7 ปี เขตเศรษฐกิจพิเศษ ล้มลุกคลุกคลาน รัฐเบนเข็มดันระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่ได้มีมติเห็นชอบในหลักการกำหนดพื้นที่และแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค

รวมทั้งได้พิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงฐานการผลิตและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ รวมถึงการจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง

ถือเป็นความพยายามผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกเฮือกของรัฐบาล หลังจากที่พยายามพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมานานหลายปี ทว่าไม่ประสบผลสำเร็จนัก จนมีการเบนเข็มไปให้ความสำคัญกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดยหากย้อนไปในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศภายหลังก่อรัฐประหาร ได้ประกาศนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสร้างฐานการผลิตเชื่อมโยงกับอาเซียนและพัฒนาเมืองชายแดน โดยได้มีคำสั่งที่ 72/2557 เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว

จากนั้นปีต่อมาได้มีประกาศกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป้าหมาย จำนวน 10 จังหวัด แต่แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา ส่วนระยะที่สองอีก 5 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี

ปัจจุบันเวลาล่วงผ่านมาแล้วเกือบ 7 ปี โดยความก้าวหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่รายงาน ณ เดือน ก.ค. 2564 พบว่า ตั้งแต่ปี 2558-ก.ค. 2564 มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 25,841 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.การลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดำเนินการลงทุนแล้ว 57 โครงการ วงเงิน 8,658 ล้านบาท 2.การลงทุนภาคเอกชน เพื่อพัฒนาที่ดินราชพัสดุในเขตเศรษฐกิจพิเศษตราด กาญจนบุรี และนครพนม รวม 5,106 ล้านบาท

3.การลงทุนนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 2,114 ล้านบาท 4.ตั้งธุรกิจใหม่ 4,975 ราย มูลค่าลงทุนจดทะเบียนรวม 9,823 ล้านบาท และ 5.การขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนของกรมศุลกากร วงเงินรวม 140 ล้านบาท

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า หลายพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นการลงทุนของเอกชนนั้นจะมีความคืบหน้าไปได้น้อย หลายต่อหลายครั้งที่มีการเปิดประมูลไปแล้ว บางพื้นที่มีนักลงทุนสนใจซื้อซองประมูลน้อยมาก บางพื้นที่เปิดประมูลไปแล้ว ไม่ได้ผู้ชนะ บางพื้นที่มีผู้ประมูลชนะไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่เซ็นสัญญาเข้าบริหารพื้นที่ ฯลฯ

โดย “ยุทธนา หยิมการุณ” อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า วันที่ 30 ก.ค. 2564 คณะอนุกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษได้เรียกกรมเข้าร่วมประชุม เพื่อสั่งการให้เปิดประมูลสรรหาผู้ได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก โดยคาดว่าในช่วงเดือน ส.ค.นี้ จะประกาศเปิดประมูลพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตากได้

“ที่ผ่านมา กรมก็มีเปิดประมูลพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไปแล้วหลายแห่ง แต่ยังมีปัญหาเรื่องประเภทธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่กำหนดเงื่อนไขให้สามารถทำได้เพียง 7 ประเภท จึงเกิดปัญหาว่ามีการประมูลได้แล้ว แต่ไม่มีผู้ลงทุน” นายยุทธนากล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุดังกล่าวเกิดจากประเภทธุรกิจที่จะสามารถดำเนินการได้ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษยังแคบไป ดังนั้นในส่วนที่จะเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก กรมได้ปรับเงื่อนไขให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยขยายประเภทกลุ่มธุรกิจให้ครอบคลุม 13 ประเภท รวมทั้งขยายระยะเวลาสัญญาการลงทุนนานถึง 50 ปี จากเดิม 30 ปี

“ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านให้สิทธิประโยชน์ในการดึงดูดนักลงทุนค่อนข้างมาก เช่น พื้นที่ตรงข้ามอำเภอแม่สอด ก็เปิดให้นักลงทุนจีนสามารถลงทุนได้นานถึง 99 ปี แต่ในระเบียบบ้านเราสามารถทำได้เต็มที่ 50 ปี แต่ครบกำหนดแล้วก็ต่อสัญญาใหม่ได้ คือ บ้านเรายังมองว่า 50 ปี เพียงพอต่อการลงทุน หากครบกำหนดก็มาเริ่มประมูลกันใหม่ และยังมองว่าภูมิประเทศของบ้านเราดีกว่า ทั้งระบบสาธารณูปโภค และอื่น ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ทำให้นักลงทุนเข้ามา และการคิดค่าเช่าค่าธรรมเนียมก็ไม่ได้สูงมากด้วย” อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าว

ขณะที่ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการ สศช. ยอมว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษเดินหน้าไม่ได้เร็วนัก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมายังมีปัญหา อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาก็มีมาตรการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีการลงทุนจริงแล้วกว่า 8,658 ล้านบาท

“การผลักดันพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำมาแล้วราว 7 ปี ซึ่งยอมรับว่าการดำเนินงานก็มีปัญหา ทั้งในพื้นที่ เช่น เรื่องการบุกรุกที่ดิน เป็นต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามแก้ไขไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่การเข้ามาลงทุนจะเป็นเขตที่มีศักยภาพมากกว่าพื้นที่อื่น เช่น บางเขตมีผู้ประมูลได้ เพื่อดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม แต่ยังมีปัญหาเรื่องผังเมืองและอื่น ๆ ก็ต้องเข้าไปแก้ไขการทำผังเมืองเฉพาะ เป็นต้น”

เลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่า ล่าสุด ครม.ได้มอบนโยบายให้ สศช.ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีศักยภาพรองรับการลงทุน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม

“จะเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลว่า โครงสร้างการดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ จะต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไร แต่ด้วยเวลานี้ และด้วยสภาพการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังชะลอการพิจารณาเรื่องนี้อยู่”

ทั้งหมดนี้น่าจะถึงเวลาที่ต้องมาคิดกันอย่างจริงจังแล้วว่า ปัญหาอุปสรรคสำคัญคืออะไร และควรแก้ปัญหาให้ถูกจุด หรือโครงการไหน พื้นที่ไหน หากดูแล้วไม่ก่อประโยชน์อย่างแท้จริง ก็อาจจะต้องทบทวนยกเลิกไป