ธุรกิจแข่งขายหุ้นกู้ดอกเบี้ยสูง ซีพี-ปตท.นำทีมระดมทุนแสนล้าน

หุ้นกู้

ยักษ์ธุรกิจแห่ขายหุ้นกู้ตุนสภาพคล่อง ดอกเบี้ยเสนอขายเริ่มขยับ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเผย 5 เดือนแรก เสนอขายราว 5 แสนล้านบาท 2 ยักษ์ “กลุ่ม ปตท.-เครือ ซี.พี.” สปีดขายหุ้นกู้เดือน เม.ย.-พ.ค. เฉียดแสนล้าน

“กสิกรไทย” ชี้เห็นความต้องการใช้เงินของกลุ่มธุรกิจใหญ่เกือบทุกกลุ่ม เร่งล็อกต้นทุน หวั่นครึ่งปีหลังดอกเบี้ยเร่งตัวแรง จับตาเดือน พ.ค.เข้าคิวขายเพียบ “บี.กริม-ช่อง 3-ทรูมูฟ เอช-ซีพี ออลล์-ปตท.-ไออาร์พีซี” รวมทั้ง “แมกโนเลียฯ” ของลูกสาวเจ้าสัวธนินท์เปิดขายหุ้นกู้น็อนเรตจ่ายดอกเบี้ยสูงสุด 7.10% ต่อปี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% มาอยู่ที่ระดับ 0.75-1% ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ทะลุ 3% ส่งผ่านให้ต้นทุนการออกตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้นตาม ทำให้ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์บริษัทเอกชนขนาดใหญ่และเล็กจำนวนมากแห่ยื่นไฟลิ่งเสนอขาย “หุ้นกู้” ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จำนวนมากเพื่อล็อกต้นทุน ก่อนที่ดอกเบี้ยจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

5 เดือนขายหุ้นกู้ 5 แสนล้าน

นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเสนอขายหุ้นกู้ใหม่ในตลาดตั้งแต่ต้นปีจนถึง 26 เม.ย. 65 โดยรวมอยู่ที่ 390,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน มีบริษัทเสนอขายทั้งหมด 71 บริษัท

ขณะที่ในเดือน พ.ค.จนถึงวันที่ 10 พ.ค. 65 มีการออกเสนอขายหุ้นกู้ใหม่ไปแล้ว 33,880 ล้านบาท และขึ้นทะเบียนเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ใหม่ในช่วงที่เหลือของเดือน พ.ค. 65 อีกมูลค่ากว่า 93,019 ล้านบาท หมายความว่ารวม 5 เดือนจะมีการเสนอขายหุ้นกู้รวมประมาณ 5 แสนล้านบาท จากปี 2564 ที่ผ่านมามียอดออกหุ้นกู้ทั้งสิ้น 1.03 ล้านล้านบาท รวม 147 บริษัท

ทั้งนี้ ปกติในเดือน เม.ย.-พ.ค.ของทุกปีจะเป็นเดือนที่มีปริมาณการออกหุ้นกู้ที่สูงกว่าเดือนอื่น ๆ เพราะบริษัทต่าง ๆ จะเริ่มทยอยออกกันหลังได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น

กราฟฟิกหุ้นกู้

เอกชนแข่งขยับดอกเบี้ย

นางสาวศิรินารถระบุว่า อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ได้ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 จากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (bond yield) ที่ปรับสูงขึ้นเกือบ 1% (ข้อมูล 26 เม.ย. 65) โดยรุ่นอายุ 5 ปี ปรับตัวขึ้นมา 0.9% ขณะที่ส่วนชดเชยความเสี่ยง (credit spread) ของหุ้นกู้ปรับลงเล็กน้อยอยู่ที่ 0.1-0.2% เพราะฉะนั้น โดยรวมผลตอบแทนของหุ้นกู้ควรจะต้องสูงขึ้นแล้ว ประมาณ 0.7-0.8%

อย่างไรก็ตาม การเสนอขายหุ้นกู้ ดอกเบี้ยยังไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากเหมือนบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้น ทำให้เห็นว่าช่วงนี้นักลงทุนอาจชะลอการซื้อหุ้นกู้ออกไป เพราะคาดหวังจะได้ดอกเบี้ยสูงขึ้น จึงทำให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องเสนอดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อจูงใจให้ขายหุ้นกู้ได้

โดยหุ้นกู้รุ่นอายุ 5 ปี ซึ่งเป็นอายุเฉลี่ยที่เสนอขาย สำหรับระดับเรตติ้ง A สิ้นเดือน เม.ย. 65 ดอกเบี้ยจะต้องปรับสูงขึ้นแล้ว 0.7% เนื่องจาก credit spread ลดลง 0.25% ขณะที่บอนด์ยีลด์บวกขึ้นมา 0.95% ซึ่งปัจจุบันผู้ออกหุ้นกู้ก็ค่อย ๆ ขยับขึ้นไป

นางสาวศิรินารถกล่าวว่า สำหรับผู้ออกหุ้นกู้รายเล็ก ๆ ที่ระดับเรตติ้ง BBB+ และเรตติ้ง BBB ก็ค่อนข้างมีแรงกดดันอาจจะต้องขยับดอกเบี้ยขึ้นมากกว่าผู้ออกหุ้นกู้รายใหญ่ ๆ ราว 0.6-0.7% เพื่อจูงใจนักลงทุน

“ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้น แต่ยังไม่ได้สะท้อนผลตอบแทนหุ้นกู้จริง จึงเป็นเหตุผลที่ช่วงนี้นักลงทุนชะลอลงทุนหุ้นกู้ แต่แค่ช่วงสั้น ๆ และขณะนี้ก็เริ่มเห็นผู้ออกหุ้นกู้ค่อย ๆ ทยอยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแล้ว”

ต้นทุนออกหุ้นกู้สูงขึ้น

นางสาวศิรินารถกล่าวต่อว่า หลังจากวันที่ 3-4 พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ทำให้บอนด์ยีลด์จากวันที่ 26 เม.ย.อยู่ที่ 2.31% ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 2.63% ในวันที่ 6 พ.ค. 65 หรือบวกขึ้นกว่า 0.32%

ขณะที่ผลตอบแทนหุ้นกู้ระดับเรตติ้ง A จาก 3.43% ขึ้นไปอยู่ที่ 3.70% หรือบวกขึ้นกว่า 0.27% และผลตอบแทนหุ้นกู้ระดับเรตติ้ง BBB+ จากระดับ 5.02% ขึ้นไปอยู่ที่ 5.41% หรือบวกขึ้นกว่า 0.39% ส่วนผลตอบแทนหุ้นกู้ระดับเรตติ้ง BBB จากระดับ 5.27% ขึ้นไปอยู่ที่ 5.69% หรือบวกขึ้นกว่า 0.42%

สะท้อนว่าผู้ออกหุ้นกู้ต้องยอมปรับตัวตาม เพราะมีผู้ออกอยากจะล็อกต้นทุนดอกเบี้ย จึงต้องยอมปรับขึ้นดอกเบี้ยให้ลูกค้า แต่สำหรับหุ้นกู้เรตติ้ง A ถือว่า credit spread ปรับลดลง เพราะโดยภาวะตลาดที่หุ้นกู้เครดิตดีจะเป็นที่ต้องการของนักลงทุน รวมถึงผลตอบแทนที่บริษัทเอกชนต้องจ่ายสุทธิ นักลงทุนอาจมองว่าอยู่ในระดับสูงแล้ว

หาเงินระยะสั้น-รอตลาดนิ่ง

ขณะที่ปัจจุบันพบว่าธุรกิจรายใหญ่มีการเสนอขายตั๋วแลกเงินระยะสั้นกันมากนั้น นางสาวศิรินารถกล่าวว่า อาจเพราะช่วงนี้ยังมีความไม่แน่นอนของทิศทางดอกเบี้ยในไทย หลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว โดยถ้าตลาดไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่รุนแรง แต่ผู้ออกหุ้นกู้ไปเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูง เท่ากับผู้ออกต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง

แต่ถ้าเสนอดอกเบี้ยต่ำเกินไป แล้วขายไม่หมดก็จะเสียชื่อและความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนได้ เพราะฉะนั้น ผู้ออกจึงเลี่ยงไประดมเงินระยะสั้นผ่านการเสนอขายตั๋วแลกเงินแบบ 3-9 เดือนก่อน เพื่อรอให้ตลาดนิ่งกว่านี้

“ตอนนี้ตลาดอาจจะอยู่ในภาวะ overact หมายความว่านักลงทุนอาจจะคาดหวังยีลด์สูงเกินไป แต่จริง ๆ ดอกเบี้ยเฟดอาจจะไม่ได้ปรับขึ้นมากกว่านั้น จากที่คาดการณ์ว่าจะขึ้นสูง ฉะนั้นถ้าผู้ออกไปเสนออัตราดอกเบี้ยที่ตอบสนองกับภาวะตลาดตอนนี้ อาจทำให้ต้องจ่ายแพงเกินไป” นางสาวศิรินารถกล่าว

ยักษ์ใหญ่ระดมเงินลงทุนนอก

ด้านนายรณฤทธิ์ วิระชะนัง ผู้บริหารงานตลาดทุนธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2565 พบว่าผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็กมีความต้องการระดมทุนมากขึ้น อาจจะมีกิจกรรมหรือโครงการที่ขยายงานต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ที่มาทยอยระดมทุนในปีนี้อีกส่วนหนึ่ง

โดยเห็นความต้องการใช้เงินของกลุ่มธุรกิจใหญ่เกือบทุกกลุ่มอย่างกลุ่ม ปตท. และกลุ่ม ซี.พี. ปีนี้ออกขายหุ้นกู้กันอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มธุรกิจเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี อาจจะออกขายหุ้นกู้น้อยลงไปบ้าง โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมามีเพียงบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บีเจซี) ที่เสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาท

นายรณฤทธิ์กล่าวว่า โดยส่วนใหญ่ธุรกิจไทยจะเตรียมเงินลงทุนเพื่อใช้ขยายงานในต่างประเทศมากกว่าโครงการในประเทศ ซึ่งอาจมีบ้างในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่ยังใช้เงินลงทุนน้อย โดยส่วนใหญ่ที่เห็นจะนำเงินไปลงทุนทั้งในอินเดีย, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, อังกฤษ เป็นต้น

ล่าสุดบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จะไปลงทุนธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับ Binance ซึ่งคาดว่าอาจจะใช้เงินเพิ่มอีกหลายหมื่นล้าน

รายเล็กปรับดอกเบี้ยจูงใจ

นายรณฤทธิ์กล่าวต่อว่า ตอนนี้จะเห็นสัญญาณผลตอบแทนจากพันธบัตรดอลลาร์ที่ปรับตัวขึ้นมาพอสมควร ทำให้ต้นทุนฝั่งบาทแพงตาม

โดยดอกเบี้ยพันธบัตรไทยในเดือน เม.ย. 65 ปรับตัวขึ้นมา 0.5-0.6% หากนับตั้งแต่ต้นปีน่าจะปรับขึ้นมาแล้วเกือบ 1% ส่งผลให้ผู้ออกหุ้นกู้รายเล็ก ๆ จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตามเพื่อจูงใจในการลงทุน เพราะผู้ออกหุ้นกู้รายใหญ่ได้ปรับดอกเบี้ยขึ้นไปแล้ว

“ปัจจุบันกสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดในฐานะผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ 17% ซึ่งผู้ประกอบการที่ระดมทุนออกขายหุ้นกู้กันเยอะปีนี้ เชื่อว่ามาจากพื้นฐานธุรกิจที่ต้องการใช้เงินเป็นส่วนใหญ่” นายรณฤทธิ์กล่าว

หนีดอกเบี้ยวิ่งแรงครึ่งหลัง

นายรณฤทธิ์กล่าวอีกว่า เหตุผลช่วงนี้ที่เห็นภาคธุรกิจเสนอขายหุ้นกู้กันมาก อาจจะกังวลดอกเบี้ยสหรัฐจะปรับตัวขึ้นหลายครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้

ทั้งนี้ แต่ละบริษัทไม่ได้เพิ่งตัดสินใจเข้ามาเร่งระดมทุนในช่วงเดือน พ.ค.นี้ ส่วนใหญ่มีการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วตั้งแต่เดือน ก.พ.-มี.ค. 65 ขณะที่บริษัทที่ยังไม่ได้เตรียมการไว้ หากต้องการระดมทุนขายหุ้นกู้ในช่วงนี้ คาดว่าเร็วสุดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน หรือภายในเดือน ก.ค. 65

ขณะที่เทรนด์บอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวขึ้นเร็ว แม้ว่าจะกดดันให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องปรับดอกเบี้ยหุ้นกู้เพิ่มขึ้นให้มากที่สุด แต่คงทำไม่ได้ทันที เพราะถ้าทำไปแล้วอาจจะเกิดผลเชิงลบได้เหมือนกัน เช่น เกิดความสงสัยว่าหุ้นกู้ขายไม่หมด บริษัทอาจขาดความน่าเชื่อถือได้

ฉะนั้นตอนนี้ที่เห็นผู้ออกหุ้นกู้จะพยายามไม่ปรับดอกเบี้ยเพิ่ม แต่จะให้ดอกเบี้ยมากที่สุดตามกรอบดอกเบี้ยที่กำหนดไว้แล้ว อย่างไรก็ตามก็อาจจะมีบางบริษัท ที่ปรับดอกเบี้ยขึ้นให้เพราะเกรงว่าจะขายไม่หมด แต่ก็เป็นส่วนน้อย

กลุ่ม ปตท.แห่ระดมทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากข้อมูลการยื่นไฟลิ่งออกขายหุ้นกู้ใหม่ ช่วงเดือน พ.ค. 65 จำนวนมาก อย่างเช่น กลุ่ม ปตท. มีการเสนอขายหลายบริษัท ทั้งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เตรียมเสนอขายหุ้นกู้อายุ 7 ปี ให้กับนักลงทุนทั่วไป วันที่ 19-26 พ.ค. 65 วงเงิน 20,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี ถือเป็นการขายหุ้นกู้ลอตที่ 2 ของปีนี้ หลังจากต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ปตท.เพิ่งเสนอขายหุ้นกู้ให้นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ จำนวน 20,000 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ทั้งหมด 6 ชุด รวมมูลค่า 12,000 ล้านบาท วันที่ 17-19 พ.ค. โดยเป็นการเสนอขายประชาชนทั่วไป 7,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.10% ซึ่งมีการแบ่งเสนอขายบนแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงการลงทุนหุ้นกู้มากขึ้น

ส่วนหุ้นกู้ที่เสนอขายนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ มีทั้งอายุ 4 ปี, 7 ปี, 10 ปี และ 12 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.03%, 4.17%, 4.52% และ 4.86% ต่อปี ตามลำดับ

นอกจากนี้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) บริษัทผลิตไฟฟ้าในเครือ ปตท. ก็ยื่นไฟลิ่งเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ 4 รุ่น ในช่วงวันที่ 7-9 มิ.ย. ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลวงเงิน/ดอกเบี้ย

3 บริษัทเครือ ซี.พี.ขายหุ้นกู้

อีกกลุ่มบริษัทที่มีการเร่งระดมเสนอขายหุ้นกู้ในขณะนี้ก็คือกลุ่มบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. ประกอบด้วย บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) เตรียมออกขายหุ้นกู้ 3 ชุดแก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ วันที่ 13, 17-18 พ.ค. 65 วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท ได้แก่ อายุ 2 ปี, 3 ปี และ 4 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ย 3%, 3.40% และ 3.75% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล ก.ล.ต.พบว่า TUC ได้ยื่นไฟลิ่งขอเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มเติมอีก 1ชุด อายุ 1 ปี วงเงิน 2,800 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2.75%

และวันที่ 24-26 พ.ค. 65 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เตรียมออกขายหุ้นกู้ดิจิทัลบนแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง 1 ชุด แก่นักลงทุนทั่วไป วงเงิน 8,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี จ่ายดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าในส่วนของซีพี ออลล์ ได้มีการปรับเปลี่ยนอายุหุ้นกู้ จากที่ยื่นไฟลิ่งเดิมเสนอขายหุ้นกู้อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 3.25% อย่างไรก็ตาม เมื่อ 10 พ.ค. ซีพี ออลล์ ได้มีการปรับแก้ไขข้อมูลอายุหุ้นกู้เป็น 5 ปี โดยยังคงจ่ายอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม

ส่วนบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CPFTH บริษัทย่อยของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้มีการเสนอขายหุ้นกู้ให้กับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ไปเมื่อช่วงวันที่ 28-29 เม.ย.และ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา วงเงินรวม 12,000 ล้านบาท จำนวน 4 รุ่น ได้แก่ หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.80%, อายุ 10 ปี ดอกเบี้ย 4.30% ต่อปี, อายุ 12 ปี ดอกเบี้ย 4.63% และอายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.00% ต่อปี

MQDC จ่ายดอกเบี้ย 7.1%

ขณะที่บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) เจ้าของโครงการ “เดอะ ฟอเรสเทียส์” ที่มีนางทิพพาภรณ์ (เจียรวนนท์) อริยวรารมย์ ลูกสาวของเจ้าสัวธนินท์ เป็นประธานกรรมการบริษัท เตรียมออกขายหุ้นกู้ 2 ชุด แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ วันที่ 20 และ 23-24 พ.ค. 65 วงเงินรวม 5,500 ล้านบาท รุ่นอายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.75% ต่อปี และอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 7.10% ต่อปี โดยเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยเป็นหุ้นกู้มีประกัน ซึ่งค้ำประกันโดยบริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ช่อง 3-บีกริม-LPN มาครบ

นอกจากนี้ยังมีบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่อีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการเสนอขายหุ้นกู้ อาทิ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เตรียมออกขายหุ้นกู้ 5 ชุด แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ วันที่ 6-10 พ.ค. 65 วงเงินมูลค่ารวม 12,200 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยสูงสุด 4.53% ต่อปี (รุ่นอายุ 10 ปี) หุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อ A-

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือช่อง 3 เตรียมออกขายหุ้นกู้ 2 ชุด แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ วันที่ 6-10 พ.ค. 65 วงเงินมูลค่ารวม 2,600 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยสูงสุด 5.10% ต่อปี (รุ่นอายุ 5 ปี) หุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อ BBB

บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เตรียมออกขายหุ้นกู้ 1 ชุด แก่นักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบัน วันที่ 10-12 พ.ค. 65 วงเงินรวม 1,500 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 4.10% ต่อปี รุ่นอายุ 3 ปี หุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อ BBB

บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) บริษัทพลังงานทดแทน เตรียมออกขายหุ้นกู้ 3 ชุด แก่นักลงทุนทั่วไป วันที่ 9-11 พ.ค. 65 วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยสูงสุด 5.10% ต่อปี (รุ่นอายุ 7 ปี) หุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อ BBB+

บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เตรียมออกขายหุ้นกู้ 3 ชุด แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ วันที่ 9-11 พ.ค. 65 วงเงินมูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยสูงสุด 4% ต่อปี (รุ่นอายุ 3 ปี) อันดับความน่าเชื่อของผู้ออกหุ้นกู้ BBB+