กองทุนประกันเงินหมด จ่อกู้คืนเจ้าหนี้ “เดอะวัน-เอเชีย”

กองทุนประกันวินาศภัย

เช็กฐานะกองทุนประกันวินาศภัยเผชิญมรสุมประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” จ่อต้องกู้เงินจ่ายคืนเจ้าหนี้แทน 2 บริษัทประกันภัย “เอเชีย-เดอะวัน” ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เผยมีเงินเหลืออยู่ 5 พันล้านบาท ต้องจ่ายหนี้ 2 บริษัทรวมกันสูงกว่า 7 พันล้านบาท ฟาก คปภ.ชี้ช่องกู้ยืมจากกองทุนประกันชีวิตได้

แหล่งข่าวจากกองทุนประกันวินาศภัยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันกองทุนประกันวินาศภัยมีเงินเหลืออยู่กว่า 5,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินที่รอชดใช้ให้เจ้าหนี้ของบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้หลายแห่ง รวมกันกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาทยอยคืนหนี้ เพราะต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สิน

ส่วนเงินที่เหลืออีกราว 3,000 ล้านบาท จะใช้สำหรับจ่ายคืนเจ้าหนี้ บมจ.เอเชียประกันภัย และ บมจ.เดอะวัน ประกันภัย โดยคาดว่าหลังจากนี้เงินจะไหลออกอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ ซึ่งเป็นหนี้ที่ได้ข้อยุติแล้ว ทำให้มีเงินไม่พอจ่าย

“เนื่องจากหนี้ของ 2 บริษัทดังกล่าว รวมกันจะสูงกว่า 7,000 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ของเอเชียประกันภัยกว่า 4,500 ล้านบาท และหนี้ของเดอะวัน ประกันภัย อีกกว่า 2,700 ล้านบาท ทำให้เงินกองทุนที่จะจ่ายคืนอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนคงต้องหารือกัน เพื่อพิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัยกู้ยืมเงินมาจ่ายหนี้ ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี คงต้องรวบรวมยอดหนี้สุทธิก่อน ซึ่งกองทุนมีการเปิดให้เจ้าหนี้ของเอเชียประกันภัยยื่นคำขอทวงหนี้ได้จนถึงวันที่ 14 ก.พ. 2565 และตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2565 จะเปิดให้เจ้าหนี้ของเดอะวัน ประกันภัย ยื่นคำขอทวงหนี้ไปจนถึงวันที่ 21 เม.ย. 2565 จึงจะสามารถสรุปตัวเลขยอดเงินที่ต้องจ่ายทั้งหมดได้” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับฐานะการเงินกองทุนประกันวินาศภัย สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2563 มีสินทรัพย์รวม 5,602 ล้านบาท แยกเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน 3,168 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 62 ล้านบาท 2.เงินลงทุนชั่วคราว 2,728 ล้านบาท 3.รายได้ค้างรับ 323 ล้านบาท

4.สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น (ดอกเบี้ยค้างรับ, เงินเพิ่มค้างรับ, ค่าเบี้ยประกันภัยจ่ายล่วงหน้า) รวมกันประมาณ 55 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอีกมูลค่า 2,434 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.เงินลงทุนระยะยาว 2,406 ล้านบาท 2.อาคารและอุปกรณ์-สุทธิ 18.7 ล้านบาท 3.สินทรัพย์ไม่มีตัวตน-สุทธิ 8.8 ล้านบาท

โดยปี 2563 กองทุนประกันวินาศภัยมีรายได้รวม 748 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.รายได้เงินนำส่งเข้ากองทุนจากบริษัทประกันวินาศภัย 632 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยต้องนำส่งเข้ากองทุน 0.5% ของเบี้ยประกันที่ได้รับในรอบระยะเวลา 6 เดือนก่อนหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน

2.รายได้ค่าสินไหมทดแทนที่พ้นอายุความ 10.5 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่าหากเจ้าหนี้ไม่มายื่นขอรับเงินภายใน 10 ปี ให้ตกเป็นเงินของกองทุน 3.รายได้ค่าปรับและเงินเพิ่มจากบริษัทประกันวินาศภัย 23.8 ล้านบาท โดยบริษัทที่ไม่นำส่งต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของจำนวนเงินของบริษัทนั้น และ 4.รายได้จากดอกเบี้ยรับ 82.34 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายรวมมีอยู่ประมาณ 252 ล้านบาท หลัก ๆ เป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ประมาณ 2.7 ล้านบาท

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากกองทุนประกันวินาศภัยจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาจ่ายหนี้จริง ๆ อาจใช้วิธีกู้ยืมผ่านกองทุนประกันชีวิตได้ หากทั้งสองกองทุนสามารถตกลงผลตอบแทนที่เป็นที่พอใจกันได้ เช่น เดิมฝากออมทรัพย์ได้ผลตอบแทน 0.5% แต่ถ้าปล่อยกู้ให้คิดดอกเบี้ย 1% ก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ถือเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง เป็นต้น

ล่าสุด บริษัท สินมั่นคง ประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งลูกค้าว่า ตามที่บริษัทได้ปิดการขาย หรือ หยุดการขายประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus (COVID-19)) ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 เพื่อแจ้งเตือนและยืนยันอีกครั้งว่า การปิดการขาย หรือหยุดการขายประกันภัยดังกล่าว ได้รวมถึงการไม่ต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus (COVID-19)) ทุกประเภทผลิตภัณฑ์

ดังนั้น บริษัทจะไม่พิจารณารับประกันภัยและหรือไม่ยินยอมการขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยในทุกกรณี ทั้งนี้ การโอนเงินเข้าบัญชีบริษัท โดยไม่ได้แจ้งขอความยินยอมในการทำประกันภัยกับบริษัท และยังไม่ได้รับความยินยอมให้ทำประกันภัยกับบริษัท ไม่ถือเป็นเหตุในการอ้างสิทธิเพื่อแจ้งต่ออายุกรมธรรม์ และบริษัทจะไม่รับผิดชอบในทุกกรณี