ธปท.ปลดล็อก “หนี้เสีย” จากโควิด ผ่อนเกณฑ์ “เครดิตบูโร” อุ้มลูกหนี้

ธปท.-covid-แฮร์คัตหนี้

ธปท. เตรียมประกาศปลดล็อกเครดิตบูโร แยกลูกหนี้เอ็นพีแอลเพราะ “โควิด” ออกจากหนี้เสียทั่วไป หนุนแบงก์ปล่อยกู้อุ้มผู้ประกอบการที่โดนโควิดทุบจนเป็น “เอ็นพีแอล” ตามข้อเรียกร้อง “สภาหอฯ-สภาอุตฯ” วงในชี้ทางปฏิบัติไม่ง่าย เผยแบงก์รัฐไม่กล้าปล่อยกลัวติดคุก ฟากนายแบงก์ ttb มองแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

ปลดล็อก “เครดิตบูโร”

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งภาคเอกชนมีการเรียกร้องให้ผ่อนปรนเกณฑ์เครดิตบูโรนั้น ล่าสุดได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว

โดยในเร็ว ๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประกาศให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีปัญหาการชำระหนี้จนกลายเป็นเอ็นพีแอล โดยทางเครดิตบูโรจะติดรหัสใหม่ให้ เพื่อแยกลูกค้าเอ็นพีแอลปกติ กับลูกค้าที่เป็นเอ็นพีแอลจากโควิด

“โดยดูได้จากสถานะหนี้ก่อนเดือน เม.ย. 2563 ย้อนไป 12 เดือน ถ้าไม่มีการค้างชำระหนี้ แต่มาเป็นเอ็นพีแอลหลังจากเดือน เม.ย. 2563 ถือว่าผู้ประกอบการมีปัญหาจากผลกระทบของโควิด-19 นอกจากนั้น ธปท.จะมีการผ่อนเกณฑ์สินเชื่อให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด แบบเดียวกับตอนช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ และแบบเดียวกับการพักหนี้เกษตรกรด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ เป็นไปตามที่ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอให้มีการขีดเส้นให้ชัด เพื่อแยกแยะผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กับกลุ่มที่อาการไม่ดีมาก่อนหน้านั้นแล้ว

จี้แก้ประกาศแบงก์ชาติ

อย่างไรก็ดี เพียงแค่แยกแยะผู้ประกอบการคงไม่เพียงพอ เนื่องจากสินเชื่อฟื้นฟู หรือซอฟต์โลนใหม่ 250,000 ล้านบาท มีเงื่อนไขการปล่อยกู้ตามประกาศ ธปท.เขียนไว้ว่า “ให้สภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการที่ยังพอมีศักยภาพ” ซึ่งตรงนี้อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้แบงก์จะยังคงไม่ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบหนัก ๆ หรือกลุ่มสีส้ม และกลุ่มสีแดงที่กลายเป็นเอ็นพีแอลแล้ว ถึงแม้ว่าจะพิสูจน์ได้ว่า เป็นเอ็นพีแอลในช่วงวิกฤตโควิดก็ตาม จุดนี้หากไม่ปลดล็อก ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้เหมือนเดิม

“การดูว่ามีศักยภาพไหม แบงก์ก็จะดูว่าลูกค้ามีความสามารถในการหารายได้แค่ไหน ถามว่าแล้วธุรกิจอย่างร้านอาหาร ที่เดี๋ยวก็ต้องปิด หรือเปิดแบบไม่ให้นั่งทานที่ร้านจะคำนวณรายได้อย่างไร หรือกลุ่มโรงแรมจะคำนวณรายได้อย่างไร เพราะยังบอกไม่ได้เลยว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาวันไหน เงื่อนไขแบบนี้เขียนไว้เพราะไม่อยากให้ลูกหนี้ที่ไม่ดีเข้ามาขอใช้สินเชื่อ สรุปก็คือ ลูกหนี้กลุ่มสีส้ม กับสีแดง ก็ไม่สามารถกู้ได้เหมือนเดิม” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ หากจะช่วยผู้ประกอบการกลุ่มสีส้ม หรือสีแดง ก็จะต้องแก้ไขเงื่อนไขในประกาศ ธปท.ดังกล่าวด้วย โดยต้องเขียนใหม่ว่า “ให้สภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” เพราะหากไม่ผ่อนเกณฑ์ ก็คงไม่มีแบงก์ไหนกล้าปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มสีส้ม และสีแดง ส่วนกลุ่มสีเขียว สีเหลือง ก็จะมีแค่กลุ่มส่งออกที่ธุรกิจไปได้ในช่วงนี้

แบงก์รัฐมีโอกาสติดคุก

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนจะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาปล่อยกู้ ให้ผู้ประกอบการที่เป็นเอ็นพีแอลไปแล้ว ก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่มีแบงก์ไหนกล้าปล่อย เพราะถ้าปล่อยไปแล้ว ก็มีโอกาสถูกตรวจสอบลงโทษสูงมาก เพราะถือว่าทำให้รัฐเสียหาย

“ตอนนี้คือไม่มีเกณฑ์ข้อไหนให้ปล่อยกู้คนที่เป็นเอ็นพีแอลได้ ยิ่งเป็นแบงก์รัฐยิ่งปล่อยไม่ได้ มีโอกาสติดคุกสูง เพราะการปล่อยสินเชื่อที่เล็งเห็นได้ว่า จะไม่ได้รับการชำระหนี้คืนได้อยู่ในประกาศ ธปท.ที่ห้ามไว้ ดังนั้นถ้าไม่แก้กติกา ก็ไม่มีทางปล่อยกู้ได้ แล้วก็จะมีธุรกิจที่ล้มหายตายจากไป” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้ตั้งกองทุนฟื้นฟูเอ็นพีแอลเอสเอ็มอีนั้น ยิ่งเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใส่เงินเข้ามาหลายแสนล้านบาท จึงจะเพียงพอรองรับความเสียหายได้ ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับกองทุนฟื้นฟูฯในอดีต ซึ่งคาดว่า ธปท.ก็คงไม่กล้าเข้ามารับผลขาดทุนอีก เพราะขนาดสินเชื่อฟื้นฟู กรณีเกิดความเสียหายก็เป็นบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาเป็นผู้รับภาระค้ำประกันแทน

“ถ้าคิดแบบกองทุนฟื้นฟูฯ ถ้าใส่เงินไป 200,000 ล้านบาท เสียหายไป 50% ก็เท่ากับหายไป 100,000 ล้านบาทแล้ว ใครจะกล้าเอาเงินภาษีมาละลาย” แหล่งข่าวกล่าว

เงินแบงก์คือเงินประชาชน

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อเสนอเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีที่ติดเครดิตบูโรช่วงโควิด เข้าใจว่ามีการพูดคุยกันในที่ประชุมของสภาหอการค้าฯ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการพูดคุยกับธนาคารแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี แนวทางหรือข้อเสนอดังกล่าวมองว่า ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด เนื่องจากปัญหาธุรกิจเอสเอ็มอีตอนนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาด โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ที่เข้ามาเบียดเอสเอ็มอี ดังนั้นจะต้องสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะเดียวกัน ธนาคารเป็นผู้รับฝากเงินของประชาชน จึงต้องบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม เพราะคือเงินประชาชน

“ส่วนตัวมองว่าเราเป็นธนาคารรับผิดชอบเงินของคนอื่น ไม่ควรใช้แบบสุ่มสี่สุ่มห้า และมองว่าเอสเอ็มอีเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่สามารถแก้ได้ด้วยการทุ่มเงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสนับสนุนให้มีความสามารถแข่งขันในตลาดให้ได้” นายเสนธิปกล่าว

ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารทีทีบีได้สนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านสินเชื่อซัพพลายเชน โดยให้ธุรกิจใหญ่เข้ามาช่วยรายเล็ก และปัจจุบันจะเห็นว่าสถาบันการเงินทั้งระบบพยายามช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านการสนับสนุนทางด้านซัพพลายเชนมากขึ้น

ขุนคลังอยู่ระหว่างหารือข้อมูลเครดิต

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เรื่องการปลดล็อกเครดิตบูโร มีข้อเสนอให้ทำในเรื่องดังกล่าวเข้ามามาก ซึ่งจะมีการประสานข้อมูลกับศูนย์เครดิต โดยพิจารณากันอยู่ ซึ่งก็แล้วแต่ของสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ประชาชนและธุรกิจก็เดือดร้อนจำนวนมาก ทางสถาบันการเงินของรัฐ อย่างธนาคารออมสิน ก็เข้ามาช่วยผ่านสินเชื่อมีที่ มีเงิน ซึ่งผ่อนเกณฑ์ไม่ทำการตรวจเครดิต และไม่วิเคราะห์รายได้ในช่วงสั้น ที่ธุรกิจมีปัญหาในเรื่องรายได้ช่วงปี 2563-2564 ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุน

“ต้องเรียนว่ามีข้อเสนอเข้ามา แต่ในฝั่งของธนาคารพาณิชย์นั้น ยังเน้นเรื่องของเครดิตบูโรอยู่ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีเสียงเรียกร้องเรื่องรายได้ ซึ่งช่วงนี้ก็ไม่มีรายได้แน่นอน ว่าช่วงโควิดที่คลี่คลายแล้วสถานการณ์จะดีขึ้น กลับมาทำธุรกิจได้ปกติ แต่ช่วงนี้สภาพคล่องที่ขาดนั้น แล้วธุรกิจมีทรัพย์สินหรือไม่ จึงเป็นที่มาอย่างโครงการมีที่ มีเงิน ซึ่งถ้าไม่มีใครช่วยใครก็จะไปไม่รอด ฉะนั้น เราต้องช่วยดูตามสถานการณ์ที่เป็นจริง”

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เรื่องการลดเพดานของดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น จะต้องมีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอาจจะมีการหารือกันหลายรอบ เนื่องจากอยากให้มีแนวทางในการแข่งขันเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐก็เต็มที่ในเรื่องดังกล่าว แต่ในส่วนของภาคเอกชนนั้น ทาง ธปท.จะต้องมีการหารือกับภาคเอกชนด้วย

ขณะที่เรื่องของช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝาก ซึ่งจะลดลงมาให้สอดคล้องกันได้หรือไม่นั้น จะมีการหารือกับ ธปท.อีกครั้ง ซึ่งเป็นข้อเสนอของเอกชน โดยขณะนี้ระดับเจ้าหน้าที่ก็คุยกันอยู่ ซึ่งจะพยายามทำให้เร็ว อย่างไรก็ดี การกำกับเป็นของธนาคารพาณิชย์เป็นหน้าที่ของ ธปท.


นอกจากนี้ ในเรื่องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน จะมีผลิตภัณฑ์ออกมาช่วยฐานรากเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มร้านอาหารรายเล็ก ก็มีธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ก็มีมาตรการสินเชื่อมาดูแล พร้อมกันนี้ก็มีมาตรการเฉพาะหน้า 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารด้วย