SCB ชู 5 กลยุทธ์จัดพอร์ตสู้เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น

หุ้นไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้โตประมาณ 3.4% ด้านดัชนีหุ้นไทยมองเป้าสิ้นปีที่ 1,650 จุด จับตา Q3 ปัจจัยลบยังรุมเร้า ชู 5 กลยุทธ์จัดพอร์ตลงทุนรับมือภาวะเงินเฟ้อสูง-ดอกเบี้ยขาขึ้น

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ภาพรวมคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ประมาณ 3.4% จากอานิสงส์การเปิดประเทศแม้ว่าการบริโภคในประเทศอาจจะมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องและอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นโดยในกรณีที่แย่สุด (worse case) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2.9%

ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่ายังไม่สดใส โดยได้รับผลกระทบจากบรรยากาศ (sentiment) ด้านลบของตลาดหุ้นสหรัฐและจีนอย่างไรก็ตามประเมินว่าตลาดหุ้นไทยแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ เนื่องจากแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนในภาพรวมยังมีการเติบโตได้จากอานิสงส์ของการเปิดประเทศ ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยมีสัดส่วนในตลาดไม่มาก

สําหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) ในไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิรวม 2.84 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 11% YOY กลุ่มที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ 28% กลุ่มธนาคาร 14% กลุ่มพลังงานและกลุ่มโรคมี 15% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 14% กลุ่มการแพทย์ 331% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 46% ส่วนกลุ่มที่กำไรสุทธิลดลง ได้แก่ กลุ่มเกษตร -54% กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ -4% กลุ่มประกัน -78% และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ 4%

ทั้งนี้ SCBS มองว่าปัจจัยพื้นฐานของ SET ในปี 2565-2566 ยังคงดีโดยคาดว่า Earnings Per Share EPS เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ต่อปีกลุ่มที่ EPS ฟื้นตัวไปที่ระดับก่อนเกิดโควิด ได้แก่ กลุ่มธนาคารกลุ่มพลังงานกลุ่มปิโตรเคมีกลุ่มพาณิชย์และกลุ่มท่องเที่ยวเป็นต้น ซึ่งประเมินกรอบ SET Index ในระดับคงเดิมที่ 1,550 -1,750 จุดและประเมินเป้าหมายของ SET Index ปีนี้อยู่ที่ 1,650 จุดโดยมองว่า SET Index จะไม่ลดลงแรงเหมือนช่วงโควิด เนื่องจากผลกระทบต่อกำไรไม่แรงเท่าช่วงที่ผ่านมาส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในครึ่งหลังของปี 2565 ได้แก่

1) ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบโดยจะกระทบกลุ่มขนส่งและวัสดุก่อสร้าง

2) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินอาจจะกระทบกลุ่มท่องเที่ยวอาหารพาณิชย์และโรงไฟฟ้า

“จับตาไตรมาส 3/2565 จะเป็นไตรมาสที่แย่ที่สุดในปีนี้ เนื่องจากหลายปัจจัยจะมารวมกันทั้งความกังวลเรื่องนโยบายดึงตัวทางการเงิน และการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอนำไปสู่เศรษฐกิจเสี่ยงถดถอย”

อย่างไรก็ตามคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3/2555 เนื่องจากผ่านช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงจีนเริ่มคุมสถานการณ์โควิตในประเทศได้แนวโน้มผลประกอบการ บริษัท จดทะเบียนชัดเจนตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศและเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวส่วนความเสี่ยงอื่น ๆ ที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเคลื่อนย้ายของเงินทุนต่างชาติการเปิดประเทศของจีนที่ล่าช้าและสงครามรัสเซียยูเครน

ด้านนายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสายงาน Investment office and product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารฝ่าย CIO office ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญปัญหาอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงชะลอตัวซึ่งอาจทำให้หลายประเทศมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2565-2567

สำหรับกลยุทธ์การจัดพอร์ตเพื่อชนะเงินเฟ้อสูงดอกเบี้ยขาขึ้นแบบเร็วและแรงรวมถึงตลาดการเงินโลกที่ยังผันผวนโดยแนะนำ 5 กลยุทธ์ดังนี้

1) สร้างกระแสเงินด้วยการทยอยสะสมตราสารหนี้คุณภาพสูง (Build income streams) ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อต่อราคาพลังงานและอาหารจะยังทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอย่างไรก็ตามเมื่อการขยับขึ้นของเงินเฟ้อเริ่มชะลอลงการทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูง (Investment Grade) จะเป็นการสร้างกระแสรายได้ให้กับพอร์ตโฟลิโอได้

2) กระจายความเสี่ยงสู่ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องจับจังหวะการลงทุนก็กำไรได้ (Non-directional products) การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการเคลื่อนไหวตามตลาดในช่วงที่มีความไม่แน่นอนจากสงครามและความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยด้วยการใช้ Market timing อาจเกิดภาวะแรงฉุดจากความผันผวน (Volatility drag) ในพอร์ตโฟลิโอได้เพื่อจัดการความเสี่ยงด้านนี้การสินทรัพย์ประเภท Private assets จะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอและลดความผันผวนของพอร์ตได้โดยนักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงด้วยการเลือกลงทุนใน Private equity, Private credit และ Private real estate เป็นต้น

3) ป้องกันความเสี่ยงด้านต่ำ (Limit downside risk) ด้วยหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง (Structure notes) สำหรับนักลงทุนที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงด้านต่ำในการลงทุนการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยตอบโจทย์ได้ในประเด็นนี้โดยทาง SCB CIO มีทางเลือกหลากหลายในด้านผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็น KIKO และ Equity-Linked Note

4) มองข้ามความผันผวนระยะสั้นด้วยการลงทุนแบบ Thematic แม้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่ในระยะปานกลางปละระยะยาว ยังมีหลายภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างยั่งยืนได้ ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมในกลุ่ม ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยเฉพาะธีม Renewable Energy & Decarbonization

5) การนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Enhancing return) เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การลงทุนที่ SCB CIO พร้อมนำเสนอเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนโดยการนำสินทรัพย์การลงทุนไม่ว่าจะเป็นหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนที่มีอยู่แล้วมาเป็นหลักประกันในการทํา Lombard loan เพื่อนำไปลงทุนต่อยอดเสริมผลตอบแทนในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุนรายสินทรัพย์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ด้าน SCB CIO มีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) สำหรับการลงทุนในหุ้นทั้งกลุ่มตลาดหุ้น กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Develop markets) มีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) ต่อตลาดหุ้นสหรัฐผลประกอบการยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ได้รับผลกระทบหลักจากเรื่องของเงินเฟ้อและการเร่งตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรคงมุมมองหุ้นยุโรปเป็นเชิงลบเล็กน้อย (Slightly negative) จากผลกระทบยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครนและการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปสำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) คงมุมมองเชิงบวกเล็กน้อย (Slightly positive) ต่อเศรษฐกิจ

ด้านตลาดหุ้นจีนหลังมีการทยอยเปิดเมืองและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีความเสี่ยงในด้านเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยต่ำกว่ากลุ่มประเทศหุ้นไทยและเวียดนามเรามีมุมมอง เชิงบวกเล็กน้อย (Slightly positive) เนื่องจากแม้จะได้อานิสงค์จากการเปิดเมืองเปิดประเทศ แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น

ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยและเวียดนามรวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นและเป็นกลาง (Neutral) เนื่องจากผลกระทบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นนอกจากนี้การจัดการด้านความเสี่ยงของเงินเฟ้อเราปรับสินค้าโภคภัณฑ์เป็น บวก (Positive) โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารซึ่งอุปทานมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่องจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนและการห้ามส่งออกอาหารในหลายประเทศในขณะที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง แต่การปรับตัวขึ้นต่อน่าจะถูกกระทบจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย