ดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนกังวลปัญหาเงินเฟ้ออาจกระทบเศรษฐกิจ

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนกังวลปัญหาเงินเฟ้ออาจกระทบเศรษฐกิจ ขณะที่เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 34.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2565 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นสัปดาห์ปรับตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีหลังจากที่ขึ้นไปเหนือระดับ 105 เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีการปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟียเปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์พบว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นไปในทิศทางที่อ่อนแอลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ขณะที่คำกล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนา Future of Everything Festival ซึ่งจัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลในวันอังคาร (17/5) ระบุว่า จากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด กล่าวสุนทรพจน์ที่ค่อนข้างแข็งกร้าวต่อนโยบายการเงินว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามความจำเป็นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ซึ่งอาจคุกคามรากฐานของเศรษฐกิจ และเฟดไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเท่าที่จำเป็นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ขณะที่ทาง FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม 2565 หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

ทั้งนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายในปลายสัปดาห์ (20/5) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 21,000 ราย สู่ระดับ 218,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ราย

ทางด้านสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองลดลง 2.4% สู่ระดับ 5.61 ล้านยูนิตในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาบ้านและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันและโดนเทขายดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินสหรัฐ และกระจายการถือครองสกุลเงินอื่น เช่น เยนและฟรังก์สวิส

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค โดยเปิดตลาดวันอังคาร (17/5) ที่ระดับ 34.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/5) ที่ระดับ 34.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้งสัปดาห์ ค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (19/5) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation อย่างแน่นอน เพราะการที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation ต้องประกอบด้วย อัตราเงินเฟ้อสูง ควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ในปัจจุบันจะเห็นว่าแม้อัตราเงินฟ้อของไทยจะปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่ากรอบเป้าหมาย แต่เศรษฐกิจปีนี้ไม่ได้ชะลอตัวแต่อย่างใด และเชื่อว่ามีโอกาสน้อยมากที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตต่ำกว่าปีก่อน

โดย ธปท.คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.2% ซึ่งเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตัวจากปีก่อนที่เติบโตได้ 1.6% ดังนั้นภาวะ Stagflation ก็จะไม่เกิดแน่นอน แม้อัตราเงินเฟ้อในช่วงนี้จะเพิ่มสูงถึง 4.9% แต่คาดว่าจะทยอยลดลงและเข้าสู่กรอบนโยบายการเงินในปีหน้า

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์นี้ ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีในไตรมาส 1/2565 ขยายตัว 2.2% ขยายตัวต่อเนื่องจาก 1.8% ในไตรมาส 4/2564 โดยภาคเกษตรเร่งตัวขึ้น ส่วนนอกภาคเกษตรขยายตัวจากภาคบริการที่ได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการต่าง ๆ ของสหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับด้านการใช้จ่ายนั้นพบว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัว ขณะที่การส่งออกสินค้าชะลอตัว และการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลขยายตัว 3.9% และ 4.6% ตามลำดับ การลงทุนรวมขยายตัว 0.8% การส่งออกขยายตัว 12% และการนำเข้าขยายตัว 6.7% ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.53% ต่ำกว่าระดับ 1.6% ในไตรมาสก่อนหน้า

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 4.7% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 1.4% สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์ (5.3 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็น 1.2% ของจีดีพี ส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 2.42 แสนล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 มีมูลค่าทั้งสิ้น 9,951,962 ล้านบาท คิดเป็น 60.6% ของจีดีพี

ขณะที่ในวันศุกร์ (20/5) ศบค.ผ่อนคลายมาตรการวันนี้ส่งผลคาดหวังท่องเที่ยวครึ่งปีหลังฟื้นหนุนเศรษฐกิจโตส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 34.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.30-34.695 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (20/5) ที่ระดับ 34.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันอังคาร (17/5) ที่ระดับ 1.0435/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/5) ที่ระดับ 1.0380/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำนักงานสถิติของอียูเปิดเผยว่า เงินเฟ้อของยูโรโซนอยู่ที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 7.4% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นผลจากราคาเชื้อเพลิงและอาหารที่พุ่งขึ้น

โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากที่ยุติโครงการซื้อพันธบัตรในไตรมาส 3 และราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเมษายนของเยอรมนีพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสงครามในยูเครนทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์รายหนึ่งระบุว่า ECB มีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 1% ภายในการประชุมเดือนธันวาคมปีนี้ ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0427-1.0607 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/5) ที่ระดับ 1.0564/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันอังคาร (17/5) ที่ระดับ 129.20/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/5) ที่ระดับ 129.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อย และทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นจนถึงปลายสัปดาห์จากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงความต้องการเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากตลาดยังคงกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ในวันอังคาร (17/5) รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่า ญี่ปุ่นจะเริ่มทำการทดสอบการท่องเที่ยวด้วยการเปิดรับกรุ๊ปทัวร์ในจำนวนจำกัดในเดือนพฤษภาคมนี้ ภายใต้แคมเปญ “Test Tourism” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลก่อนที่จะตัดสินใจเปิดประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคที่เปิดเผยไปแล้วนั้น กระทรวงการคลังญี่ปุ่นระบุว่า ยอดส่งออกในเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 12.5% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 หลังจากพุ่งขึ้น 14.7% ในเดือน มี.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 13.8% โดยยอดส่งออกได้แรงหนุนจากอุปสงค์เหล็กและแร่เชื้อเพลิงที่แข็งแกร่งจากต่างประเทศ ส่วนยอดนำเข้าเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 28.2% เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 35.0% เนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่าทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกพุ่งสูงขึ้น และส่งผลให้ยอดนำเข้าสูงขึ้น

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังขาดดุลการค้า 8.392 แสนล้านเยน (6.56 พันล้านดอลลาร์) เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ว่าจะขาดดุล 1.150 ล้านล้านเยน โดยญี่ปุ่นยังคงขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 127.0-129.77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/5) ที่ระดับ 127.96/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ