สัญญาณ “หนี้เสีย” ธุรกิจพุ่ง แบงก์เร่งสินเชื่อฟื้นฟูพยุงลูกค้า

ธุรกิจ-smes
แฟ้มภาพ

หลังจากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงแก้ไขมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) วงเงิน 500,000 ล้านบาท ที่ในระยะกว่า 1 ปี มีธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อไป 77,787 ราย วงเงินสินเชื่อกว่า 138,200 ล้านบาท (ณ 12 เม.ย. 2564) มาเป็น “สินเชื่อฟื้นฟู” วงเงิน 250,000 ล้านบาท และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท

ซึ่งทาง ธปท.ได้เปิดให้สถาบันการเงินเริ่มส่งคำขอใช้สินเชื่อฟื้นฟูได้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 ขณะที่สมาคมธนาคารไทยตั้งเป้าหมายว่า แบงก์จะร่วมมือกันปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูให้ได้ 100,000 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน

อนุมัติแล้ว 5 หมื่นล้านบาท

โดยอัพเดตล่าสุดจากข้อมูล ธปท.พบว่า จนถึง ณ วันที่ 21 มิ.ย. 2564 มียอดสินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติแล้ว 50,948 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือ 16,811 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อราย ขณะที่พักทรัพย์ พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนแล้ว 937.47 ล้านบาท จำนวนธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือ 10 ราย

“วสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์” รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บอกว่า คาดว่าจะสามารถค้ำประกันสินเชื่อเฟสแรกได้เต็มวงเงิน 100,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายสมาคมธนาคารไทยภายใน 6 เดือนนี้ โดยล่าสุด (ณ 25 มิ.ย.2564) บสย.อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว 35,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือ 12,300 ราย คิดเป็นยอดค้ำประกัน เฉลี่ยต่อวันที่ 1,600 ล้านบาท ถือว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แบงก์เร่งปล่อยกู้ตามเป้าหมาย

ขณะที่ในมุมของธนาคารพาณิชย์ “ศิริเดช เอื้องอุดมสิน” รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารพยายามช่วยเหลือลูกค้า โดยให้สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อช่วยประคองสภาพคล่องธุรกิจ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อของธนาคารยังคงดีอยู่ อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ามีกลุ่มลูกค้าที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว และกลับมาขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือกลุ่ม reentry ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารได้ปรับโครงสร้างหนี้ให้ใหม่ โดยการลดการผ่อนชำระให้น้อยลง หรือบางรายพักชำระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีกระแสเงินสด (cash flow) หรือมีกระแสเงินสดค่อนข้างน้อย เป็นต้น

“ตอนโควิด-19 ระบาดรอบ 2 ธุรกิจยังพอไหว แต่มารอบ 3 ธุรกิจเริ่มไม่ไหว เพราะเที่ยวนี้ยาวนาน ทำให้กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ก็เริ่มไม่ไหว ซึ่งเราพยายามพยุงลูกค้าไว้ โดยล่าสุดเราก็ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูไปได้พอสมควรแล้ว ซึ่งการพิจารณาอาจจะต้องดูข้อมูลมากขึ้น เพื่อให้การแก้ไขที่ตรงจุด” นายศิริเดชกล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูที่ 15,000 ล้านบาทเช่นเดียวกัน

“เมธา ปิงสุทธิวงศ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ (TISCO) กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารเร่งดำเนินการปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. โดยปัจจุบันปล่อยกู้ไปแล้วประมาณ 2,000 ล้านบาท คาดว่าภายในไตรมาส 3 จะสามารถปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 4,000 ล้านบาท ส่วน “พักทรัพย์ พักหนี้” ยังไม่มีลูกค้าเข้าร่วม เนื่องจากธนาคารมีพอร์ตลูกค้าเอสเอ็มอีค่อนข้างน้อย และไม่มีพอร์ตธุรกิจโรงแรม

“เสนธิป ศรีไพพรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อฟื้นฟูไว้ที่ 8,000 ล้านบาท ซึ่งได้เริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อไปแล้ว โดยคาดว่าน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารกำหนดไว้ ขณะที่ความคืบหน้าโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเริ่มมีดีลที่กำลังจะเข้าโครงการแล้ว ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรงแรม อพาร์ตเมนต์ให้เช่า ทั้งนี้ ธนาคารจะทยอยทำเป็นราย ๆ ไป วงเงินเฉลี่ยตั้งแต่ 100-1,000 ล้านบาท

ลูกค้ากสิกรฯ 50 รายจ่อพักทรัพย์

ฟาก “ชัยยศ ตันพิสุทธิ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า น่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูได้เต็มวงเงินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 15,000 ล้านบาท ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ขณะที่ในส่วน “พักทรัพย์ พักหนี้” ธนาคารสำรวจพบว่า มีลูกค้าธุรกิจของกสิกรไทยที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 50 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว โดยจะเป็นการทยอยเข้าร่วม

“เบื้องต้นลูกค้ากลุ่มแรกที่จะเข้าพักทรัพย์ พักหนี้ ก่อนมีประมาณ 11 ราย วงเงินรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลย แต่ยังมีศักยภาพและความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจต่อ” นายชัยยศกล่าว

SMEs แย่ สัญญาณ NPL ส่อพุ่ง

“ชัยยศ” บอกด้วยว่า ขณะนี้ธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เริ่มไหลเพิ่มขึ้นในกลุ่มรายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีการตกชั้นจากสินเชื่อปกติ (stage 1) เป็นสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM หรือ stage 2) มากขึ้น และคาดว่าภายในไตรมาสที่ 3 จะเริ่มไหลเป็นเอ็นพีแอล (stage 3) เพิ่มขึ้น เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ลากยาวและกินเวลานาน ทำให้เงินทุนและสภาพคล่องของลูกค้าโดนกระทบ

“เริ่มเห็นลูกค้าที่เคยออกจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทยอยกลับเข้ามามากขึ้น ขณะเดียวกันลูกค้าที่ไม่เคยเข้ามาตรการมาก่อนก็ทยอยเข้าเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยตอนนี้ธนาคารพยายามติดตามลูกค้าเก่าที่ออกจากมาตรการและเข้ามาใหม่ โดยการเข้าไปประคองสภาพคล่องและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับลูกค้าแต่ละราย เช่นเดียวกับลูกค้ารายใหญ่เริ่มเห็นสัญญาณการถดถอยมากขึ้น ซึ่งเราก็เข้าไปช่วยเหลือประคองธุรกิจ เพราะอย่าลืมว่าถ้าธุรกิจรายใหญ่ล้ม จะล้มดัง แบงก์ก็เจ็บตัว” นายชัยยศกล่าว

จากภาพทั้งหมดนี้ กระทรวงการคลังและ ธปท. คงต้องพิจารณาด้วยว่า สินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์ พักหนี้ ที่ออกมาแล้ว ยังมีปัญหาอุปสรรคอย่างไรหรือไม่ โดยควรมีการทบทวนเงื่อนไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้ประกอบการคนไทยอย่างแท้จริง