ธปท.ยันไทยไม่เข้าข่าย “Stagflation” เชื่อเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบ 1.7% ปี’66

ตลาด ตรุษจีน เศรษฐกิจไทย

ธปท.เผยรายงานประชุมการเงินฉบับย่อ ยัน ไทยไม่เข้าข่าย Stagflation เหตุเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวปีนี้ 3.2% และ 4.4% ในปี 66 ด้านสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบจำกัด ด้านอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน ก่อนปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1.7% ในต้นปีหน้า หนุนนโยบายการเงินคงดอกเบี้ย 0.50% พร้อมติดตามการส่งผ่านต้นทุน-ค่าจ้างใกล้ชิด หนุนภาคสถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืน

วันที่ 12 เมษายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 25 และ 30 มีนาคม 2565 โดยกรรมการที่เข้าร่วมประชุม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นางสาววชิรา อารมย์ดี นายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน นายสุภัค ศิวะรักษ์

โดยประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายภาวะ stagflation โดยยังมีแนวโน้มขยายตัว ต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 ที่ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่การระบาดของ Omicron และผลจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม โดยถึงแม้ Omicron จะมีอัตราการระบาดค่อนข้างสูง แต่อาการที่ไม่รุนแรง ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

สำหรับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผล กระทบโดยตรงต่อไทยจำกัด ด้านอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่คาดว่าจะทยอยคลี่คลาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะโน้มลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงไม่เข้าข่ายภาวะ stagflation ซึ่งหมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำมากหรือหดตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่รุนแรงหรือขยายวงกว้าง อาจ นำไปสู่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกที่สร้างความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหา global supply disruption ที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติเทียบก่อนการระบาดของ COVID-19 หรือเกิดการแบ่งขั้วการค้าและการลงทุนในโลก (deglobalization) ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบ ห่วงโซ่อุปทานโลก และกระทบต่อการตัดสินใจลดหรือเพิ่มการลงทุนของภาคธุรกิจในระยะยาว

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงมีบริบทที่แตกต่างจาก ประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในวัฎจักรเศรษฐกิจที่แตกต่างกับ สหรัฐฯ โดยเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์จึงยังอยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อนแรง นอกจากจะเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อจากปัจจัยด้านอุปทานแล้ว ยังเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ด้วย ความต้องการบริโภคภาคเอกชนและค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นได้กดดันราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างและต่อเนื่อง ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงต้องเร่งปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปสงค์ด้วย

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย สะท้อนความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางได้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2551 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นถึง 5.5% ตามราคา น้ำมันในตลาดโลกที่ปรับขึ้นสูงสุดถึง 140 ดอลลาร์สรอ. ต่อบาร์เรล แต่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก ซึ่งแตกต่างกับประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาที่เคยเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่สูงมากในอดีต เมื่ออัตราเงินเฟ้อระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางปรับเพิ่มขึ้นตาม

นอกจากนี้ ไทยยังมีกลไกดูแลด้านราคา เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรติดตามพลวัตเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เช่น การกระจายตัวและความต่อเนื่องของการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์แรงกดดันค่าจ้าง และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่สำรวจและคำนวณจากแหล่งต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าแนวโน้มและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังสอดคล้องกับเป้าหมายของนโยบายการเงิน

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 คาดว่าจะอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 4.9% จากราคาพลังงานที่ ปรับสูงขึ้นมากและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 จากฐานที่ต่ำของราคาน้ำมันและมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปี 2564 ซึ่ง ทำให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเทียบปีต่อปีสูงขึ้น ผลดังกล่าวจะทยอยลดลงในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.7% ส่วนหนึ่งจาก ราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้า โภคภัณฑ์โลกจะบรรเทาลง

ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบางขึ้นในบางกลุ่มจากค่าครองชีพและต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย และธุรกิจ SMEs ที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการ บริโภคภาคเอกชนและความสามารถในการชำระหนี้ในระยะต่อไปได้คณะกรรมการฯ เห็นควรให้เร่งผลักดันมาตรการที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อลดทอนความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินและเพื่อไม่ให้ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง

โดยการดำเนินนโยบายการเงิน คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และ 2566 จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้มาตรการคว่ำบาตร รัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2565 จะปรับสูงขึ้นเกินกรอบเป้าหมายก่อนจะทยอย ลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (cost-push inflation) เป็นหลัก ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

นอกจากนี้เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และการบรรเทาภาระค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง

ขณะที่นโยบายการเงิน ช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อช่วย กระจายสภาพคล่องและช่วยลดภาระหนี้โดยเฉพาะในกลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ควบคู่กับการผลักดันให้ สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว เพื่อไม่ให้ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังให้น้ำหนักกับ การสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยคณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างและสร้างความไม่แน่นอนในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมหากจำเป็น

สำหรับในระยะปานกลาง คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประเมินนโยบายการเงินที่เหมาะสมจำเป็นต้อง ชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายด้านเสถียรภาพราคา การขยายตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน ตามแนวโน้มและความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์และประสิทธิผลของ เครื่องมือเชิงนโยบายด้านอื่น ๆ ในภาพรวมควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายใน ปัจจุบันสะท้อนความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังสูงกว่าด้านอื่นๆ อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า เมื่อเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งขึ้นและมีความเสี่ยงลดลง คณะกรรมการฯ จะปรับเปลี่ยนการให้น้ำหนักแต่ละเป้าหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงผลกระทบและประสิทธิผล ของนโยบายในระยะปานกลางเป็นสำคัญ