2 นายกประกันผวาโอไมครอน กระทบหนักครึ่งปีแรกธุรกิจเสี่ยงเจ๊งเพิ่ม

“2 นายกประกัน” จับตา “โอไมครอน” ปัจจัยลบธุรกิจประกันปี 2565 “อานนท์” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยคาดปีเสือเบี้ยใหม่โควิดหาย 2-3% ฉุดพอร์ตเบี้ยสุขภาพติดลบ หวั่นโอไมครอนป่วนลากยาวครึ่งปีแรก ส่อดันค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดพุ่งสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ฟาก “สาระ” นายกสมาคมประกันชีวิตไทย คาดเบี้ยประกันชีวิตโตไม่หวือหวา-เบี้ยปีต่อหายจากประกันสะสมทรัพย์ครบกำหนดจ่ายเบี้ยแต่ยังมีผลคุ้มครอง คาดโควิดดัน “ค่าใช้จ่ายสุขภาพ-ค่ารักษา” พุ่ง

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2564 คาดว่าอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 263,200 ล้านบาท เติบโต 4.2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน

โดยประกันภัยรถยนต์ (motor) เติบโต 0.3% และประกันภัยที่ไม่ใช่รถ (nonmotor) เติบโต 9.5% ซึ่งหลัก ๆ มาจากเบี้ยประกันภัยทรัพย์สิน ที่เติบโตได้ 4.3% จากงานรับประกันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์)

และการรับประกันสินค้าส่งออกนำเข้าเติบโตดี ขณะที่ประกันสุขภาพรวมประกันภัยโควิด-19 เติบโต 121.3% และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เติบโต 8.2%

ส่วนในปี 2565 คาดการณ์เบี้ยประกันภัยรับรวมจะอยู่ที่ 267,100-269,800 ล้านบาท เติบโตราว 1.5-2.5% ต่อปี ใกล้เคียงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตราว 3.5-4.5% ต่อปี อย่างไรก็ดี เบี้ยประกันยังจะต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่เติบโตเป็น 2 เท่าของ GDP

“ตัวแปรสำคัญ คือการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจประกันวินาศภัยในช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565 ส่งผลให้ครึ่งปีแรกการใช้รถยนต์คงน้อยลง

และทำให้เบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มลดลงด้วย ขณะเดียวกันเบี้ยใหม่ จากประกันภัยโควิดปี 2565 จะหายไปประมาณ 2-3% ของเบี้ยรวม กดดันให้เบี้ยประกันสุขภาพจะติดลบ”

นายอานนท์กล่าวด้วยว่า จากที่มีข้อมูลวิจัยจากบริษัทไทยรับประกันภัยต่อ ซึ่งคาดการณ์ว่าการจ่ายสินไหมทดแทนประกันโควิดอาจจะพุ่งทะลุ 1 แสนล้านบาท ในกรณีโอไมครอนนั้น จากกรณีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าจนถึงสิ้นปี 2564

คาดว่าธุรกิจประกันวินาศภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นแบบเจอจ่ายจบสูงถึง 34,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 6,000 ล้านบาท เป็นค่ารักษาพยาบาล/โคม่า/ค่าชดเชยรายวัน

โดยหากในปี 2565 มีการระบาดของโอไมครอน ค่าสินไหมทดแทนของประกันภัยโควิดอาจสูงถึง 110,000-180,000 ล้านบาท เนื่องจากสถิติผู้ติดเชื้อโอไมครอนเร็วกว่าเดลต้าประมาณ 3-4 เท่า โดยอัตราการติดเชื้อโควิดของผู้มีประกันภัยโควิดโดยรวมอยู่ที่ 3.8% สูงกว่าแต่การติดเชื้อของประชากรไทยทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ 2.8%

“อาจเห็นบริษัทประกันวินาศภัยที่ขายเจอจ่ายจบ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเพิ่มอีกได้ จากปัจจุบันกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบยังเหลือความคุ้มครองอีกกว่า 7 ล้านกรมธรรม์ จะหมดความคุ้มครองประมาณสิ้นเดือน มิ.ย. 2565

โดยปี 2565 ค่าใช้จ่ายเคลมประกันสุขภาพและประกันโควิดจะเยอะแน่ ๆ เพราะอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด (long COVID) จะทำให้อวัยวะภายในไม่แข็งแรง ซึ่งจะมีผลต่อการเจ็บป่วยในอนาคต” นายอานนท์กล่าว

ขณะที่นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ภาพรวมเบี้ยประกันชีวิตปี 2564 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 590,000-610,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตในช่วง -1% ถึง +1% ต่อปี

ส่วนภาพรวมธุรกิจในปี 2565 ตัวเลขเบี้ยรวมยังประเมินยาก แต่คงไม่หวือหวา เพราะอัตราการถือครองกรมธรรม์ต่ำ ทั้งนี้ เศรษฐกิจปี 2565 ยังได้รับผลกระทบจากโควิด ภาคธุรกิจเผชิญภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ส่งผลให้เบี้ยประกันก้อนใหญ่จากสินค้าประกันสะสมทรัพย์เป็นเทรนด์ขาลง แต่เบี้ยใหม่ยังพอโตต่อได้ จากปี 2564 โตอยู่ในระดับ 7-8%

แต่เบี้ยประกันปีต่ออายุจะหายไปจากสินค้าที่ครบกำหนดจ่ายเบี้ย แต่ยังมีผลความคุ้มครองอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบประกันสะสมทรัพย์

โดยตัวช่วยที่จะเข้ามา คือสินค้าคุ้มครองชีวิตและส่วนควบสุขภาพ แต่ขนาดเบี้ยจะเล็กกว่าสะสมทรัพย์ถึง 10 เท่า รวมไปถึงสินค้าประกันชีวิตควบการลงทุน (unit-linked) คงจะโตมากขึ้น

เพราะตัวแทนและนายหน้าธนาคารเริ่มหันมาขายเป็นสัญญาหลักพ่วงส่วนควบสุขภาพ ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่จะได้ทั้งความคุ้มครองชีวิต สุขภาพ และการลงทุน

“ปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจในปี 2565 คงจะเห็นภาพผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มมากขึ้นในประเทศ ขณะเดียวกันผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติไปหาหมอที่โรงพยาบาล


เพราะฉะนั้นมีโอกาสที่ค่าใช้จ่ายเคลมประกันสุขภาพทั่วไปและการรักษาตัวจากโรคโควิดจะสูงขึ้นมาก แต่อัตราการเสียชีวิตคงไม่ผันแปรมาก เห็นจากช่วงการติดเชื้อสูงยาวประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้นแล้วค่อย ๆ ลดลงมา” นายสาระกล่าว