แบงก์ชาติชี้แนวโน้ม 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมอง 3 ธุรกิจแย่ลง

แบงก์ชาติชี้แนวโน้ม 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมอง 3 ธุรกิจแย่ลง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าระดับ 50

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นจาก 43.0 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ 46.5 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบและเกือบทุกธุรกิจ ทั้งในภาคการผลิตและภาคที่ไม่ใช่การผลิต ยกเว้นกลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่ดัชนียังคงลดลงต่อเนื่องจากกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอ ประกอบกับราคาเหล็กที่ยังอยู่ในระดับสูงและปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่คลี่คลาย กดดันให้ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนของธุรกิจในภาคการผลิตอยู่ในระดับต่ำ 

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในกลุ่มขนส่งผู้โดยสารที่ความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำ ตามความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีโดยรวมยังอยู่ต่ำกว่า 50 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ขณะที่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีอยู่ที่ 49.6 ทรงตัวต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร ที่ดัชนียังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี สะท้อนว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้คาดว่าธุรกิจจะยังคงแย่ลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ขณะที่ในภาคการผลิต แม้ว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีโดยรวมที่ยังมากกว่า 50 แต่ดัชนีปรับลดลงเล็กน้อย จากความเชื่อมั่นด้านต้นทุนที่ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากหลายปัจจัยกดดันให้ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในระยะถัดไป อาทิ ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ราคาเหล็กและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่องในเดือนมิถุนายน ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ยังมีสภาพคล่องตึงตัว ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำ ตามราคาปัจจัยการผลิตหลายรายการที่ปรับเพิ่มขึ้น

โดยในเดือนนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าต้นทุนการผลิตสูง เป็นข้อจำกัดอันดับที่หนึ่ง จากทั้งราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และต้นทุนด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8