ตระกูลดังโดดร่วมวงธุรกิจกัญชา “เจียรวนนท์-ธรรมวัฒนะ” ตั้งบริษัท

กัญชาแรงไม่ตก! ธุรกิจแห่ตั้งบริษัท 5 เดือน จดทะเบียนเพิ่มเฉียด 100 นักธุรกิจ-ตระกูลดังกระโดดร่วมวง “เจียรวนนท์-โตทับเที่ยง-ธรรมวัฒนะ-ณุศาศิริ” ใบอนุญาตปลูก จำหน่าย แปรรูป พุ่งทะลุ 2,210 ใบ “เซ็ปเป้-คลาสคาเฟ่” ลั่นพร้อมรบ รอกฎหมายไฟเขียว-รอจังหวะลุยโกยรายได้ คาดไตรมาส 4 สมรภูมิอาหาร-เครื่องดื่มกัญชาคึกคัก

ตลอดช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา แม้การระบาดของโควิด-19 หลาย ๆ ระลอกที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับหลาย ๆ ธุรกิจและทำให้ต้องเร่งปรับตัวเพื่อประคับประคองสถานการณ์ แต่อีกด้านหนึ่งดูเหมือนว่าพิษของไวรัสร้ายที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถต้านทานกระแสความร้อนแรงของกัญชาฟีเวอร์ได้ สะท้อนจากการทยอยตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจกัญชาที่มีเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ

แห่จดทะเบียนตั้งบริษัทกัญชา

รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศปลดล็อกกัญชา-กัญชง จากบัญชียาเสพติดให้โทษ รวมถึงการอนุญาตให้นำใบ, กิ่ง, ก้าน, ราก, เปลือก, ลำต้น, เส้นใย ที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งให้ประชาชนสามารถใช้ส่วนต่าง ๆ ของกัญชา-กัญชง ไปประกอบอาหาร ทำยารักษาโรคได้ ทำให้มีนักธุรกิจจำนวนมากที่สนใจและทยอยเข้ามายื่นขอจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจกัญชาเป็นระยะ ๆ

โดยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-พฤษภาคม) มีบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา-กัญชง มากกว่า 80 บริษัท ส่วนใหญ่แจ้งวัตถุประสงค์ ทั้งปลูก-แปรรูป ผลิตจำหน่าย นำเข้า-ส่งออก เมล็ดพันธุ์ สารสกัดจากกัญชา, การวิจัยพืชกัญชา พืชกัญชง, ที่ปรึกษาการออกแบบ ตรวจสอบ และติดตั้ง ระบบตรวจติดตามย้อนกลับในพืชกัญชา, การผลิตสารสกัด รับจ้างผลิตสารสกัด กัญชง กัญชา, การส่งออกนำเข้าผลิตภัณฑ์ สายพันธุ์ จากพืชกัญชง กัญชา เป็นต้น

นักธุรกิจ/ตระกูลดังโดดลุย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามข้อมูลการจดทะเบียนดังกล่าวพบว่าในจำนวนนี้มีชื่อของนักธุรกิจชื่อดัง ทายาทตระกูลดัง นักการเมืองท้องถิ่น จำนวนหนึ่งที่ร่วมลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทดังกล่าว เช่น นายไกรภูมิ โตทับเที่ยง ทายาทธุรกิจปลากระป๋อง “ปุ้มปุ้ย” ในนามบริษัท เจนโดว์ จำกัด, นายมารุต บูรณะเศรษฐ อดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัทในเครือไทยเบฟฯ ในนามบริษัท แอมโบรส เอเชีย จำกัด, บริษัทโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด ของนายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ (บุตรของนายสุเมธ เจียรวนนท์ พี่ชายนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์) ที่ตั้งบริษัท จีทีบี แพลนท์ แฟคตอรี่ จำกัด

นายวิษณุ เทพเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ที่ตั้งบริษัทใหม่ 2 บริษัท บริษัท ซีเอสอาร์ ณุศา จำกัด และบริษัท ณุศา ซีเอสอาร์ จำกัด นายนพดล ธรรมวัฒนะ เจ้าของตลาดยิ่งเจริญ ในนามบริษัท วายซีพีดี จำกัด และนายแพทย์สมชัย เจียรนัยศิลป์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง และอดีตรองประธานหอการค้าจังหวัดตรัง และผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรังรวมแพทย์ ในนามบริษัท กัญตรังเมดิแคน จำกัด เป็นต้น

มั่นใจปลายปีตลาดคึกคัก

นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมากระแสสินค้าและเครื่องดื่มจากกัญชาอาจจะมีซาลงไปบ้างจากสถานการณ์การระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น และผู้ประกอบการอยู่ระหว่างการรอในเรื่องใบอนุญาต เชื่อว่าเมื่อเรื่องนี้มีความชัดเจน

คาดว่าน่าจะได้เห็นในช่วงไตรมาสที่ 4 กระแสจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยบริษัทได้เตรียมงบประมาณราว 2-3% ของงบฯการตลาด สำหรับการเปิดตัวเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ทั้งแบรนด์เดิมและแบรนด์ใหม่อีก 2 รายการ เพื่อรุกตลาดในช่วงปลายปี ก่อนจะต่อยอดไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ สแน็ก ในอนาคต นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสในการทำตลาดสินค้ากัญชาในต่างประเทศด้วย

นายมารุต ชุ่มขุนทด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คลาส คอฟฟี่ จำกัด เจ้าของร้านกาแฟสตาร์ตอัพ “คลาส คาเฟ่” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้กระแสของเครื่องดื่มหรือสินค้าที่เกี่ยวกับกัญชาดูเงียบ ๆ ลงไปบ้าง แต่จริง ๆ แล้วที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งในแง่ของวัตถุดิบ โปรดักต์ บรรจุภัณฑ์ ฉลาก ฯลฯ

รอเพียงสถานการณ์คลี่คลาย การฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมมากพอที่จะสามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้ รวมถึงความชัดเจนในเรื่องของกฎหมายที่คาดว่าน่าจะออกมาในเร็ว ๆ นี้ และเชื่อว่าปลายปีตลาดสินค้าที่เกี่ยวกับกัญชาต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับบริษัทเองก็ได้มีการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ไว้แล้วเช่นกัน

“กัญชาถือเป็นตลาดใหม่ เป็นธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต ซึ่้งจะช่วยสร้างการเติบโตให้บริษัทได้มาก ตอนนี้ทุกอย่างได้มีการเตรียมพร้อมหมดแล้ว รอเพียงจังหวะเท่านั้น คาดว่าตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไปตลาดจะคึกคักมากขึ้น” นายมารุตกล่าว

ขณะที่ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างจัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ และ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้

ใบอนุญาตกัญชาพุ่งต่อเนื่อง

รายงานข่าวจากกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ล่าสุดได้ออกใบอนุญาตกัญชาสำหรับองค์กรต่าง ๆ ไปแล้วจำนวน 2,210 ราย (18 มิถุนายน) จากเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีผู้ได้รับใบอนุญาตประมาณ 1,407 ราย ในจำนวนนี้เป็นใบอนุญาตครอบครอง 412 ราย หลัก ๆ จะเป็นในนามของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยสมุนไพร (กรมวิทยาศาสตร์ฯ) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ, ใบอนุญาตนำเข้า 12 ราย

อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นต้น ใบอนุญาตผลิต (ปลูก) 214 ราย ส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ องค์การเภสัชกรรม กรมการแพทย์แผนไทย สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นต้น

ใบอนุญาตจำหน่าย 1,518 ราย เช่น กรมการแพทย์ (สถาบันสุขภาพเด็ก) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยนเรศวร (คณะเภสัชศาสตร์) โรงพยาบาลบางมด คลินิกต่าง ๆ อาทิ บริษัท เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด (เอกายาสหคลินิก บุรีรัมย์) บริษัท ฮักษาเมดิคอล คลินิกหมอรพี จำกัด (รพีคลินิกเวชกรรม เชียงใหม่) บริษัท โรงพยาบาลบางปะกอก 8 จำกัด บริษัท โรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) (ศูนย์การแพทย์ลาดพร้าว สหคลินิค กรุงเทพมหานคร) และ ใบอนุญาตผลิต (ปรุง) 5 ราย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และใบอนุญาตผลิต แปรรูป/สกัด 37 ราย ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการศึกษา ทั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต (คณะเภสัชศาสตร์) มหาวิทยาลัยนเรศวร (คณะเภสัชศาสตร์) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา องค์การเภสัชกรรม กรมการแพทย์