รื้อเกณฑ์คุมเข้มประกันภัย สกัดซ้ำรอย “เจอจ่ายจบ” เอาผิด CEO ทำบริษัทเจ๊ง

ประกันโควิด

คปภ.ยกเครื่องเกณฑ์อนุมัติโปรดักต์ประกันเสี่ยง สกัดซ้ำรอย “เจอจ่ายจบ” กางกติกาเพิ่ม “แพทย์-นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” ช่วยวิเคราะห์ “เงินสำรอง-โปรดักต์ใหม่” ก่อนขาย เพื่อจำกัดความเสี่ยง คาดใช้เวลาเฮียริ่งเกณฑ์ 1-2 เดือนก่อนบังคับใช้

เดินหน้ารื้อ พ.ร.บ.ประกันชีวิตและ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย เน้นสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของบริษัท ยาแรงเพิ่ม “โทษอาญา” ผู้บริหารและบอร์ดทำบริษัทประกันเจ๊ง ห้ามบริหารธุรกิจประกันตลอดชีวิต ขณะที่ “สินมั่นคงฯ” ยื่นแผนฟื้นฟูเจรจาผ่อนชำระหนี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ผลกระทบจากการขายผลิตภัณฑ์ประกันโควิด-19 แบบ “เจอจ่ายจบ” ที่มีการยอมรับในภายหลังว่ามีการประเมินความเสี่ยงผิดพลาดต่อกรณี “โรคระบาด” ของบริษัทประกันภัย เพราะเป็นความเสี่ยงภัยใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

กลายเป็นสึนามิอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยที่มียอดเคลมเกือบแสนล้านบาท จนทำให้ประกันหลายราย ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จนต้องปิดกิจการไปแล้ว 4 บริษัท คือ เอเชียประกันภัย, เดอะวัน ประกันภัย, อาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย รวมทั้งบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ

ขณะที่ปัญหายังยืดเยื้อเพราะการยื่นเคลมจากผู้เอาประกันของบริษัทที่ปิดกิจการไปแล้วก็ไม่สิ้นสุด ภาระไปตกที่กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ที่จะต้องไปหาเงินมาเพื่อจัดการชำระหนี้ผู้เอาประกัน ซึ่งกรณีกรมธรรม์ “เจอจ่ายจบ” กลายเป็นบทเรียนครั้งประวัติศาสตร์วงการประกันภัยทั้งในส่วนของ คปภ. ในฐานะผู้กำกับดูแล และบริษัทประกันวินาศภัยที่จะป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย

รื้อเกณฑ์ออกโปรดักต์

นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต่อไปการขอความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโรคระบาด จะมีแนวปฏิบัติที่จะออกมาภายในเดือน พ.ค.นี้

โดยกำหนดให้ คปภ.และบริษัทประกันภัย จะต้องมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในการช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ก่อนยื่นขออนุมัติทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้

“จริง ๆ แล้วกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบ ช่วงแรกที่อนุมัติให้ขายได้ นำสถิติความเสี่ยงผู้ติดเชื้อของประเทศอิตาลีและอังกฤษมาพิจารณาอยู่พอสมควร แต่เนื่องจากโรคโควิดที่เปลี่ยนไปมากและเร็ว ตั้งแต่สายพันธุ์อัลฟ่า เดลต้า และโอมิครอน ทำให้ภาคธุรกิจประกันภัยไม่เข้าใจความเสี่ยงที่ชัดเจน”

สกัดซ้ำรอย “เจอจ่ายจบ”

ทั้งนี้ เพื่อตีกรอบความเสี่ยงผลิตภัณฑ์ที่เป็นความเสี่ยงใหม่ คปภ.ได้กำหนดกรอบให้ต้องเข้าสนามทดลอง (Sandbox) ก่อน เพื่อจำกัดระยะเวลาความคุ้มครอง วงเงินคุ้มครอง จำนวนผู้เล่นในตลาด และจำนวนผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยจะต้องทบทวนความเสี่ยงใหม่เป็นระยะ ๆ

ยกตัวอย่าง หากมีผู้เอาประกันภัยซื้อประกันภัยไปแล้ว 50,000 ราย บริษัทต้องนำข้อมูลและทีมแพทย์มาพิจารณาร่วมกับ คปภ.อย่างละเอียด และต้องส่งแผนบริหารความเสี่ยงให้ คปภ. โดยต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ความเสี่ยงในปัจจุบัน รวมไปถึงแนวทางการประกันภัยต่อด้วย

นอกจากนี้ จะมีมาตรการจูงใจให้บริษัทประกันวินาศภัย มีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาดูแลเงินสำรองและพิจารณาการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับฐานะการเงินของบริษัท โดยเวลามาขอความเห็นชอบแบบกรมธรรม์จะเปิดช่องทางพิเศษให้เฉพาะหรือเข้าเกณฑ์ลักษณะ faster track โดยจะอนุมัติแบบกรมธรรม์ให้ภายในไม่เกิน 30 วัน จากปัจจุบันการอนุมัติแบบกรมธรรม์ใหม่จะใช้เวลาเฉลี่ย 42 วัน

เร่งเคาะเกณฑ์ใหม่ 2 เดือน

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย คปภ. กล่าวว่า ขณะนี้ คปภ.ได้ออกร่างประกาศ เรื่อง การสร้างเครื่องมือในการกำกับดูแลบริษัทประกันภัย เมื่อทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงเกินไปจนอาจกระทบต่อประชาชน และความมั่นคงต่อบริษัท เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงขึ้นอีกเหมือนกรณีความเสียหายจากการประกันภัยโควิด-19

โดยจะนำร่างประกาศฉบับนี้ไปรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน และจะนำเสนอต่อประธานคณะกรรมการ คปภ.ในการประชุมปลายเดือน มิ.ย. 65 เพื่ออนุมัติลงนามให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ส่วนแนวปฏิบัติของกรอบการทำงาน กำหนดให้ต้องมีความละเอียดมากขึ้น มีการติดตาม ประเมินผลการรับประกันอย่างต่อเนื่องทุกส่วนงาน โดยปัจจุบันระเบียบ คปภ.กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการผลิตภัณฑ์

ซึ่งครอบคลุมเจ้าหน้าที่ 1.นักคณิตศาสตร์ประกันภัย 2.ฝ่ายรับประกันภัย 3.ฝ่ายขาย 4.ฝ่ายออกผลิตภัณฑ์ 5.ฝ่ายเคลมสินไหม และ 6.ฝ่ายบริการหลังการขาย ที่สำคัญเมื่อสร้างผลิตภัณฑ์ขายประชาชนแล้วไม่เป็นไปตามแผนที่คาดการณ์ไว้ ทุกฝ่ายต้องรู้และบริษัทต้องรีบแจ้ง คปภ.ทันที

“เจอจ่ายจบ” เปิดจุดอ่อน กม.

นายอาภากรกล่าวว่า ขณะที่ปัจจุบัน คปภ.ยังไม่ได้บังคับบริษัทประกันวินาศภัยต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ฉะนั้นต่อไปจะส่งเสริมให้บริษัทประกันวินาศภัยต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัย แต่ช่วงเริ่มต้นจะเป็นระบบจูงใจก่อนยังไม่ได้บังคับทันที เพราะแต่ละบริษัทมีความพร้อมไม่เท่ากัน

โดยระบบจูงใจที่ว่าคือ คปภ.จะเพิ่มช่องทางการขอความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ขึ้นมาโดยเฉพาะ หากบริษัทที่มีนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ช่วยพิจารณาเงินสำรองและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับฐานะการเงินของบริษัท คปภ.จะอนุมัติผลิตภัณฑ์ให้เร็วขึ้นกว่าช่องทางอื่น ๆ

“ช่วงโควิดเราเห็นจุดบกพร่องเล็ก ๆ แต่สร้างปัญหาใหญ่ในเรื่องกฎหมายผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ต้องแก้ไข ปัจจุบันกำหนดให้ต้องนำเสนอต่อนายทะเบียนเพื่อขอความเห็นชอบกรมธรรม์ก่อนขาย ซึ่งคือแผนที่จะขายแต่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อบริษัทได้รับการอนุมัติแผนไปแล้ว

“เวลาขายจริงอาจจะไม่ได้เป็นตามแผน 100% แต่ละฝ่ายจะรับรู้ร่วมกันเฉพาะการยื่นแผน ฉะนั้นต่อไปทุกส่วนงานต้องรับรู้ผลที่เกิดขึ้นจากการรับประกันด้วยเป็นระยะ ๆ เพราะเวลาเกิดความเสียหายขึ้นจะแก้ไขได้ทันทุกส่วนงาน และส่วนงานไหนที่ผิดไปจากแผนต้องรีบแจ้ง คปภ.ทันที” นายอาภากรกล่าว

สมาคมหวั่นเพิ่มต้นทุนธุรกิจ

ด้านนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างเกณฑ์ใหม่ ในการขอความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัยที่มีความเสี่ยง กำหนดให้ต้องขอความเห็นของแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขก่อนยื่นขออนุมัติ คปภ.นั้น อาจจะเพิ่มต้นทุนแก่ธุรกิจได้

แต่ถ้าโฟกัสเฉพาะความเสี่ยงอุบัติใหม่ (emerging risks) คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยรับประกันมาก่อนและมีข้อมูลสถิติน้อย ตรงนี้ค่อนข้างเห็นด้วย

ส่วนการส่งเสริมให้บริษัทประกันวินาศภัยต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น ปัจจุบันเกือบทุกบริษัทมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในการคำนวณงบการเงินอยู่แล้ว แต่สำหรับการพิจารณาออกผลิตภัณฑ์ยังไม่มี จะมีเฉพาะบริษัทรายใหญ่ เนื่องจากอายุกรมธรรม์สั้น ไม่ได้คุ้มครองยาวเหมือนประกันชีวิต

ฉะนั้นถ้าจะบังคับก็ไม่ควรเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่ เนื่องจากจะเป็นต้นทุนสูงต่อบริษัทรายเล็กที่อาจรับไม่ไหว เพราะเงินเดือนกว่า 4-5 แสนบาทต่อคน แต่ถ้าเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย เงินเดือนแค่ 1-2 แสนบาทเท่านั้น ขณะเดียวกันจำนวนคนที่ประกอบอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในไทยไม่เพียงพอด้วย

“ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นจากผลวิกฤตโควิดในไทย ไม่ใช่ว่าขาดแคลนนักคณิตศาสตร์ประกันภัย แต่ขาดแคลนข้อมูลสถิติที่ครบถ้วนและถูกต้องในการวิเคราะห์ข้อมูล” นายอานนท์กล่าว

เพิ่ม “โทษอาญา” ทำบริษัทเจ๊ง

นอกจากนี้นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี คปภ. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย ซึ่งเป็นการยกร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต และ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ในกลุ่มที่ 2 เกี่ยวกับการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัทนั้น ตอนนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำเสร็จแล้ว โดยอยู่ระหว่างนำเข้าในการกระบวนการพิจารณาของสภา

ทั้งนี้กฎหมายปัจจุบันบัญญัติความผิดของบริษัทประกันภัยในกรณีที่บริษัททำผิดไว้ประมาณ 4-5 มาตรา แต่กฎหมายใหม่จะเพิ่มบัญญัติความผิดรวมเป็น 10 มาตรา เมื่อบริษัทโดนลงโทษและปรากฏพบว่ากรรมการมีส่วนในการสั่งการจะต้องรับผิดทางอาญาด้วย เช่น บริษัทดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วน, บริษัทไม่ลงบันทึกสินไหม เป็นต้น

นอกจากนี้จะตัดสิทธิห้ามเป็นกรรมการบริษัทประกันภัยตลอดชีวิต กรณีดำเนินงานจนเป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยต้องปิดกิจการ โทษฐานขาดคุณสมบัติความรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นโทษร้ายแรงของกลุ่มสถาบันการเงิน โดยนับ 1 ปีย้อนหลังตั้งแต่เป็นกรรมการของบริษัทที่ถูกปิดหรือถูกควบคุม (มีคำสั่งหยุดรับประกันชั่วคราว)

แผนฟื้นฟูสินมั่นคงฯห้ามลดหนี้

นายอดิศรกล่าวต่ออีกว่า ส่วนกรณีของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ที่เป็นอีกบริษัทประกันภัยที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากการขายประกัน “เจอจ่ายจบ” ปัจจุบันได้มีการยื่นขอฟื้นฟูกิจการมาที่ คปภ.แล้ว ตอนนี้ทีมกฎหมายกำลังพิจารณาตามกรอบกฎหมายฟื้นฟูกำหนด และระเบียบ คปภ.ที่เกี่ยวข้อง

โดยเบื้องต้นได้กำหนดว่าถ้าจะเสนอแผนฟื้นฟู จะต้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันเป็นหลัก โดยจะต้องไปพูดคุยในที่ประชุมเจ้าหนี้อีกครั้ง

ทั้งนี้เป้าประสงค์ที่ คปภ.ได้บอกบริษัทสินมั่นคงประกันภัยคือ พยายามจะให้คงจำนวนเงินเอาประกันภัยไว้ตามหน้าตารางกรมธรรม์ และไม่สนับสนุนให้ตัดลดหนี้ แต่อาจจะขอเวลาผ่อนชำระ โดยอาจไม่ต้องชำระดอกเบี้ยของภาระหนี้ เป็นต้น หรือขอใช้วิธีการแปลงหนี้เป็นทุน จ่ายหนี้บางส่วน อีกส่วนจ่ายเป็นหุ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า คปภ.จะอนุมัติเข้าสู่การฟื้นฟู แต่หากศาลพิจารณาว่าไม่เหมาะสม ก็อาจจะไม่รับไต่สวน แต่ถ้าศาลอนุมัติรับไต่สวนก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ว่าจะรับหรือไม่รับแผนฟื้นฟูดังกล่าว ส่วนความคืบหน้าการจัดหาผู้ร่วมทุนใหม่ ขณะนี้ยังไม่มีการส่งข้อมูลมาให้ทาง คปภ.

“ถ้าบริษัทสินมั่นคงประกันภัยตกลงกับเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยได้ คปภ.ก็คงปล่อย เพราะเป็นการตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายที่พอใจกัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ยาก คือเมื่อเริ่มตกลงกับคนกลุ่มหนึ่ง อาจจะเกิดความไม่พอใจจากเจ้าหนี้อีกกลุ่มหนึ่งได้ ซึ่งอาจกังวลว่าจะเกิดการประท้วงหนัก จึงอยากหาทางคุยเจ้าหนี้ทีเดียวว่าจะแก้ปัญหาหนี้ให้ผู้เอาประกันยอมรับหลักการที่นำเสนอได้”

เคลมโควิดยังไม่จบ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ในฐานะรองประธานกรรมการ กองทุนประกันวินาศภัย กล่าวว่า ความคืบหน้ามูลหนี้ของ 4 บริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจากผลกระทบเคลมประกันภัยโควิด-19 นั้น ตอนนี้ยังไม่ทราบมูลหนี้ที่ชัดเจนที่กองทุนประกันวินาศภัยต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ เพราะขณะนี้เจ้าหนี้ (ผู้เอาประกัน) ของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยและบริษัทไทยประกันภัย ยังคงทยอยยื่นเอกสารคำทวงหนี้เข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งกองทุนยังไม่ได้ปิดรับ ขณะเดียวกันหลังจากนี้ต้องนำเอกสารมาพิจารณาด้วยว่ามีความซ้ำซ้อนหรือไม่