Blue Bond ตราสารหนี้สีฟ้า เทรนด์ลงทุนใหม่รักษ์ทะเล

ESG

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA  จัดงานสัมมนา online เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 65 ในหัวข้อ “Blue Bond ตราสารหนี้สีฟ้า…รักษ์ทะเล” ถือเป็นการสัมมนาเกี่ยวกับตราสารหนี้ประเภทนี้เป็นครั้งแรกในประเทศ

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ให้ภาพรวมของตลาด ESG bond ทั่วโลกและของไทย ซึ่งประกอบด้วย Green bond, Social bond, Sustainability bond และ Sustainability-Linked Bond (SLB) ซึ่งได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า และทำให้ ณ กุมภาพันธ์ 2565  มูลค่าคงค้างของ ESG bond  ในประเทศไทยสูงถึง 3.16 แสนล้านบาท จากผู้ออกทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

“ทั้งนี้ ThaiBMA ได้พัฒนา ESG Bond Index เพื่อให้นักลงทุนมีดัชนีเพื่อใช้ชี้วัดผลการดำเนินงานและเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนของการลงทุน” นางสาวอริยากล่าว

Mr.Jason Mortimer จาก Nomura Asset Management, Japan คาดการณ์ภาพรวมของตลาด ESG bond ทั่วโลก ในปี 2565 จะมีมูลค่าการออกประมาณ 1.0 – 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีสัดส่วนการออก ESG bond ที่หลากหลายขึ้น โดยมีสัดส่วนของการออก Social และ Sustainability bond เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มภาครัฐ ภาคการเงินและสาธารณูปโภคตามลำดับ ทั้งนี้ การลงทุนใน ESG bond ของนักลงทุนจะพิจารณาจาก Greater issuer / industry sector diversity, transparent and consistent impact and corporate disclosure

Ms.Suzanne Johnson จาก United Nations Global Compact ได้อธิบายถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทางทะเล เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทะเลอาจส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก โดยทาง UN Global Compact ได้ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ พัฒนาแนวทางปDbบัติในการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน (Practical Guidance to issue a blue bond) และได้อธิบายถึงกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการออกตราสารหนี้สีฟ้า เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การขนส่งทางทะเล การท่องเที่ยวทางทะเล พลังงานทางเลือกนอกชายฝั่ง หรือในกลุ่มธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่อาจจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้เช่น อุตสาหกรรมการผลิตสี อุตสาหกรรมผลิตพลาสติก ที่อาจมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล เป็นต้น

Dr.Melissa Walsh จาก Asian Development Bank (ADB) ได้แบ่งปันประสบการณ์ในการออกตราสารหนี้สีฟ้าเป็นครั้งแรก ซึ่งได้นำเงินที่ได้ไปใช้ในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการจัดการของเสียไม่ให้ไหลลงสู่ทะเลของหมู่เกาะมัลดีฟ ให้สินเชื่อกับบริษัทเอกชนที่นำเงินไปใช้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และการฟื้นฟูสภาพแม่น้ำแยงซีในสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น และกล่าวถึงการพัฒนากรอบการจัดหาเงินทุนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เช่น การบริหารทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศทางทะเล การควบคุมมลพิษทางทะเล และการพัฒนาปะการังและแนวชายฝั่งอย่างยั่งยืน

Dr.Keith Lee จาก CICERO Shades of Green กล่าวว่า CICERO เป็นผู้ให้บริการ Second party opinions ในการออก Green bond และ Blue bond ให้กับองค์กรต่าง ๆ เช่น ADB, World bank, Mowi seafood และ Grieg seafood โดยขั้นตอนในการประเมินประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ การกำหนดความเข้มของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Shades of Green) คะแนนความโปร่งใสขององค์กร (Governance Score) และความสอดคล้องกับแนวทางหรือมาตรฐานที่นำมาใช้อ้างอิง เช่น ICMA’s Green Bond Principles, ASEAN Green Bond Standards และการจัดทํารายการหมวดหมู่ของโครงการของสหภาพยุโรป (EU taxonomies)

นายโกสินทร์ พึงโสภณ จาก ADB  กล่าวถึงความช่วยเหลือทางเทคนิคของ ADB ที่ให้กับผู้ออก Blue bond และ ESG bond โดยจะให้การสนับสนุนในการระบุโครงการหรือสินทรัพย์ที่เข้าข่ายและสอดคล้องกับแนวทางหรือมาตรฐานที่นำมาใช้อ้างอิง การยืนยันกระบวนการและการควบคุมภายใน การทบทวนกรอบตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน การมีส่วนร่วมในขั้นตอนการตรวจ ประเมินและช่วยจัดหาผู้ตรวจประเมินอิสระจากภายนอก เป็นต้น