จับสัญญาณ “หุ้นค้าปลีก” ฟื้น กำไรเฉียด 5 หมื่นล้าน-CRC พลิกบวก

หุ้นไทย

จับสัญญาณหุ้นค้าปลีกฟื้นตามเศรษฐกิจ-มาตรการรัฐกระตุ้น “บล.กสิกรไทย” ประเมินกำไรกลุ่มทั้งปีนี้โต 62% เฉียด 5 หมื่นล้านบาท มอง “CPALL-CRC” ฟื้นตัวดีสุดหลังอ่วมผลกระทบล็อกดาวน์ ห่วง “โอมิครอน” ตัวฉุด ชูหุ้นเด่น 2 กลุ่มในไตรมาสแรก “วัสดุก่อสร้าง-กลุ่มได้ประโยชน์มาตรการรัฐ” ฟาก “บล.เมย์แบงก์ฯ” ชี้หุ้นค้าปลีกผ่านจุดแย่สุดไปแล้ว

นางสาวธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรสุทธิหุ้นกลุ่มค้าปลีกปี 2565 รวม 7 บริษัท ประกอบด้วย

1.บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)

2.บมจ.ซีพี ออลล์ (CP ALL)

3.บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC)

4.บมจ.ดูโฮม (DOHOME)

5.บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL)

6.บมจ.โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO)

และ 7.บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) จะอยู่ที่ 47,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY)

โดยงวดไตรมาส 4/2564 ที่กำลังจะประกาศผลประกอบการออกมานั้น คาดว่าทั้งกลุ่มจะมีกำไรสุทธิรวม 13,000 ล้านบาท เติบโต 36% เมื่อเทียบจากไตรมาส 3/2564 ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ และเพิ่มขึ้น 4% YOY ทั้งนี้ เป็นไปตามทิศทางการเปิดเมืองและกำลังซื้อจากคนจับจ่ายในห้างสรรพสินค้าที่เพิ่ม

“ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเยอะจากการล็อกดาวน์จะฟื้นตัวได้ดีมาก ทั้ง CPALL และ CRC แต่ธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์ อย่างธุรกิจปรับปรุงบ้าน อาทิ GLOBAL และ DOHOME ผลประกอบการน่าจะแค่ทรงตัว ส่วนหนึ่งเพราะราคาเหล็กปรับตัวลง ทำให้มาร์จิ้นทำได้ไม่ดีนัก”

นางสาวธรีทิพย์กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2565 จะมีปัจจัยเชิงบวกมาจากการที่ประชาชนใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากขึ้น มีมาตรการภาครัฐผ่านโครงการช้อปดีมีคืน เข้ามาช่วยสนับสนุนกลุ่มห้างสรรพสินค้าและร้านค้ารายย่อยจากกลุ่มผู้เสียภาษี ประกอบกับโครงการคนละครึ่งหมดลงช่วงปลายปี 2564 และจะเว้นช่วง 3 เดือน เชื่อว่าพฤติกรรมผู้บริโภค อาจหันมาซื้อสินค้าจากโมเดิร์นเทรดมากขึ้นกว่าในช่วงก่อนที่มุ่งเน้นการใช้จ่ายตามร้านค้ารายย่อย

ส่วนปัจจัยเชิงลบยังคงมีความกังวลต่อความรุนแรงของการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่ยังต้องระมัดระวังในพื้นที่สาธารณะ เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตในภาพรวมอาจทำได้ไม่เต็มที่นัก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งทำให้การฟื้นตัวทำได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้การกลับมาของนักท่องเที่ยวนานออกไป ซึ่งเป็นอีกกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนการบริโภค

ด้านผลกระทบราคาโภคภัณฑ์กลุ่มเนื้อสัตว์ที่ปรับขึ้นมาเร่งตัวค่อนข้างเร็วนั้น โดยภาวะปกติร้านค้ารายย่อยหรือโมเดิร์นเทรดส่วนใหญ่จะผลักดันต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ผู้บริโภค จะแบกรับต้นทุนไว้เองไม่มาก แต่ในช่วงที่กำลังซื้อไม่ดีนัก ในทางกลับกันอาจต้องมีการให้โปรโมชั่นหรือส่วนลดบ้างเพื่อดึงดูดผู้บริโภค เพราะฉะนั้นผลกระทบอาจจะมีบ้างแต่ไม่มาก

“ช่วงไตรมาสแรกนี้ หุ้นค้าปลีกที่จะโดดเด่นสุด มี 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากเป็นฤดูการขายวัสดุก่อสร้าง โมเมนตัมอาจจะมีรีบาวนด์ได้ จากไตรมาส 4/2564 ที่ยืนได้แค่ทรง ๆ ตัว ก็น่าจะดีขึ้น และ 2.หุ้นได้ประโยชน์จากมาตรการรัฐ และการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศหลังการเปิดเมืองที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่มีผลกระทบจากโอมิครอนมาก เพราะห้างเป็นสถานที่ผู้บริโภคนิยมไปใช้มาตรการ”

“โดยเราประเมินโอมิครอนไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก น่าจะไม่มีล็อกดาวน์ เพียงแต่จะเป็นการฟื้นตัวช้า จากเดิมที่คาดหวังการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศจะช่วยทำให้การบริโภคฟื้น ก็อาจใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง”

นางสาวธรีทิพย์กล่าวอีกว่า ฝ่ายวิจัยแนะนำซื้อหุ้นค้าปลีกทุกตัว ยกเว้นหุ้น MAKRO ที่แนะนำถือ เนื่องด้วยกำไรเติบโตดี แต่ในเชิงกำไรต่อหุ้น (EPS) น่าจะยังไม่เห็นการเติบโตในปีนี้ เพราะมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งจากจ่ายเป็นค่าตอบแทนซื้อกิจการโลตัสส์ และการออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (PO) เมื่อปลายปี 2564

ขณะที่นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลประกอบการหุ้นค้าปลีกงวดไตรมาส 4/2564 โมเมนตัมจะดีขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันปีก่อน ดูจากสัญญาณยอดขายสาขาเดิม (SSSG)

ส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นโตเป็นสองหลักได้ และมาร์จิ้นขยับขึ้นได้ดี ผ่านจุดแย่ ๆ ในช่วงล็อกดาวน์ไปหมดแล้ว และสัญญาณภาคการบริโภคช่วงเปิดเมืองปลายปี 2564 ดูดีขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อมาในช่วงต้นปี 2565 เพราะสัญญาณมาตรการภาครัฐที่เข้ามาหนุนส่วนใหญ่ เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1-2 เป็นต้นไป เช่น คนละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน เป็นต้น


“การบริโภคปีนี้จะโต 4.3% จะทำให้หุ้นค้าปลีกปีนี้ค่อย ๆ กลับมาได้ ซึ่งเป็นตัวสำคัญของ GDP โดยไตรมาสแรกหุ้นที่เด่นสุดคือ GLOBAL ที่เป็นจุดพีกจากรายได้เกษตรกรที่เข้ามา ส่วนตัวอื่น ๆ พีกสุดอยู่ในช่วงไตรมาส 4 แต่ปีนี้เชื่อว่าทิศทางพอไล่เรียงมาถึงไตรมาส 1 ได้ โดยกลุ่มสินค้าราคาหลักพันถึงหมื่นบาท เชื่อว่าจะขายดีจากมาตรการช้อปดีมีคืน กับกลุ่มไอทีและแก็ดเจต จะมีกำไรค่อนข้างดีทั้ง JMART, COM7 ขณะที่โมเดิร์นเทรดการฟื้นตัวยังไม่แรง จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตามภาพเศรษฐกิจ อาจจะดีที่ฐานต่ำ เช่น BJC ส่วนหุ้นธุรกิจปรับปรุงบ้าน เชื่อว่าอยู่ในโซนดีทั้ง GLOBAL, DOHOME, HMPRO โดย HMPRO ราคาหุ้นยังไม่ปรับขึ้นมาก (laggard) จึงน่าสะสมถือลงทุนได้” นายวิจิตรกล่าว