กยศ.จัดมหกรรมไกล่เกลี่ย อุ้มลูกหนี้ 2 ล้านคน กุมภาพันธ์นี้

กยศ.

กยศ.เตรียมจัดใหญ่ “มหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทลูกหนี้ค้างชำระ” อุ้ม 2 ล้านราย ผิดนัดชำระกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท พร้อมเดินหน้าแก้กฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มเติม เปิดทาง “ปรับโครงสร้างหนี้-ให้กู้ยืมสั้นลงหนุนรีสกิล อัพสกิล-ให้ทุนการศึกษา-ปลดล็อกผู้ค้ำประกัน” ยันกองทุนมีเงินเพียงพอไม่ต้องของบประมาณจากรัฐ

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ผลักดันให้ปี 2565 นี้ เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือนนั้น ในเดือน ก.พ. 2565 นี้จะมีการจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้ กยศ. ติดต่อกันหลายงวด ทั้งในชั้นฟ้องคดี และชั้นบังคับคดี

ซึ่ง กยศ.ร่วมมือกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ คาดว่าจะช่วยลดปริมาณการฟ้องของปีนี้ลงไปได้ ทั้งนี้ กยศ.มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ผิดนัดชำระหนี้ 2 ล้านคน คิดเป็นเงินต้นประมาณ 83,000 ล้านบาท

“ที่ผ่านมา กยศ.ไม่ได้ฟ้องคดีมาแล้วประมาณ 2 ปี ซึ่งจะมีคดีค้างเดิมที่ไม่ได้ฟ้องอยู่ระดับหนึ่ง หากมีการไกล่เกลี่ยแล้ว ปริมาณการฟ้องก็จะลดลง ซึ่งจะเป็นผลดีกับ กยศ.ที่ไม่ต้องจ่ายค่าทนายความ และผู้กู้ก็จะไม่ถูกฟ้องคดีด้วย”

นอกจากนี้ กยศ.ยังได้เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่ผ่อนไม่ไหว สามารถเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ โดยการขยายเวลาการชำระหนี้ จาก 15 ปี เป็น 20 ปี เพื่อลดจำนวนการผ่อนลง เพื่อให้สามารถผ่อนได้ดีขึ้น ซึ่งในเรื่องจะเป็นการแก้ระเบียบในส่วนของ กยศ. อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กยศ.ได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดถึง 30 มิ.ย. 2565 ทั้งการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับ ลดเงินต้น เป็นต้น

นายชัยณรงค์กล่าวอีกว่า เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับนักเรียน นักศึกษา กยศ.ยังได้แก้กฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเรื่องหลัก ๆ ที่จะเข้ามาดูแล คือ การแก้กฎหมายให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้หลังจากที่มีคำพิพากษาแล้ว จากเดิมหากมีการฟ้องคดีแล้วจะแปลงหนี้ใหม่ไม่ได้ แต่การแก้กฎหมายใหม่นี้ แม้ว่ามีการฟ้องคดีแล้ว กยศ.ยังสามารถปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ที่ถูกฟ้องคดี โดยสามารถแปลงหนี้ใหม่ได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ กยศ.จะมีการปรับเงื่อนไขการให้กู้ยืมสอดคล้องกับทิศทางการศึกษาในอนาคตได้มากขึ้น อย่างเช่น การกู้เพื่อการรีสกิล-อัพสกิล ในหลักสูตรระยะสั้น จากเดิมข้อกำหนดในการกู้ยืมจะต้องเป็นนักเรียนนักศึกษาในสังกัดหน่วยงานที่ กยศ.กำหนดเท่านั้น แต่ในอนาคตหลักสูตรการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไป อาจจะเป็นหลักสูตรการศึกษาระยะสั้น 6-8 เดือน สำหรับผู้ที่เรียนจบแล้ว หากต้องการที่จะมาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ก็จะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ด้วย

ขณะเดียวกันใน พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จะมีการให้ทุนการศึกษาเฉพาะบางกลุ่ม จากเดิมที่กองทุนให้การกู้ยืมได้เพียงเท่านั้น เช่น สาขาวิชาที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ อาทิ นาฏศิลป์ โบราณคดี เป็นต้น ส่วนรูปแบบการให้ทุนนั้นจะต้องให้กฎหมายบังคับใช้ก่อน คณะกรรมการจึงจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ออกมาอีกครั้ง

“กยศ.มองว่าทิศทางการศึกษาในอนาคตจะเปลี่ยนไป จะมีการรีสกิล-อัพสกิลในระยะสั้นมากขึ้น เราจึงได้มีการเตรียมความพร้อมให้การกู้เงินมีระยะสั้นลง ส่วนหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ยังไม่กำหนด เนื่องจากจะต้องรอ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับก่อน ซึ่งกฎหมายใหม่ที่ปรับแก้เพิ่มเติมนี้ เป็นการปรับเปลี่ยนในรายละเอียด ให้ กยศ.ให้ทุนได้ ปรับโครงสร้างหนี้ได้ สามารถให้กู้รีสกิล-อัพสกิลได้ แต่รูปแบบองค์กรที่เป็นหน่วยงานของรัฐยังตามเดิม ไม่ได้เปลี่ยนสภาพอื่น ๆ”

ทั้งนี้ หากกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว คณะกรรมการ กยศ.สามารถมีอำนาจผ่อนผันรูปแบบการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันย้อนหลังได้ด้วย ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร เพื่อบรรเทาภาระของผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กยศ.เปิดกว้างให้สามารถกู้ยืมได้โดยไม่ใช้ผู้ค้ำประกัน และไม่จำกัดโควตาในการกู้ยืม ซึ่งปีการศึกษา 2564 นี้ ให้กู้ยืมไปแล้วมากกว่า 37,000 ล้านบาท ช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษากว่า 60,000 คน

“สมัยก่อน กยศ.มีการกำหนดโควตา จึงทำให้ไม่สามารถกู้ยืมเงินได้ทุกคน แต่ขณะนี้ กยศ.เปิดกว้างให้นักเรียนนักศึกษาสามารถกู้ยืมเงินได้ โดยไม่มีข้อจำกัดโควตา ผู้ที่ขาดแคลนทุนในการศึกษา สามารถขอกู้ยืม กยศ.ได้เลย โดยที่มีการพูดกันว่า กยศ.ไม่มีเงินเหลือ ไม่ใช่อย่างแน่นอน และ กยศ.ก็ไม่ได้ใช้งบประมาณจากรัฐด้วย” ผู้จัดการ กยศ.กล่าว