Third Party Logistics ทางเลือกที่ตอบโจทย์ SMEs ภาคขนส่ง

รถบรรทุก
ภาพจาก เพจเฟซบุ๊กสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ : Smart SMEs 
ผู้เขียน : ttb analytics

 

ธุรกิจขนส่งถือว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งเพื่อขนส่งสินค้าในภาคการค้า และสนับสนุนภาคบริการในด้านการเดินทางของผู้คนทั่วไป

ทั้งนี้ ภาคการขนส่งไทยนั้นมี SMEs ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการขนส่งทางบก จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมอยู่บนออนไลน์สูงมากขึ้น และครอบคลุมทั่วประเทศ ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ภาคขนส่งสินค้าทวีความสำคัญมากขึ้น

เพื่อตอบโจทย์ที่เปลี่ยนไปตามบริบทของรูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน หรือไฮบริด (การเลือกที่ทำงานจากออฟฟิศ หรือทำงานจากที่บ้านก็ได้) และธุรกิจก็มีช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

ปัจจุบัน SMEs ให้บริการขนส่งสินค้า โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. มีจำนวนกว่า 34,000 ราย ส่วนมากยังมีลักษณะแบบ second party logistics (2PL-ผู้ให้บริการการขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียว) มีตลาดหลักเป็นตลาด B2B (business to business-การทำการตลาดระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ) ซึ่งไม่เน้นบริการด้านคลังสินค้าและจุดกระจายสินค้า เหมือนแบบ 3PL

ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของตลาด B2C (business to customer-การทำการตลาดระหว่างธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการกับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไปโดยตรง) ได้ดีกว่า ด้วยรูปแบบขนส่งที่เป็นแบบ hub to door (การขนส่งจากต้นทางไปถึงผู้รับปลายทาง)

ซึ่งในปีที่ผ่านมา พบว่าตลาด B2C มีขนาดใหญ่ คิดเป็นสัดส่วน 51% ของมูลค่าตลาด e-Commerce ทั้งหมด และมีแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนผ่านมูลค่าการขนส่งไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ที่ประมาณการโต 7% ในปี 2564

และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง 10% ในปี 2565 ที่มูลค่า 70,550 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการขนส่งแบบดั้งเดิมผ่านภาคการขนส่งทางบกที่มีอัตราการเติบโตในปี 2564-2565 (จากฐานที่ปรับลดจากช่วงวิกฤตโควิด-19) ที่ 4.1% และ 7.1% ตามลำดับ

จากโครงสร้างตลาดและรูปแบบบริการที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของผู้คน ทำให้พื้นที่ตลาดขนส่งแบบ B2B มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่การขนส่งแบบ B2C กลับมีทิศทางเพิ่มขึ้น กอปรกับธรรมชาติการขนส่งแบบ B2B มีปริมาณการขนส่งจำนวนมากและมีขนาดใหญ่ ทำให้บริหารจัดการขนส่งง่ายกว่าการขนส่งลักษณะ hub to hub service ทางผู้ประกอบการจึงจัดการขนส่งเองให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ของผู้ประกอบการขนส่ง SMEs ในตลาด B2B จำกัดลงมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics จึงแนะผู้ประกอบการขนส่ง SMEs มุ่งเน้นเจาะตลาดพื้นที่ B2C มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสตามศักยภาพของธุรกิจ ดังนี้

กลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพด้านเงินทุนและทรัพยากร เป็นกลุ่มที่มีความพร้อม สามารถเพิ่มบทบาทเป็นผู้ประกอบการ 3PL โดยเสริมเรื่องการบริหารจัดการขนส่งลักษณะ B2C มากขึ้น เพื่อลดต้นทุน last mile delivery ที่สูง

การเพิ่มพันธมิตรที่เป็นธุรกิจขนส่งท้องถิ่นที่เพื่อช่วยขนส่งในพื้นที่ห่างไกลที่มีความลำบากในการจัดการต้นทุน last mile delivery ตลอดจนสร้าง micro drop point ตามพื้นที่ชุมชมต่าง ๆ เพื่อเป็นคลังสินค้าและจุดกระจายสินค้าขนาดย่อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและขยายขนาดพื้นที่บริการ และการนำเครื่องมือด้านเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยบริหารจัดการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพด้านเงินทุนและทรัพยากรไม่เพียงพอ เนื่องจากการขนส่งประเภท B2C ระบบคลังสินค้าและจุดกระจายสินค้ามีบทบาทที่ชัดเจน เพื่อรวบรวมสินค้าต้นทางจากหลายพื้นที่เข้าสู่พื้นที่ปลายทาง ณ พื้นที่หนึ่ง เพื่อกระจายไปยังพื้นที่ขนส่งสุดท้าย เป็นโอกาสให้ SMEs บริการขนส่งในแต่ละพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และมีทรัพยากรพร้อมในทำเลนั้น ๆ สามารถบริหารจัดการขนส่งให้ถูกต้อง

ลดต้นทุน last mile delivery ได้ดีกว่าผู้ประกอบการนอกพื้นที่ จึงเป็นจุดแข็งของ SMEs ที่มีเงินทุนและทรัพยากรไม่เพียงพอ การเริ่มผันตนเองเข้าเป็นพันธมิตร หรือรับช่วงการขนส่งให้ผู้ประกอบการ 3PL และจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การพัฒนาเป็น 3PL ได้ต่อไป

โดยสรุป รูปแบบการขนส่งทางบกมีทิศทางด้านการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้คนในปัจจุบันทำให้บทบาทภาคขนส่งแบบ B2C ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และด้วยธรรมชาติการขนส่งแบบ B2C บทบาทของคลังสินค้าและจุดกระจายสินค้าเป็นเรื่องที่สำคัญ


ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการขนส่ง SMEs ปัจจุบันต้องเร่งผันตนเองให้เป็นผู้ประกอบการ 3PL หรือเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของผู้ประกอบการขนส่ง 3PL เพื่อให้ตอบสนองทิศทางภาคการขนส่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมในปัจจุบัน