ล็อกดาวน์…ยืดเยื้อ จีดีพีส่อติดลบ ธปท.จี้เตรียมเครื่องมือรับวิกฤตลากยาว

ธปท.

ตอนประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี)ปี 2564 ครั้งแรก ๆ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 3.5%-0.5% หรือค่ากลาง 4% ต่อปี

หลังจากนั้น จีดีพีไทยก็สาละวันเตี้ยลงต่อเนื่อง หลังเจอผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ปลายปีที่แล้ว และซ้ำด้วยการระบาดระลอก 3 ที่หนักหน่วง รุนแรง ยืดเยื้อ เพราะไวรัสกลายพันธุ์ ช่วงนี้จึงได้เห็นหลายสถาบันด้านเศรษฐกิจต่างออกมาปรับลดประมาณการจีดีพีปี 2564 กันอุตลุด

ล่าสุดวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปรับลดคาดการณ์จีดีพีเหลือโต 1.2% โดยคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาถึงเดือน พ.ย.ถึงยอดผู้ติดเชื้อจะลดเหลือต่ำกว่า 1,000 คนต่อวันได้ ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ลงมาอยู่ที่ 0.9% โดยมองว่ามาตรการล็อกดาวน์ ความกังวลของประชาชนต่อการติดเชื้อ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาก

ตลอดจนรายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานที่จะปรับลดลงมาก มีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนกว่า 7.7 แสนล้านบาท หรือราว 4.8% ของจีดีพี

ทั้งนี้ EIC ประเมินในกรณีเลวร้าย (worse case) ว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวที่ -0.4% โดยเกิดจากสถานการณ์ระบาดเลวร้ายมากกว่าคาด ทั้งในส่วนของการระบาดทั้งโลกและไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย

ขณะที่ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับลดประมาณการจีดีพีเหลือโตแค่ 0.5% เนื่องจากมองว่าการ “ล็อกดาวน์” อาจจะกินเวลาถึง 3 เดือน ฟากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า หากการควบคุมการระบาดไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้การล็อกดาวน์ต้องยืดเยื้อออกไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งจะกระทบจีดีพีประมาณ 2% ทำให้จีดีพีโตได้แค่ 0.8-2%

โดย “ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.บอกว่า ประเด็นที่ต้องจับตาต่อในระยะสั้น ได้แก่ ความพร้อมด้านสาธารณสุข ทั้งกำลังการตรวจและการรักษา ขณะที่ภาคการผลิตอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดเพียงระยะสั้น แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอลงจะกระทบต่อยอดขายในระยะต่อไป

“ส่วนในระยะยาวควรเร่งกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง แทนมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ซึ่งอาจจำเป็นในระยะสั้น แต่ไม่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ โดยต้องจำกัดให้กระทบภาคท่องเที่ยวน้อยที่สุด หากโครงการนำร่องแซนด์บอกซ์ถูกกระทบ จะยิ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวในระยะยาว” นางสาวชญาวดีกล่าว

ทั้งนี้ ธปท.เสนอแนะเชิงนโยบายว่า ต้องเตรียมเครื่องมือและมาตรการให้เพียงพอและยาวนาน เนื่องจากการระบาดระลอกล่าสุดมีแนวโน้มจะยาวและกระทบเป็นวงกว้างกว่าระลอกก่อน ๆ และต้องทำเต็มที่ทั้งด้านนโยบายการเงินและการคลัง เนื่องจากมาตรการแต่ละด้านมีข้อจำกัด รวมถึงต้องคำนึงถึงการใช้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น เตรียมช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือทางออนไลน์เพิ่มขึ้น


ยิ่งนานวัน วิกฤตครั้งนี้ดูยิ่งลากยาว และหากแก้โจทย์ผิดจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นช้ามากขึ้นไปอีก