เงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่า หลังลดประมาณการ GDP ลง

เงินดอลลาร์สหรัฐ
ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/4) ที่ระดับ 33.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/4) ที่ระดับ 33.63/65 บาท ดอลลาร์สหรัฐโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือน เม.ย. เฟดสาขานิวยอร์กรายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตพุ่งขึ้น 36.4 จุด สู่ระดับ 24.6 ในเดือน เม.ย. ดัชนีที่ปรับตัวสูงกว่าระดับ 0 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตในนิวยอร์กอยู่ในภาวะขยายตัว

ทั้งนี้ ตัวเลขของเดือน เม.ย.ดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. ซึ่งดัชนีภาคการผลิตร่วงลง 15 จุด สู่ระดับ -11.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือน มี.ค.

ขณะที่ผลสำรวจของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% ทั้งนี้ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวครอบคลุมทั้งภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค ขณะเดียวกัน การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมในเดือน ก.พ. ได้รับการปรับเป็นเพิ่มขึ้น 0.9% จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 0.5%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Analyst Meeting ถึงแนวโน้เศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ล่าสุดเมื่อปลายเดือน มี.ค. 65 ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อสำหรับปี 65 และ 66 โดยปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 65 และ 66 ลงเหลือ 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ และปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อ ในปี 65 และ 66 เพิ่มขึ้น 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ ซึ่งการปรับ GDP ลดลงจากเดิมนั้นเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นสำคัญ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.58-33.69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (18/4) ที่ระดับ 1.0806/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/4) ที่ระดับ 1.0865/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร กระทรวงแรงงานฝรั่งเศสเปิดเผยในวันนี้ว่า ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้น 2.65 % ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น รายงานระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนสำหรับพนักงานประจำในฝรั่งเศสจะเพิ่มขึ้นจาก 1,603.12 ยูโร (1,732.98 ดอลลาร์สหรัฐ) เป็น 1,645.58 ยูโร

ส่วนค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงจะเพิ่มขึ้นจาก 10.57 ยูโร เป็น 10.85 ยูโร สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (INSEE) เปิดเผยว่า ครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางในฝรั่งเศสเผชิญกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 2.65% ในช่วงเดือน พ.ย. 2564 ถึงเดือน มี.ค. 2565 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0786-1.0822 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0787/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/4) ที่ระดับ 126.46/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/4) ที่ระดับ 125.61/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงในการประชุมรัฐสภาญี่ปุ่นในวันนี้ว่า เงินเยนได้ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเตือนว่าอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายคุโรดะมีขึ้นหลังจากค่าเงินเยนร่วงแตะกรอบบน 126 เยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 126.25-126.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 126.63/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ใบอนุญาตก่อสร้างสหรัฐเดือน มี.ค. (19/4), ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐเดือนมีนาคม (20/4), ดัชนีภาคการผลิตจากฟิลาเดเฟียสหรัฐเดือนมีนาคม (21/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการสหรัฐเดือน มี.ค. (22/4)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.4/0.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.0/+2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ