ศาลล้มละลาย แจ้งเจ้าหนี้ “สินมั่นคง” ข้อเท็จจริงยื่นคัดค้านฟื้นฟูกิจการ

สินมั่นคง

ศาลล้มละลายกลางชี้แจงถึงหนี้ “สินมั่นคง” 4.6 แสนราย  ถึงข้อเท็จจริงการยื่นคัดค้านฟื้นฟูกิจการ   หลังผู้เอาประกันแห่ยื่นคัดค้านฟื้นฟูกิจการที่ศาล  ด้วยความเข้าใจผิดว่าหากไม่ยื่นคัดค้านจะเสียสิทธิการได้รับชำระหนี้  หวั่น

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ศาลล้มละลายกลาง เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ คดีหมายเลขดำที่ ฟฟ9/2565 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)ลูกหนี้/ผู้ร้องขอ ตามที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ผู้ร้องขอ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 โดยกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 นั้น

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 มีผู้เอาประกันโควิด (เจ้าหนี้) ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำคัดค้านการขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ประมาณ 200 ราย จากจำนวนเจ้าหนี้ประมาณ 460,000 รายเศษ ซึ่งคาดว่าน่าจะทยอยมายื่นคำคัดค้านที่ศาลล้มละลายกลางทุกวัน โดยบรรดาเจ้าหนี้อาจเข้าใจว่า เมื่อยื่นคำคัดค้านแล้วจะทำให้ได้รับชำระหนี้เร็วขึ้น หรือหากไม่ยื่นคำคัดค้านจะทำให้เสียสิทธิในการได้รับชำระหนี้

ศาลล้มละลายกลางขอชี้แจงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการแจ้งให้บรรดาเจ้าหนี้ทราบตามกฎหมายว่าศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งรับคำร้องขอและนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. หากเจ้าหนี้ประสงค์จะคัดค้านก็มีสิทธิยื่นคำคัดค้านได้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ การคัดค้านหรือไม่คัดค้านคำร้องขอ มิได้ทำให้บรรดาเจ้าหนี้เสียสิทธิในการได้รับชำระหนี้แต่อย่างใด โดยศาลต้องไต่สวนถึงเหตุอันสมควรและช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ผู้ร้องขอก่อน หากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำเผนฟื้นฟูกิจการ และประกาศให้บรรดาเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 1 เดือน

นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ดังนั้นเจ้าหนี้ที่ไม่ประสงค์จะคัดค้านการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ก็ไม่จำต้องมายื่นคำคัดค้านต่อศาสในขณะนี้ และท่านจะไม่เสียสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ โดยจะมีขั้นตอนที่ให้เจ้าหนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วต่อไป

อนึ่ง การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ไม่ว่ากรณีที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (ล้มละลาย) หรือศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในกำหนด ในกรณีมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งหมดเท่าที่มีมาแบ่งเฉลี่ยชำระให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามอัตราส่วน ส่วนกรณีฟื้นฟูกิจการ ผู้ทำแผนจะกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละประเภท มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามอัตราส่วน ตามระยะเวลาและวิธีการที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป