3 เทรนด์ธุรกิจสู่ Net Zero ที่ต้องจับตาในปี 2022

คอลัมน์ มองข้ามชอต
พิมใจ ฮุนตระกูล
Economic Intelligence Center (EIC) ธ.ไทยพาณิชย์

การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย net zero ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำเนินงานของผู้บทความเล่นในทุกอุตสาหกรรม โดยหลายประเทศได้เริ่มออกนโยบายสนับสนุนการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดจากการบรรเทาผลกระทบ และการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในภาคเอกชน การประกาศเป้าหมาย net zero ของบริษัทต่าง ๆ จะส่งผลให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อผู้ประกอบการทั่วโลก

นอกจากนี้ การเร่งการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ climate tech ก็จะมีนัยไม่เพียงต่อการบรรลุเป้าหมาย net zero เท่านั้น แต่ยังมีนัยด้านการแข่งขันของประเทศด้วย ปัจจุบันการแข่งขันด้าน climate tech

เช่น เทคโนโลยีการผลิตพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ และเทคโนโลยีไฮโดรเจน มีมิติในการแข่งขันหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดราคาพลังงานในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน

การสร้างอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและเพื่อการส่งออก หรือการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งรวมถึง semiconductor เหมืองแร่ หรือแม้แต่การรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่จากรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แนวคิดของ circular economy เป็นต้น

ในปี 2022 EIC มองว่า เทรนด์ด้าน net zero ที่ต้องจับตามอง มี 3 เทรนด์หลัก ได้แก่

1) การพัฒนา green taxonomy หรือการจำแนกหมวดหมู่สำหรับกิจกรรมสีเขียวของประเทศต่าง ๆ

ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในเชิงบวก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้บริโภค ไม่สามารถคัดกรองการดำเนินงานที่ส่งผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมได้ และยังส่งผลให้เกิดปัญหา green washing หรือการอ้างว่า สินค้าหรือบริการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกด้วย

หลายประเทศจึงได้จัดทำ taxonomy สร้างมาตรฐานเพื่อให้การสนับสนุนของภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชนในด้านสิ่งแวดล้อมและ net zero สอดคล้องกัน

โดยสหภาพยุโรปจัดเป็นผู้นำด้านการมุ่งสู่เศรษฐกิจ net zero โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2030 และบรรลุ net zero ภายในปี 2050

ทั้งนี้ taxonomy ของ EU จะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางการลงทุนในสหภาพยุโรปในระยะ 6 ปีข้างหน้า (ตามนโยบายระยะ 2021-2027) และมีแนวโน้มที่จะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานของประเทศอื่นทั่วโลกที่ต้องการกำหนดคำจำกัดความในลักษณะเดียวกัน

เมื่อมีการใช้ taxonomy กันอย่างแพร่หลาย การลงทุนในกิจกรรมสีเขียวก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนในด้านเงินลงทุนง่ายขึ้น และมากกว่ากิจกรรมที่ไม่ถูกจัดว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันกิจกรรมที่ไม่ผ่านเกณฑ์ของ taxonomy หรือ “ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง” ก็จะมีความเสี่ยงด้านการจัดหาเงินทุนและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น

ดังนั้น การพัฒนา green taxonomy ของหลายประเทศทั่วโลก จึงเป็นเรื่องที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในต่างประเทศ และในโครงการที่มีความเสี่ยงต่อการจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่ลงทุนไปแล้วไม่ได้ใช้งาน และไม่สร้างรายได้ (stranded asset)

2) net zero supply chain – เมื่อบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกได้ตั้งเป้าหมาย net zero ความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายของบริษัทเหล่านี้จะกดดันซัพพลายเออร์ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับห่วงโซ่อุปทาน

แม้ว่าซัพพลายเออร์ หรือโรงงานจะตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่เข้มงวดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยก็ตาม เช่น Apple ที่ยกระดับ net zero ทั้งห่วงโซ่อุปทานภายในปี 2030 ได้ประกาศว่า ซัพพลายเออร์ของบริษัท 110 ราย ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก

เช่น ในจีน เวียดนาม ไทย อินเดีย หรือบราซิล จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ขณะเดียวกัน Honda ได้เสนอให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4% ทุกปี เทียบกับปีฐาน 2019 เพื่อให้บรรลุ net zero ภายในปี 2050

เมื่อบริษัทในห่วงโซ่อุปทานโลกกำลังมุ่งหน้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทที่ทำตามเงื่อนไขของห่วงโซ่อุปทานได้ช้ากว่าบริษัทอื่นย่อมเสี่ยงที่จะหลุดออกจากห่วงโซ่อุปทานนั้น เนื่องจากเป้าหมายจะถูกนำไปกำหนดเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งจากการดำเนินงานโดยตรง (scope 1) จากการใช้ซื้อไฟฟ้าและความร้อนจากผู้ให้บริการ (scope 2) และจากการจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วน (scope 3) เป็นผลให้บริษัทที่ต้องการทำตามเป้าหมาย net zero อาจมีการนำมาตรฐานการดำเนินงานอย่างมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้าง หรือเงื่อนไขการคัดเลือกซัพพลายเออร์มาใช้

เช่น ซัพพลายเออร์ต้องกำหนดนโยบายบริษัทที่เกี่ยวกับพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมีกระบวนการทำงานที่ลดขยะ เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงาน เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานและลดความเสี่ยงจากการหลุดออกจากห่วงโซ่อุปทานที่มีข้อกำหนดด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มจากการหา carbon footprint ของการดำเนินงานเพื่อกำหนดกรณีฐานของตัวเอง

ตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากร และทำแผนการปรับลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกและติดตามอย่างเป็นระบบ อีกทั้งทำแผนการลงทุนในคลีนเทคตามความพร้อมขององค์กร เพื่อสร้างความสามารถด้านการแข่งขันในห่วงโซ่อุปทานโลก ที่กำลังมุ่งสู่การทำตามเป้าหมาย net zero

3) การลงทุนใน climate tech – หลาย ๆ ประเทศต่างเล็งเห็นว่า climate tech และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในด้านการจ้างงาน การเพิ่มผลิตภาพของประเทศ การใช้นวัตกรรม การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการสร้างความยืดหยุ่นในการฟื้นตัว เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น

ดังนั้น หลายประเทศจึงได้กำหนดให้คลีนเทคเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เห็นได้จากนโยบายและแผนระยะยาวที่สนับสนุนการสร้างความ สามารถด้านเทคโนโลยีภายในประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีน เพื่อ leapfrog เทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายใน และรักษาความเป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่ lithium-ion หรือแผน Hydrogen Strategy for a Climate-Neutral Europe

ซึ่งเป็นแผนการลงทุนและสนับสนุนให้เกิดการผลิตและการใช้กรีนไฮโดรเจน หรือไฮโดรเจนที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ที่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานและมุ่งเน้นการสร้างอีโคซิสเต็ม นอกจากนี้การลงทุนฝั่งเอกชนก็เร่งตัวขึ้นเช่นกัน ใน 6 เดือนแรกของปี 2021 การลงทุนในบริษัทด้าน climate tech ของ venture capitals สูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าการลงทุนในปี 2020 กว่า 30%

การลงทุนใน climate tech จะเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโอกาสในการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีใหม่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้า

ดังนั้นการติดตามการพัฒนาเทคโนโลยีจากเทรนด์การลงทุนก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถช่วยพิจารณาโอกาสการลงทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับผู้เล่น หรือการลงทุนในตลาดได้ชัดเจนขึ้น