดภาระหนี้ให้กับลูกค้ามาต่อเนื่อง และหากดูอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทคิดกับลูกค้าส่วนใหญ่จะต่ำกว่าเพดานอยู่แล้ว เช่น จำนำทะเบียนรถยนต์และจักรยานยนต์ เพดานดอกเบี้ยอยู่ที่ 24% ซึ่งปัจจุบันบริษัทคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 14.5% หรือนาโนไฟแนนซ์ปัจจุบันคิดอยู่ 28% จากเพดาน 33%