สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจต้องปรับโครงสร้าง ลดพึ่งท่องเที่ยว-แก้หนี้ครัวเรือน

หนี้ หนี้ครัวเรือน

สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจไทยต้องเร่งปรับโครงสร้าง แนะลดการพึ่งพาภาคเศรษฐกิจใดภาคเศรษฐกิจหนึ่งมากเกินไป ลุยแก้หนี้ครัวเรือน เล็งออกมาตรการช่วยเหลือในระยะถัดไป

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาความล่าช้าในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เนื่องจากความต่อเนื่องทางด้านนโยบายมีการเปลี่ยนค่อนข้างบ่อย

ฉะนั้น นโยบายสำคัญในการปรับโครงสร้างประเทศจึงทำได้ไม่ต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาก็มีการให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างภาคการท่องเที่ยวอยู่ จนมาสู่วิกฤตโควิดเศรษฐกิจจึงได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้สภาพัฒน์ก็ได้เร่งดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 ให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังถือว่าภาพเศรษฐกิจยังอยู่ระดับความมั่นคง แต่หากไม่มีการเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ในระยะยาวจะเผชิญความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความกดดันทางด้านการคลัง และเทรนด์การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัดในอนาคตข้างหน้า

รวมทั้งบาดแผลของการระบาดโควิด จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการขยายตัวอัตราต่ำ ขณะที่ด้านแรงงานก็มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากอนาคตจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเร็วยิ่งยวด ทำให้มีข้อจำกัดมากขึ้น

นอกจากนี้ ดีมานด์ในประเทศ 2-3 ปีข้างหน้า จะมีข้อจำกัดมากขึ้น จากหนี้ครัวเรือนที่จะอยู่ระดับสูงขึ้น และเรื่องเงินเฟ้อจะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ส่วนด้านการแข่งขันในประเทศ เอสเอ็มอีมีความสำคัญ แต่ยังไม่ได้มีเครือข่ายสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัด

ฉะนั้น จะต้องมีการเข้ามาปรับปรุงให้เอสเอ็มอีเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนภาคการเงินจะมีความท้าทายในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่เติบโตค่อยข้างเร็ว ก็ต้องมีการดูแลว่าจะบริหารจัดการอย่างไร

ส่วนด้านของนโยบายการคลัง การจ้างงาาน ยังอยู่ในระดับที่ใช้ได้ หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากผลกระทบของโควิด ปี 2563 เศรษฐกิจหดตัว ปี 2564 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 4% แต่เมื่อเผชิญกับการระบาดของโควิดในช่วงต้นปี 2564 และไตรมาส 3 การเติบโตของเศรษฐกิจก็ชะงัก และด้วยเศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวกว่า 18-19% ต่อจีดีพี แม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดีขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากนัก

อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจขณะนี้เริ่มจะฟื้นตัวมากขึ้น แต่ยังมีปัญหาการจ้างงาน โดยที่ผ่านมาภาครัฐก็ได้ออกมาตรการรักษาการจ้างงานกว่า 3 แสนรายแล้ว ส่วนภาคครัวเรือนยังวิกฤต แม้จะมีมาตรการพักหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ส่วนบุคคล

แต่บาดแผลจากโควิดในระยะถัดไป จะต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือนให้สามารถมีที่อยู่อาศัย และดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจำเป็นจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือในระยะถัดไป


“ทิศทางปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคต การพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องลดความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่พึ่งพาภาคเศรษฐกิจใดภาคเศรษฐกิจหนึ่งมากเกินไป และจะต้องดูแลเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน เนื่องจากรู้ปแบบเศรษฐกิจใน 10 ปีข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้”