อาคม เปิด 7 เรื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดันจีดีพีโต 4%

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลังชี้ต้นปี’65 เศรษฐกิจไทยโดนผลกระทบระยะสั้น “ค่าครองชีพ-ราคาน้ำมันแพง” ชู 7 เรื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดันจีดีพีโต 4%

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา 2022 NEXT ECONOMIC CHAPTER : NEW CHALLENGES AND OPPORTUNITIES เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ ว่า ในปี 2565 ในช่วงต้นปีประสบปัญหาระยะสั้น เนื่องจากค่าครองชีพและราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยค่าครองชีพนั้นเกิดจากเนื้อสุกรที่ขาดตลาด โดยรัฐบาลก็มีการเข้าไปควบคุมดูแลแล้ว แต่ในด้านของพลังงานนั้น เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เพราะสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งมีผลต่อราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ตรึงราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนการผลิต โดยมีเครื่องมือจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามนโยบายตรึงราคาไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร และในฝั่งของกระทรวงการคลังก็มีการลดภาษีน้ำมันดีเซลสรรพสามิตให้ 3 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชนอีกทาง

“ที่ไม่ได้ลดภาษีน้ำมันดีเซลลงทั้งหมด แต่ลดลง 3 บาทต่อลิตรนั้น คลังคำนึงถึงการสูญเสียรายได้ด้วย ซึ่งเป็นข้อจำกัดการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยมีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้อยู่ด้วย ฉะนั้น จึงดูในเรื่องความสมดุลด้วย ซึ่งการพยุงราคาน้ำมันก็มีทั้งในส่วนของกองทุน และภาษีที่เข้าไปช่วย ก็จะสามารถช่วยในเรื่องดังกล่าวได้ และก็มองว่าราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเป็นปัญหาระยะสั้น”

ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ให้เติบโตได้ 4% นั้น จะต้องดำเนินการผ่าน 7 เรื่อง ได้แก่ 1.การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีอีซี ในระยะที่ 2 โดยจะมีการวางโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และมุ่งไปสู่เศรษฐกิจมีมูลค่าสูง ผ่าน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 2.ผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล

3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นการผลักดันลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็มีการดำเนินนโยบายการปรับเปลี่ยนยานยนต์ไฟสู่รถยนต์ไฟฟ้า โดยมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต และศุลกากร เพื่อให้เกิดดีมานด์ในประเทศ และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เพื่อแสวงหาแหล่งพลังงานที่บริสุทธิ์

4.การดูแลรักษาสุขภาพ ที่จะต้องปรับโครงสร้างประชาชน เนื่องจากจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในช่วงที่โควิดแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยมีการดูแลควบคุมได้เป็นอย่างดี หากนำส่วนนี้มาปรับใช้เชื่อมโยงการท่องเที่ยว ดึงดูดต่างชาติเข้ามา รวมทั้งพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์ จะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย

5.ดิจิทัลที่เกี่ยวเนื่องกับภาคสถาบันการเงิน ตลาดทุน และสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ทันกับดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 6.เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจภาคการผลิตด้วย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้สตาร์ตอัพเดินหน้าต่อไปได้ เป็นเรื่องของแหล่งทุนโดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างออกมาตรการภาษี เพื่อให้สตาร์ตอัพในด้านดิจิทัลมีเวนเจอร์แคปปิตอล

และ 7.ความยั่งยืนทางการคลัง โดยช่วงที่สถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ได้ใช้เครื่องมือทางการคลังมาบรรเทาภาระประชาชน แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้แล้วการใช้จ่ายและรายได้ของภาครัฐจะต้องมีความสมดุลกัน ซึ่งเมื่ออยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะต้องมีการปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ