“หุ้น-หุ้นกู้-ทองคำ-คริปโตฯ” สินทรัพย์ไหนจะไปต่อครึ่งหลังปี’64

หุ้นไทย

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยจัดสัมมนา “หุ้น-หุ้นกู้-ทองคำ-คริปโตฯ” สินทรัพย์ไหนจะไปต่อครึ่งหลังปี’64

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) จัดงานสัมมนา “หุ้น หุ้นกู้ ทองคำ และคริปโตเคอร์เรนซี” สินทรัพย์ไหนจะไปต่อในครึ่งปีหลัง 2564 ผ่านเฟซบุ๊กออนไลน์เพื่ออัพเดตแนวโน้มตลาดและกลยุทธ์การลงทุน

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวรูปตัว K

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBAM เปิดเผยว่า หลังจากนี้ภาพเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวหรือขยายตัวในลักษณะตัว K ในฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรปปรับตัวขึ้นก่อน ขณะที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว(DM) อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น, จีน และเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่(EM) ยังจะชะลอตัวอยู่ในลักษณะขาล่างของตัว K ซึ่งเป็นความชัดเจนที่เกิดขึ้นจากผลวัคซีนและไวรัสโควิด

ประกอบภาพนโยบายการเงินมีความแตกต่างกัน ในฝั่งสหรัฐเริ่มเห็นภาพมีความเข้มงวดมากขึ้น ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่งสัญญาณอาจจะต้องมีการขยับปรับลดการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลง โดยไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ซึ่งจะทำใหภาคธุรกิจต้องปรับตัวในอนาคต

แต่ถ้าพิจารณาประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียและไทย ซึ่งล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เห็นภาพออกมาปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลงอีก 1 ครั้ง และเผยว่าเศรษฐกิจอาจจะยังไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นมามากนัก และยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายเข้าไปช่วย ซึ่งจะเห็นค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินอื่นๆ แล้วสิ่งที่ตามมาคือภาพรวมเศรษฐกิจและเงินทุนเคลื่อนย้าย

ดังนั้นถ้าประเทศเกิดใหม่ยังฟื้นตัวไม่ทัน และยังเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ฟื้นตัวนำหน้าไปก่อน อาจจะเห็นเงินทุนที่ขยับไปในฝั่ง develop market มากกว่า

“ผ่านมาแล้ว 6 เดือนแรกปีนี้ตลาดหุ้นทำนิวไฮ โดยเฉพาะ S&P500 เพิ่มขึ้น 15% จากปีที่แล้ว และตลาดที่ดีสุดกลายเป็นหุ้นเล็กในสหรัฐและหุ้น Value Stock ในยุโรป โดยตลาดเจอ 3 จุดพีกสูงสุดที่ไม่เคยเจอมาก่อนคือ 1.นักลงทุนเชื่อมั่นมากว่าปี 64 น่าจะเป็นปีที่ดีและคาดหวังเศรษฐกิจฟื้นตัว สังเกตหุ้นเด่นไม่ใช่หุ้นพื้นฐานเศรษฐกิจเหมือนสมัยก่อน กลายเป็นหุ้นพวก Tesla ที่นักลงทุนชอบหรือหุ้นเปิดเมืองเพอร์ฟอร์มดีกว่า

2.เงินเฟ้อสูง ซึ่งหลายฝ่ายคาดไว้แล้วเพราะปีที่แล้วราคาน้ำมันปรับตัวลงแต่ปีนี้กลับมายืนอยู่ที่เดิม แต่ไม่คิดว่าเงินเฟ้อจะสูงมากจนทำให้ธนาคารกลางเริ่มกังวล แต่นักลงทุนเชื่อมั่นว่าจะเป็นเรื่องชั่วคราว สอดคล้องกับเฟดออกมาพูด ทำให้นักลงทุนกล้าซื้อขายมากขึ้น อย่างหุ้นพลังงานและหุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันก็ปรับตัวสูงขึ้นได้

3.นักลงทุนส่วนใหญ่จะมีความเชื่อมั่นมากๆ ว่านโยบายการเงินจากธนาคารกลางต่างๆ จะเข้ามาช่วยแน่นอนถ้าเกิดเศรษฐกิจชะลอตัวลงไป ส่วนนโยบายทางการคลังน่าจะมีออกมาต่อเนื่อง” ดร.จิติพล กล่าว

กำไรบจ.บวก 56% SET Index ครึ่งปีหลัง 1,680 จุด

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) เปิดเผยว่า วิกฤตโควิดกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกตกหนักแต่รอบนี้ถือว่าฟื้นตัวเร็วมากเมื่อเทียบวิกฤตรอบก่อนๆ โดยใช้เวลาจากจุดต่ำสุดเดือน มี.ค. แค่ 6 เดือน สามารถกลับไปสู่จุดเดิมก่อนเกิดวิกฤตโควิดได้ เหตุผลเพราะธนาคารกลางทั่วโลกมีสูตรสำเร็จที่เคยทำมาแล้ว ภายใน 6 เดือน ทำการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างรวดเร็ว และมีมาตรการการคลังระดมแจกเงินกันทุกประเทศ

ทั้งนี้สำหรับตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มอยู่ในขาขึ้นในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยมีปัจจัยหนุนหลักคือ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 2.การฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียน 3.อัตราเร่งในการฉีดวัคซีน 4.แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และ 5.การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ

ส่วนความเสี่ยงหลักคือ 1.การบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผน 2.ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ 3.นโยบายของจีนในการไม่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ

ส่วนประเด็นทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกเป็นเพียงภาวะชั่วคราว ไม่ส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยก่อนปี 2566 ส่วนผลกระทบ QE Tapering ต่อตลาดหุ้นไทยไม่น่าห่วง เพราะเงินต่างชาติในตลาดหุ้นไทยเหลือน้อย

อย่างไรก็ตามปี 2564 คาดกำไรบริษัทจดทะเบียนจะขยายตัว 56% และ 15% ในปี 2565 โดยตั้งเป้าหมาย SET Index ที่ 1,680 จุด ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ และ 1,800 จุด ในปี 2565

บอนด์ยีลด์ขาขึ้นต่อปีนี้ถึงต้นปีหน้า

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) กล่าวว่า คาดการณ์ว่าในช่วงปีนี้ถึงต้นปีหน้าบอนด์ยีลด์ไทยจะยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ตามทิศทางบอนด์ยีลสหรัฐ 10 ปี(us treasury 10 year) ส่วน credit spread ของไทยมองว่าน่าจะคงทรงตัวอยู่ เพราะฉะนั้นการลงทุนในหุ้นกู้เอง น่าจะเลือกในรุ่นอายุการออกไม่ยาวนัก เพื่อเปิดโอกาสในการลงทุนตัวใหม่ที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

และถ้าจะลงทุนในเรทติ้งต่ำๆ อาจจะต้องระมัดระวังโดยการกระจายการลงทุน เพราะโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ค่อนข้างสูง ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปี สูงกว่า 60 bps ในปี 2564 มาอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนโควิด (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิ.ย.64 อยู่ที่ 1.86%) โดยตั้งแต่เกิดโควิดกลุ่มเรทติ้งต่ำมีผลตอบแทนสูงขึ้น ในขณะที่กลุ่มเรทติ้งสูงมีผลตอบแทนต่ำลง

หลังจากนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ เฟดถอนคิวอี เพราะไม่รู้ว่าหากเกิดสัญญาณถอนคิวอีแล้ว บอนด์ยีลด์สหรัฐจะพุ่งแรงแค่ไหน หากการถอนคิวอีของเฟดออกมาเซอร์ไพรส์มากกว่าที่ตลาดกังวล ว่าจะมีผลต่อบอนด์ยีลด์สหรัฐมาก จากปัจจุบันบอนด์ยีลด์สหรัฐ อายุ 10 ปี ขึ้นมาที่ 1.5% และไม่ช้าหรือเร็วคาดว่าน่าจะปรับตัวขึ้นทะลุ 2%

ทางด้านแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย มองว่าในปีหน้าอาจไม่เห็นการขยับขึ้น คงขึ้นอยู่กับท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมาได้เร็วแค่ไหนและมีประเด็นว่าหากดอกเบี้ยนโยบายไม่ขึ้น ดอกเบี้ยเงินฝากจะไม่ขึ้นด้วยหรือไม่ ในขณะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นไป โดยเฉพาะหุ้นกู้ภาคเอกชนจะกลับมาได้รับความนิยมมากน้อยแค่ไหน

ส่วนปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทย ที่จะออกมาสนับสนุน พรก.กู้เงิน มองว่า ด้วยปริมาณเงินดังกล่าว เทียบไม่ได้กับเงินฝากในระบบที่มีกว่า 17 ล้านล้านบาท ดังนั้นด้านซัพพลายที่จะออกมาเพิ่มเติมในตลาดตราสารหนี้ในระยะข้างหน้า จึงไม่กระทบกับบอนด์ยิลด์ของไทย กรณีบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีมานี้ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ไทยขยับขึ้นมากกว่าในเชิงจิตวิทยา

“ถ้าถามว่าช่วงนี้จะลงทุนตราสารหนี้ดีหรือไม่สำหรับผู้ไม่รับความเสี่ยงเลยแนะนำให้ซื้อพันธบัตรออมทรัพย์จากรัฐบาลคุ้มกว่า เพราะอายุ 3 ปี 4 ปี ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบอนด์ 10 ปีในปัจจุบันที่มีอยู่ในตลาด” นายธาดากล่าว

เทรดคริปโตฯ “ถัวเฉลี่ยต้นทุน” ปลอดภัย

ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลครึ่งปีหลัง ถ้าดูราคาบิตคอยน์ทำจุดพีกประมาณ 2 ล้านบาทต่อเหรียญ ตอนนี้หล่นลงมาประมาณ 50% ทุกครั้งที่ราคาบิตคอยน์ถูกปรับฐาน(correction) มีโอกาสราคาหล่นลงมาได้สัก 80-85% สำหรับนักลงทุนถ้ามองว่าสามารถลงทุนได้ระดับหนึ่งก็ควรลงทุนแบบ DCA (dollar-cost averaging) หรือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน เพื่อความปลอดถัย เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่โดยพื้นฐานปัจจุบันพบว่าสถาบันสนใจเข้ามาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

ดีมานด์สินทรัพย์ทางเลือกพุ่ง

ดร.จิติพล กล่าวทิ้งท้ายว่า สัดส่วนการลงทุนครึ่งหลังของปี สินทรัพย์หลักควรมีหุ้น บอนด์ และสินทรัพย์ทางเลือกเป็นทองคำหรือคริปโตฯ โดยให้นักลงทุนมองตามแต่ละวัตถุประสงค์คือ เป็นสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ ซึ่งครึ่งหลังความผันผวนไม่สูงขึ้นมากกว่านี้แล้ว ต่อให้จะมีนโยบายการเงินเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่ด้วยภาพรวมสภาพคล่อง สินทรัพยสร้างรายได้ยังน่าจะให้ผลตอบแทนไม่สูงมาก ดังนั้นนักลงทุนเก็บไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง

สำหรับสินทรัพย์หลักอย่างหุ้น เห็นชัดว่าครึ่งปีแรก ตลาดประเทศพัฒนาแล้วทำได้ดีกว่าในฝั่งตลาดเกิดใหม่มาก มีความเป็นไปได้ในช่วงครึ่งหลังของปีตลาดอาจจะทยอยมาในกลุ่มที่ไม่ดีก่อนหน้านี้ เช่น ประเทศที่ฟื้นตัวได้จากโควิดรอบนี้

แต่หุ้นและบอนด์อยู่ในระดับราคาให้ผลตอบแทนที่น้อย เพราะฉะนั้นดีมานด์สินทรัพย์ทางเลือกน่าจะมีความต้องการมากกว่า นักลงทุนอาจจะเลือกสินทรัพย์ทางเลือกง่ายๆ ที่ป้องกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อได้คือ สินทรัพย์ที่ความผันผวนไม่สูง เช่น อสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนอสังริมทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งน่าจะได้รับประโยชน์

ส่วนราคาทองคำครึ่งปีหลัง เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่อยู่ในระดับกึ่งกลาง ดูง่ายๆ คือ ถ้าหุ้นไทยผันผวนประมาณ 15% ในช่วงที่ตลาดมีสภาพคล่องสูงๆ อาจจะเห็นสัดส่วนลงทุน 20% ยังลงทุนในทองคำแค่ 7-10% เท่านั้น ดังนั้นขยับลงทุนทองคำเพิ่มได้