เก็บภาษีขายหุ้น กระทบใครบ้าง เช็กแนวทางจัดเก็บ-ระยะเวลาเหมาะสม

ภาษีขายหุ้น คืออะไร เงื่อนไข

การเก็บภาษีขายหุ้นกำลังถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อกระทรวงการคลังจ่อเสนอ ครม. ให้พิจารณาอนุมัติเร็ว ๆ การเก็บภาษีดังกล่าวกระทบใครบ้าง มีแนวทางการจัดเก็บอย่างไร และระยะเวลาเหมาะสมคือเมื่อใด เช็กที่นี่ 

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 ตามที่มีรายงานว่า กระทรวงการคลังจะเดินหน้าเก็บภาษีการขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาอนุมัติในเร็ว ๆ นี้ เพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้ในลำดับถัดไป

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปข้อมูลและความคืบหน้าเกี่ยวกับการเก็บภาษีการขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax สำหรับนักลงทุนและนักเล่นหุ้นที่กำลังติดตามประเด็นนี้

ภาษีการขายหุ้นคืออะไร ?

Financial Transaction Tax เป็นการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าที่ขาย แต่ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534

ก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้ออกมาระบุแนวทางการจัดเก็บว่า จะมีการจัดเก็บภาษีขายในอัตรา 0.1% ตั้งแต่บาทแรกที่มีการขาย โดยโบรกเกอร์จะต้องนำส่งภาษีการขายดังกล่าวมาให้กรมสรรพากรในทุกเดือน

“หลักการเก็บจะยึดตามเดิม ถ้าเราแยกจะยุ่งยากเรื่องการบริหาร เช่น ถ้าเราบอกว่า ถ้ายอดขายหุ้น 1 ล้านบาท เราจะเก็บในอัตราต่ำกว่าคนที่มียอดขายสูงกว่า 1 ล้าน ก็ยุ่งยาก ซึ่งในกฎหมายที่ออกมาจะเก็บแบบเท่าเทียมกัน คือ เก็บจากภาษีการขาย ไม่แยกว่า จะเป็นรายเล็กหรือรายน้อย ซึ่งง่ายสุด คือ เก็บเท่ากันหมด ประเทศต่าง ๆ ก็ไม่แยกแยะการขาย” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ ยังได้มีการประเมินว่า รัฐบาลจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวหลักหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งน่าจะเริ่มมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ในปีงบ 2565 นี้

เริ่มเมื่อไหร่ ?

นายอาคม ให้ข้อมูลด้วยว่า เรื่องการจัดเก็บภาษี เป็นเรื่องที่ประกาศล่วงหน้าไม่ได้ แต่ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รับรู้กันมา เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เตรียมตัวด้วย ซึ่งความพร้อมอยู่ที่ว่า เราต้องเสนอเป็นพระราชกฤษฎีกาต่อ ครม. และเมื่อเสนอแล้วพระราชกฤษฎีกาจะมีผลเมื่อไหร่ ซึ่งเราจะมีระยะเวลา Grace period เพื่อให้เวลาโบรกเกอร์ต่าง ๆ ในการทำระบบข้อมูล และการนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากร ซึ่งจริง ๆ แล้วระบบไม่ยาก แต่ให้เวลาเขาหน่อย

นอกจากนี้ จะต้องดูระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่เสนอเก็บภาษีในจังหวะที่ตลาดหุ้นตกทุกวัน ก็ไม่ได้ สำหรับระยะเวลา Grace period นั้น ขณะนี้กำหนดว่าจะให้เวลาไม่เกิน 90 วัน

สภาธุรกิจตลาดทุนร่อนหนังสือค้าน

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565  ที่ประชุมคณะกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ เฟทโก้ (FETCO) มีมติอนุมัติให้จัดทำหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องความเห็นต่อการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย เพื่อแสดงเจตนารมย์ของภาคธุรกิจ

โดยเสนอความคิดเห็น 5 ประเด็นต่อแนวทางที่ภาครัฐจะเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย โดยจะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ของมูลค่าขายตั้งแต่บาทแรก มีรายละเอียดดังนี้

1.เฟทโก้ไม่เห็นด้วย ที่จะมีการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย รวมถึงด้อยค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคน ที่ลงทุนทางตรงในตลาดหุ้นไทย และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่างๆ รวมถึงกระทบไปถึงนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าการเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องออมเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ ซึ่งเห็นผลของการกระทบในวงกว้างที่ชัดเจน

“สภาพคล่องเป็นหัวใจสำคัญของตลาดทุน ถ้ามีมาตรการที่เข้ามากระทบสภาพคล่องอย่างรุนแรง ถือว่าน่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะตลาดทุนที่ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอหรือลดลงไปจะทำให้ความน่าสนใจลดลง และจะกระทบเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะมูลค่าหุ้นต่างๆ มีโอกาสลดลงได้” นายไพบูลย์ กล่าว

2.ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับ Market Markers ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะ Derivative Wartant และ Single Stock Futures ซึ่งอ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยใน
เวทีโลก ทำให้พัฒนาการต่อตลาดหุ้นไทยอาจถอยหลังไปได้

3.ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากจัดเก็บภาษี จะนิยมให้การยกเว้นแก่กลุ่ม Market Markers เช่น ฮ่องกง อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และกลุ่มกองทุนรวม กองทุนบำนาญ กองทุนสวัสดิการ เช่น อิตาลี สวิตเซอร์แลด์ เบลเยี่ยม ไอซ์แลนด์ เพื่อลดผลกระทบต่อการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้าง และต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ

ทั้งนี้ ในกรณีของประเทศไทย นักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มทำธุรกรรมขายรวมกัน 12-17% ของมูลค่าขายทั้งหมดในตลาด (สถาบันในประเทศ 7% และ Market Markers 5-10%) ดังนั้นการให้ยกเว้นภาษีต่อไปถือว่าคุ้มค่าหากเปรียบเทียบเม็ดเงินภาษีดังกล่าวกับผลประโยชน์ในวงกว้างต่อประชาชนและการพัฒนาศักยภาพของตลาดหุ้นไทยในระยะยาว

4.อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2534 เมื่ออัตราค่าคอมมิชชั่นอยู่ที่ระดับ 0.5% อย่างไรก็ดีจากสภาวะการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น อัตราค่าคอมมิชชั่นจึงลดลงเหลือเพียง 0.08% ในปัจจุบัน ดังนั้นมูลค่าภาษีที่จัดเก็บตามอัตราภาษีที่ 0.1% และเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% เป็น 0.11% จะสูงถึง 0.7 เท่าของมูลค่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จัดเก็บในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูงจากสถานการณ์โควิดและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลก อัตราเลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเหศ มีความผับผวนมาก การจัดเก็บกาษีดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำความผันผวนดังกล่าว

5.ต้นทุนการระดมทุน (cost of capital) ที่สูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลง จะทำให้บริษัทจดทะเบียนชะลอหรือลดการลงทุนและขยายธุรกิจ ทำให้มีกำไรลดลง ท้ายที่สุด productivity และ GDP ของประเทศ รวมตลอดถึงภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจ่ายได้ให้ภาครัฐจะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ผลเสียจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้วในปัจจุบัน

“เรายังยืนยันที่จะไม่สนับสนุนการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย โดยหลังจากได้ส่งหนังสือผ่านทางอีเมล์ไปถึงกระทรวงการคลังแล้ว คงต้องรอทางคลังติดต่อกลับมาก่อน โดยที่ผ่านมาเราได้เข้าไปพููดคุยหารือมาแล้ว 2-3 รอบ อย่างไรก็ดีหากคลังยืนยันจะจัดเก็บภาษีการขายหุ้น เราเป็นผู้ปฏิบัติก็ต้องทำตามกฏ แต่ก็หวังว่าคลังจะทบทวน” นายไพบูลย์ กล่าว