สรรพากรปฏิรูปภาษี เล็งเก็บธุรกรรมขายหุ้นเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน 0.11%

สรรพากร

กรมสรรพากร ศึกษาเก็บภาษีขายหุ้นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีมูลค่าซื้อขาย 1 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป อัตรา 0.11% แจงเป็นแผนปรับโครงสร้างภาษีเพื่อความเป็นธรรม ยังไม่กำหนดเวลาบังคับใช้

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานว่า รัฐบาลไทยกำลังศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นเพิ่มเติมในอัตรา 0.11% จากมูลค่าของการขายหุ้น โดยจะมีผลเฉพาะนักลงทุน ที่มีมูลค่าการซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไปเท่านั้น

ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ “TaxBugnoms” ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีสรรพากร ได้สรุปประเด็นสำคัญ ไว้ดังนี้

1.เดิมกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษี (สำหรับบุคคลธรรมดา) ซึ่งได้รับยกเว้นตามกฎหมายมานานสักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งการศึกษาเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้

2.การพิจารณาเก็บภาษี 0.11% อยู่ในระหว่างการศึกษา ยังไม่ได้บังคับใช้เป็นกฎหมาย เพียงแค่กำลังพิจารณาแนวทางถึงความเป็นไปได้เท่านั้น ซึ่งจะเก็บเฉพาะนักลงทุนที่มีมูลค่าการซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไปเท่านั้น

3.การเก็บจากส่วนนี้ไม่ได้เก็บจากกำไร แต่จะเป็นการเก็บจากการขาย (มูลค่าที่ขาย) ซึ่งมีผลให้ต้นทุนของนักลงทุนกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นอีก 0.11%

4.ถ้าเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีการซื้อขายถึง 1 ล้านบาทต่อเดือนย่อมไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะกระทบกลุ่มกองทุนทั้งในและต่างประเทศ นักลงทุนรายใหญ่ กลุ่มที่มีซื้อขายสูง

5.อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามข่าวสารเรื่องนี้กันต่อไป

รายละเอียดตามลิงก์ https://www.reuters.com/world/asia-pacific/exclusive-thailand-weighs-new-transaction-tax-securities-trades-sources-2021-07-05/?fbclid=IwAR2H863b_ZMwBPJo9OINVXupnsNvIaS9qvM5T1D9KUWt5YKczbfmiy0sGQM

https://web.facebook.com/photo?fbid=350644549761863&set=a.319842979508687

โดยนางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังเตรียมเก็บภาษีขายหุ้นแก่นักลงทุนที่มีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน ในอัตรา 0.11% นั้น ยอมรับว่าขณะนี้กรมอยู่ระหว่างศึกษาทบทวนแผนปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ในระยะยาว ซึ่งการพิจารณาในเรื่องภาษีขายหุ้นก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่กรมศึกษา

“การจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้นความจริงแล้วก็ถูกกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรกฎหมายภาษีของกรมสรรพากรอยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 อย่างไรก็ดี ยังไม่ได้มีข้อสรุปในเรื่องนี้ ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการพิจารณา” นางสมหมายกล่าว

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวด้วยว่า นอกจากภาษีในเรื่องดังกล่าวนี้ กรมก็ยังมีการศึกษาภาษีในด้านอื่น ๆ ด้วย ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าการศึกษาการปฏิรูปภาษีในระยะยาวจะแล้วเสร็จได้เมื่อใด เนื่องจากต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนในการแก้ไขกฎหมาย แต่วัตถุประสงค์หลักในการศึกษาของกรมคือต้องการปรับปรุงระบบภาษีเพื่อเกิดมีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันได้ และเป็นแนวทางการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลอย่างยั่งยืน

“การพิจารณานำภาษีขายหุ้นมาใช้เมื่อใดนั้น คงไม่ได้ปุ๊บปั๊บนำมาใช้เลย กรมยังต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับในหลาย ๆ ส่วน ซึ่งการศึกษาปฏิรูปโครงสร้างภาษีในระยะยาว คือการพิจารณาแนวทางการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลอย่างยั่งยืน จึงต้องพิจารณาโครงสร้างกาษีอย่างบูรณาการ ซึ่งก็จะมีทั้งการยกเว้นกาษีบางประเภท, การปรับเพิ่มอัตราภาษี, การหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ โดยในแต่ละเรื่องจะต้องมีการศึกษาทบทวนให้รอบคอบ รวมทั้งภาษีขายหุ้นด้วย” โฆษกกรมสรรพากรกล่าว