ธปท.ออกไกด์ไลน์การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนให้บริการทางการเงิน

ธปท. เตรียมใช้บล็อคเชน

ธปท.ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน 4 ส่วนสำคัญ ในการให้บริการทางการเงิน หนุนเกิดประโยชน์ลูกค้าผู้ใช้บริการ-องค์กรธุรกิจ สร้างความปลอดภัย-ลดต้นทุนการเงิน-ดูแลความเสี่ยงรัดกุม

วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการให้บริการทางการเงิน

เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ใช้เป็นแนวทางในการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับลูกค้าผู้ใช้บริการ และองค์กรธุรกิจต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้มีความปลอดภัยและความเชื่อมั่นแก่ประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงินในโลกการเงินยุคดิจิทัลในอนาคต

สำหรับเทคโนโลยี Blockchain มีศักยภาพในการพัฒนาภาคการเงินเนื่องจากมีคุณสมบัติสำคัญเรื่องการกระจายข้อมูลจัดเก็บ การเข้ารหัสข้อมูล การเชื่อมต่อกันโดยอ้างอิงจากข้อมูลก่อนหน้า ทำให้การบริหารจัดการข้อมูลในเครือข่าย Blockchain มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ ข้อมูลใน Blockchain ถูกปลอมแปลงแก้ไขได้ยาก และช่วยลดขั้นตอนการทำงาน

ส่งผลให้ต้นทุนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลต่ำลง ทำให้ประสิทธิภาพการดำเนินงานสูงขึ้น และสามารถนำไปพัฒนาบริการทางการเงินได้หลากหลาย ซึ่งในปัจจุบันภาคการเงินของไทยมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้มากขึ้น เช่น การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลธุรกรรมการเงิน การโอนเงินระหว่างประเทศ การออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินต่าง ๆ

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา

ทั้งนี้ แนวปฏิบัติฉบับนี้เป็นกรอบหลักการในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาพัฒนานวัตกรรมทางการเงินควบคู่ไปกับการดูแลความเสี่ยงอย่างรัดกุม โดยผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. สามารถนำมาปรับใช้กับบริการทางการเงินที่มีการประยุกต์ใช้ Blockchain โดยเฉพาะในรูปแบบ Private Blockchain Network โดยเนื้อหาของแนวปฏิบัติ Blockchain ประกอบด้วยสาระสำคัญ 4 ส่วน ได้แก่

1) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในทางธุรกิจ
2) การกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยี Blockchain
3) การบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน IT
4) การบริหารความเสี่ยงทางกฎหมาย

ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้กำกับดูแลของ ธปท. นำแนวปฏิบัติฉบับนี้ไปปรับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป