ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง คาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงสกัดเงินเฟ้อ

ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/4) ที่ระดับ 33.98/34.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/4) ที่ระดับ 33.93/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลักจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อหลังจากที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือน พ.ค. แม้ว่าเมื่อวันศุกร์เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 55.1 ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 57.7 ในเดือน มี.ค.

แต่โดยรวมดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุริจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว ซึ่งได้แรงหนุนจากภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง แม้ว่าภาคบริการชะลอตัวลง นอกจากนี้ ดัชนี PMI ยังได้ปัจจัยหนุนจากการพุ่งขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวลงในเดือน เม.ย. ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นปกติ แม้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐกว้างขึ้น ส่วนความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ของไทยมีไม่มาก แต่ย้ำว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังเน้นสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันสู่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี และอยู่ในทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่องในไตรมาส 2 นี้ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.975-34.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.02/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตาดเช้านี้ (25/4) ที่ระดับ 1.0810/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/4) ที่ระดับ 1.0794/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สกุลเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้านี้ หลังมีรายงานว่า นายเอ็มมานูเอล มาครง ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานธิบดีฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ยูโรยังคงโดนกดดันจากดอลลาร์สหรัฐ ที่ยังมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง รวมไปถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนระหว่างยูเครนกับรัสเซีย

นอกจากนี้หนังสือพิมพ์เดอะไทม์สรายงานโดยอ้างคำพูดของนายวาลดิส ดอมบรอฟสกิน รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ว่า สหภาพยุโรป (EU) เตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ที่เรียกว่า “การคว่ำบาตรอันชาญฉลาด (Smart Sancions)” ต่อรัสเซีย ด้วยการระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสซีย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0707-0.0812 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0740/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/4) ที่ระดับ 128.60/62 เยน/ดอลลาร์สหรับ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/4) ที่ระดับ 128.55/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง จากการที่นักลงทุนแห่เข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์ เพราะนโยบายการเงินที่แตกต่างกันระหว่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งเดินหน้าใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายเพื่อบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในนโยบายทางการเงินที่สวนทางกันระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐ

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 127.89-128.85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 128.10/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน มี.ค.ของสหรัฐ (26/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือน เม.ย.จาก CB (26/4), ประมาณการ GDP สหรัฐไตรมาส 1/2022(28/4) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (28/4), ดัชนีใช้จ่ายส่วนบุคคลพื้นฐานของสหรัฐ (29/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐจาก UOM (29.4), คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. จาก UOM (29/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.60/-0.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.70/+2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ