เกาะติด 3 ธนาคารกลาง ประชุมลดคิวอี-ขึ้นดอกเบี้ยทำตลาดเงินผันผวน 

เงินบาท

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 29.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย ส่งสัญญาณลดคิวอี-ขึ้นดอกเบี้ย รับมือเงินเฟ้อพุ่งกดดันตลาดเงินผันผวน เผยนักลงทุนจับตาเปิดประเทศหนุนฟันด์โฟลว์

วันที่ 31 ตุลาคม 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 1-5 พฤศจิกายน 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นเรื่องข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ รวมถึงการประชุมธนาคารกลางหลักสำคัญ โดยเฉพาะการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดการเงินมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น 

ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาดูว่าในการประชุมเฟดครั้งนี้ จะมีการประกาศลดการเข้าซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) อย่างไรบ้าง รวมถึงมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งจะสะท้อนถึงแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยเงินสกุลดอลลาร์ อาจผันผวนและอ่อนค่าลงได้หากเฟดไม่ได้ประกาศลด QE ในครั้งนี้ หรือสเตปการลด QE ไม่ได้เร่งรีบมากเท่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าเฟดจะลดวงเงิน QE เดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมถึงหากเฟดย้ำว่าไม่ได้กังวลแนวโน้มการเร่งตัวของเงินเฟ้อ และยังมองว่าเฟดจะไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย

“กลับกันหากเฟดแสดงความกังวลปัญหาเงินเฟ้อมากขึ้น ตลาดอาจมีความเชื่อมั่นว่า เฟดอาจต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้”

นอกจากการประชุมเฟด ตลาดยังจับตาการประชุมธนาคารกลางที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้ คือ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยตลาดต่างรอลุ้นว่า BOE จะส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างไรบ้าง หลังเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นไปมาก โดยมุมมองของ BOE ที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย หรือ ลด QE จะช่วยหนุนให้เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นและกดดันเงินดอลลาร์ได้

ขณะเดียวกัน ตลาดการเงินก็อาจจะปั่นป่วนจากผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า RBA อาจเริ่มส่งสัญญาณพร้อมปรับขึ้นดอกเบี้ย และทยอยลดการคุมบอนด์ยีลด์ 

ขณะเดียวกัน ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing + Services PMI) ของจีนและสหรัฐฯ ทั้งนี้ ไฮไลท์ ข้อมูลเศรษฐกิจคือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดจะรอลุ้นว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) จะฟื้นตัวดีขึ้นขนาดไหน หลังมาตรการช่วยเหลือผู้ตกงานในช่วงโควิด-19 ได้จบลงในเดือนกันยายน ซึ่งตลาดมองว่า NFP อาจเพิ่มขึ้น 3.9 แสนราย ในเดือนตุลาคม ดีขึ้นจากที่เพิ่มเพียง 1.9 แสนรายในเดือนก่อนหน้า

“การฟื้นตัวของตลาดแรงงานก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้เฟดกล้าเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นจำนวน 6,822 ล้านบาท และตลาดบอนด์ซื้อสุทธิ 5,756 ล้านบาท เนื่องจากมีประมูลบอนด์ในช่วงต้นสัปดาห์และยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวลดลง

ขณะที่ภายในสัปดาห์หน้า ประเมินภาพฟันด์โฟลว์คงไม่ต่างจากสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคงรอดูแนวโน้มการเปิดประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการล็อกดาวน์เข้มงวด ดังนั้น ในฝั่งหุ้นน่าจะเห็นนักลงทุนต่างชาติมีการซื้อ-ขายสลับกัน แต่โดยรวมอาจเป็นฟันด์โฟลว์ไหลออกตามการขายทำกำไร (take profit) 

“บอนด์ก็จะนิ่งๆ เช่นกัน จนกว่าจะมีการประมูลบอนด์ใหม่ หรือ ยีลด์ปรับตัวขึ้นไปเยอะมากจนน่าสนใจ อาทิ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย ทะลุเหนือระดับ 2.00%” 

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 32.90-33.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยตลาดติดตามผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 3 พ.ย.64 ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ (QE) และการประเมินภาวะเงินเฟ้อ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับจังหวะเวลาปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไปรวมถึงข้อมูลการผลิตและจ้างงานเดือน ต.ค. ของสหรัฐฯ และประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) 

“กรณีเฟดมองเงินเฟ้อสูงชั่วคราวก่อนจะชะลอลงในปีหน้า จะเห็นดอลลาร์อาจอ่อนค่า แต่ถ้าประเมินเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสูงนาน อาจสนับสนุนมุมมองของตลาดว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย และดอลลาร์จะแข็งค่า ส่วนการเริ่มลด QE ก่อนสิ้นปีนี้ ตลาดรับรู้ไปมากแล้ว แต่จะมุ่งเน้นไปที่รายละเอียดเกี่ยวกับอัตราการลด QE เป็นสำคัญ และกระแสเงินทุนไหลเข้า แนวทางการเปิดประเทศ หนุนค่าเงินบาท หลังจากอ่อนค่ามามากเกือบตลอดทั้งปีนี้”