ตลาดหุ้น หวั่นเก็บภาษีขายหุ้นกระทบวอลุ่ม เอฟเฟ็กต์เก็งกำไรระยะสั้น

หุ้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ หวั่นเก็บภาษีขายหุ้นกระทบวอลุ่มเทรด ชี้เอฟเฟ็กต์นักลงทุนซื้อขายความถี่สูงหวังเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งมีปริมาณวอลุ่มเทรดเฉลี่ย 20-30% แล้วแต่วัน

วันที่ 17 ธันวาคม 2564 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า กรณีที่กระทรวงคลังมีแผนเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ในตลาดหุ้นไทยช่วงปี 2565 ที่อัตรา 0.1% ของมูลค่าซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือนนั้น ตลท.ยอมรับแผนจัดเก็บภาษีดังกล่าว

เนื่องจากเป็นนโยบายภาครัฐ ซึ่งมีความจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น ที่ถูกยกเว้นมานานหลายปี เพื่อต้องใช้เงินภาษีมากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการสอดคล้องในหลายประเทศที่ได้ดำเนินการไปแล้วหลังช่วงโควิด

แต่ทั้งนี้ ตลท.อยากให้กระทรวงการคลังประเมินเวลาที่เหมาะสมต่อการเก็บภาษีดังกล่าว เพื่อให้นักลงทุนได้เตรียมตัวล่วงหน้า ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมฯ จะได้มีเวลาวางแผนเรื่องระบบการเก็บข้อมูลภาษีให้ได้ทันเวลาด้วย

นอกจากนี้ ตลท.มีข้อเสนอให้พิจารณาว่าทำอย่างไรให้กระทบกับจำนวนนักลงทุนให้เหมาะสม โดยอัตราภาษีที่เรียกเก็บต้องไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ

“สิ่งที่ควรวิเคราะห์ดูว่าการเก็บภาษีอัตรา 0.1% ของมูลค่าซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการลงทุน เช่น ค่าธรรมเนียมการขาย, ค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ที่ชาร์จนักลงทุน มีความเหมาะสมและมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรเมื่อเทียบการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงคลัง” นายภากร กล่าว

เทียบคู่แข่งเก็บภาษีใกล้เคียงกัน

นายภากร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ใกล้เคียงกับไทย ประกอบด้วย มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, เกาหลี, ฮ่องกง ซึ่งแต่ละประเทศจัดเก็บในอัตราส่วนที่ไม่เหมือนกัน

โดย 3 ประเทศ อาทิ ฮ่องกง, สิงคโปร์, มาเลเซีย จะจัดเก็บภาษีในรูปแบบภาษีอากรแสตมป์(Stamp Duty Tax) ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

“ในช่วงหลังหลายประเทศมีการเก็บภาษีจากการขายหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังช่วงโควิด อาทิ อินโดนีเซียและมาเลเซีย เพิ่งประกาศจัดเก็บภาษีไปเมื่อปีที่แล้ว เพราะฉะนั่้นสิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังจะจัดเก็บภาษีดังกล่าวค่อนข้างเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในหลายประเทศ” นายภากร กล่าว

กระทบวอลุ่มเทรด-เอฟเฟ็กซ์นักเก็งกำไรระยะสั้น

นายภากร กล่าวอีกว่า จากต้นทุนที่สูงขึ้นคงจะมีนักลงทุนบางประเภทที่ถูกกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่มีการซื้อขายความถี่สูง (High Frequency Trading) ทั้งนักลงทุนต่างประเทศและในประเทศที่มีการซื้อขายเร็วๆ หวังกำไรในระยะสั้นๆเพราะต่อไปคงจะต้องรอให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวมากกว่าเดิมถึงจะมีการซื้อขาย

เพราะฉะนั้นก็น่าจะมีการกระทบต่อวอลุ่มการซื้อขาย โดยปัจจุบันปริมาณวอลุ่มการเทรดกลุ่ม HFT อยู่ประมาณ 20-30% แล้วแต่วัน โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันวอลุ่มการซื้อขายหุ้นไทยอยู่ที่ 94,631 ล้านบาทต่อวัน

“ถ้าเรามองเทรดดิ้งวอลุ่ม คือ สภาพคล่องในตลาดยิ่งมากยิ่งดี เพียงแต่สภาพคล่องดังกล่าวเป็นสภาพคล่องที่เราอยากได้ทั้งหมดหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับเป็นสภาพคล่องที่เกิดขึ้นจากเรียลดีมานด์เรียลซัพพลาย หรือถ้าเกิดจากการปั่นตลาด เราก็ไม่ได้อยากได้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่เราก็ดูแลอยู่สิ่งไหนผิดปกติ ถ้าเป็นการเทรดระยะสั้นแบบปกติเราก็อยากได้วอลุ่มตรงนี้อยู่แล้ว” นายภากรกล่าว

ตลท.เสนอ 4 แผนถึงคลังพัฒนาตลาดทุนไทย

นายภากร กล่าวเพิ่มอีกว่า ปัจจุบันกระทรวงคลังให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้จัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนฉบับใหม่ที่กำลังจะออก

โดยสิ่งที่ ตลท.อยากให้กระทรวงคลังพิจารณามีด้วยกัน 4 เรื่องหลักคือ 1.การทำให้มีโปรดักต์ใหม่ (New Economy) รวมถึงโปรดักต์เซ็กเตอร์ใหม่และโปรดักต์ต่างประเทศ 2.การปรับปรุงกระบวนการให้ง่ายขึ้นผ่านการใช้ดิจิทัล การเป็นระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (Scripless) และเปิดบัญชีง่ายขึ้นสอดคล้องกับวิถีใหม่ 3.การพัฒนาอีโคซิสเต็มความยั่งยืน (ESG) และ 4.การปรับปรุงกฎหมาย เช่น การลงทุนโดยสมาคมฯ การปรับปรุงกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ ผลักดันกฎหมายมหาชนให้สามารถทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายขึ้น

ปี’65 ตลท.ออกโปรดักต์ลงทุนต่างประเทศ

นายภากร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนักลงทุนไทยลงทุนทั่วโลก และลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำลงเรื่อยๆ ผ่านหลายวิธี ทั้งซื้อกองทุนรวม ซื้อผลิตภัณฑ์ ETF ในตลาดหลักทรัพย์ หรือเปิดบัญชีลงทุนต่างประเทศผ่านบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน

นั่นคือเหตุผลที่ในปี 2565 ตลท.จะมีการสนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์ไปลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ที่เรียกว่า Depositary Receipt ที่ไปลงทุนต่างประเทศได้ปริมาณตามที่นักลงทุนอยากซื้อ ไม่ว่าจะหลักร้อยบาทหรือหลักพันบาทก็ลงทุนได้ ซึ่งเป็นการปรับตัวให้ ตลท.มีผลิตภัณฑ์ต่างประเทศได้